top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

8 วิธีลดคำพูดเสียดแทงจิตใจกับคนใกล้ตัว

ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายท่านคงได้กลับบ้านไปเติมพลังชีวิตจากความอบอุ่นในบ้าน แต่เชื่อหรือไม่คะ ยังมีอีกหลายท่านที่คาดหวังว่าจะได้กลับบ้านแบบ Home sweet home แต่กลับต้องไปพบเจอกับคำพูดรุนแรงทำร้ายจิตใจทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจจากคนที่รัก ทำให้บรรยากาศในบ้านร้อนยิ่งกว่ากว่าอากาศในเดือนเมษายนเสียอีก


และหากคิดว่าการที่นาน ๆ กลับบ้านทียังต้องเจอคำพูดเฉือดเฉือนความรู้สึกเป็นเรื่องเลวร้ายแล้ว ขอให้ลองจินตนาการถึงจิตใจของเด็กและวัยรุ่นบางคน ที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมการใช้คำพูดรุนแรงของพ่อ แม่ ทุกวัน ๆ โดยไม่สามารถหลบเลี่ยงออกมาได้ บางครั้งอาจต้องทนแบกรับคำดูถูก คำส่อเสียด คำด่าที่ระคายหู กระทบจิตใจเหล่านั้นไปจนกว่าพวกเขาจะเติบโตพอที่จะออกมาดูแลตัวเองได้ แล้วการที่ต้องทนกับการถูกทำร้ายโดยคำพูดเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โดยที่ฝ่ายหนึ่งไม่หยุดทำร้าย และอีกฝ่ายทั้งปกป้องตัวเองและตอบโต้กลับก็ไม่ได้ นำมาสู่ปัญหาครอบครัวมากมายหลายอย่าง เช่น เด็กติดเกม เด็กก้าวร้าว วัยรุ่นต่อต้านสังคม โรคซึมเศร้าในเด็ก และวัยรุ่น ไปจนถึงปัญหายาเสพติด และอาชญากรรมรุนแรง ดังนั้นแล้ว ในบทความนี้ผู้เขียนจึงจะมาชวนมอง ชวนแก้ปัญหาที่มาจากเรื่องเล็ก ๆ คือ “การสื่อสาร” เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ในครอบครัวที่เรารักกันค่ะ


การพูดคุยในบ้าน

เพราะอะไรเราถึงใช้คำพูดทำร้ายกัน?

ก่อนอื่นเลย เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “เพราะอะไร เราถึงใช้คำพูดทำร้ายกัน?” เหตุผลหลัก ๆ มี 3 ข้อ ใหญ่ ๆ ค่ะ คือ

1) มีเจตนาดี

2) มีเจตนาร้าย

3) ไม่มีเจตนาอะไรเลย


สำหรับการใช้คำพูดทำร้ายกันด้วย “เจตนาที่ดี” เป็นเรื่องที่ซับซ้อนอยู่พอสมควรค่ะ และมักจะเป็นในคนที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น รักใคร่กัน เช่น แม่–ลูก พ่อ–ลูก สามี–ภรรยา คนรักกัน โดยจะเป็นการแสดงออกทางคำพูดผสมการกระทำในเชิงประชดประชัน เปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่า ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองแย่ ด้อยค่า แต่เจตนาจริง ๆ ก็คือ เพื่อให้อีกฝ่ายมีแรงจูงใจที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น พัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่เราได้พบกันส่วนมากมักจะเป็นไปในทางตรงข้ามค่ะ ลองนึกถึงใจเขาใจเรา โดนด่าอยู่ทุกวัน ถูกเปรียบเทียบกับข้างบ้าน (ที่ไม่รู้ทำไมถึงดีกว่าเราเสมอ) จะห่อเหี่ยวแค่ไหนถามใจเธอดู


เหตุผลทางจิตวิทยา อธิบายว่าเป็นกลวิธานป้องกันตนเองของฝ่ายที่ทำร้ายค่ะ เรียกว่าการฉายภาพ (Projection) คือ ฉายภาพไม่ดีในใจตัวเอง หรือสะท้อนสิ่งที่ไม่ดีในตัวเอง ปมด้อยของตัวเองไปสู่ผู้อื่น ซึ่งผู้อื่น ณ ที่นี้คือคนที่ตัวเองรัก เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยค่ะ ว่าพ่อแม่ที่คาดหวังว่าตอนตัวเองอายุเท่าลูกอยากดีเด่นอย่างไร จึงคาดหวังว่าลูกจะต้องทำแทนตัวเองได้ ซึ่งก็หลงลืมไปว่า “ลูกก็มีชีวิตของลูกเอง”



มาถึงบุคคลในกลุ่มที่สอง คือ ทำร้ายด้วยคำพูดด้วย “เจตนาร้าย” กลุ่มนี้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนค่ะ ด่าเพราะเกลีด ดูถูกเพราะไม่ชอบ ชัดเจน ซึ่งเป็นการสื่อสารด้วยอารมณ์ล้วน ๆ ไม่มีเหตุผลเจือปน ซึ่งคนประเภทนี้มี 2 แบบค่ะ คือ ด่าแบบหยาบไปเลย ทุกคำที่ออกมานั้นล้วนหาความไพเราะไม่เจอ และอีกแบบมีชั้นเชิงกว่า คือ ด่าแบบผู้ดี คือ พูดเพราะทุกคำ แต่ฟังแล้วแทบดิ้นตาย เช่น ถ้าคนที่ได้รับ การอบรมมาดีคงไม่ทำเรื่องแบบนี้หรอกค่ะ หรือ มันก็เป็นเรื่องของจิตสำนึกน่ะค่ะ เป็นต้น บุคคลที่ใช้การสื่อสารทำร้ายคนอื่นเช่นนี้ มักไม่ได้มีความรู้สึกดีให้แก่กัน เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้ยังไม่ใช่ประเด็นที่เรา จะสนใจในบทความนี้จ้า



และกลุ่มที่ 3 กลุ่มนี้เรียกว่ากลุ่ม Auto pilot คือ ใช้คำพูดร้าย ๆ โดยไม่รู้สึกว่าคำที่ตัวเองพูดจะไปทำร้ายใคร ใช้คำพูดหยาบคายจนเคยชิน จนไม่รู้สึกว่าคำที่ตัวเองพูดมันจะไประคายหูคนฟัง ซึ่งคน ที่ใช้คำพูดเช่นนี้เป็นเรื่องยากที่จะเตือน หรือแก้ไขเพราะ การพูดของเขาไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองหรือผ่าน การสำนึกรู้เลย



การพูดคุยในครอบครัว


เราจะสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร?

อย่างแรกที่เราจะเปลี่ยนการทำร้ายกันด้วยคำพูดมาเป็นการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ก็คือ เราต้องรู้ตัวก่อนว่าเราพูดอะไร คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินคำที่ว่า “คำพูดเป็นนายคน” ใช่ไหมคะ ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อเราพูดอะไรออกไปแล้ว คำพูดนั่นจะกลายเป็นภาพลักษณ์ของเรา ควบคุมเราให้เราต้องทำตามที่พูด หรือทำให้คนอื่นมองเห็นเราให้เป็นไปตามที่เราพูด แล้วมันก็จะเข้ากับสุภาษิตไทยที่ว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว” ดังนั้นแล้ว เราต้องมีสติในการพูด มีความระมัดระวังในการพูด และคิดถึงจิตใจคนฟังให้มาก ๆ


อย่างที่สอง เราต้อง keep “เจตนาดี” ที่เราต้องการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น อยากให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้น อยากให้เขาพัฒนาตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีค่ะ ควรเก็บไว้ในการสื่อสารกับทุกคน


และอย่างที่สาม Highlight สำคัญของบทความนี้ คือ ใช้เทคนิคการสื่อสารทางบวก 8 วิธี ตามนี้ค่ะ


1.มองหาข้อดีของคู่สนทนา (Beginning with Positive Aspects)

โดยการพยายามหาข้อดี จุดดี ด้านบวกของคู่สนทนา และหยิบยกมาเป็นจุดเริ่มต้นก่อน เช่น การแสดงความยินดี แสดงข้อดี ของคู่สนทนาก่อน


2.ฟังอย่างตั้งใจ (Active listening)

การสื่อสารที่ดีควรเป็นไปแบบสองทาง คือการฟังและการพูด แต่ในระยะแรกควรพยายามกระตุ้นให้คู่สนทนาพูดและแสดงออก สร้างบรรยากาศให้คู่สนทนารู้สึกว่า “คู่สนทนาสนใจ และอยากฟัง” และแสดงออกโดยสนใจฟัง จดจำรายละเอียด พยายามเข้าใจความคิดความรู้สึก สอบถามเมื่อสงสัย ให้คู่สนทนาขยายความ และถามความคิด ความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนั้นเป็นระยะ ๆ ในขณะฟังอย่าเพิ่งวางแผนว่าจะพูดอะไรต่อไป ให้สนใจจดจำข้อมูลที่คุ่สนทนาพูดให้ได้ และอ้างอิงถึงในทางบวก


3.หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม”

เพราะการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม.....” มักสื่อสารความหมาย 2 แบบ คือ เธอแย่มาก ทำไมจึงทำเช่นนั้น และถ้ามีเหตุผลดี ๆ การกระทำเช่นนั้นก็อาจเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วผลที่ตามมามักเป็นด้านลบ คือ คู่สนทนารู้สึกถูกตำหนิว่าตนเองไม่ดี และอาจพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองมากขึ้น ดังนั้นคำถาม “ทำไม” จึงนำไปสู่การโต้เถียงกันในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม” เปลี่ยนเป็น “พอจะบอก/พอจะเล่าเกี่ยวกับ....ได้ไหม” “เพราะอะไรถึง.....” “เกิดอะไรขึ้นถึง....” เป็นต้น


4.ใช้คำพูดที่ขึ้นต้น “ฉัน......” มากกว่า “เธอ.............” ( I - Message)

เพราะประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “เธอ” หรือ “คุณ” (You-message) มักแฝงความรู้สึกด้านลบ คุกคาม และตำหนิ การสื่อสารที่ดีควรเปลี่ยนไปเป็นประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” หรือ “ผม” (I –message) ที่สร้างความรู้สึกนุ่มนวลกว่าแทน เช่น จากเดิม เราใช้ You - message คุยกับสามี/แฟนเราว่า “พ่อเห็นแก่ตัวมากเลย เอาแต่เล่นเกม ไม่คิดจะช่วยแม่เลี้ยงลูกเลย” ซึ่งดราม่ามาเต็ม แต่ลองเปลี่ยนเป็น I –message ว่า “แม่จะรู้สึกดีและขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ ถ้าพ่อช่วยดูลูกให้แม่หน่อย” ดูละมุนขึ้นทันตา และแน่นอนว่าคุณสามีที่รักเต็มใจจะช่วยกับคำพูดประโยคหลังมากกว่าแน่นอนค่ะ


5.ถามความรู้สึก สะท้อนความรู้สึก

โดยการสอบถามความรู้สึกและสะท้อนความรู้สึก จะช่วยสร้างความรู้สึกการประคับประคองทางจิตใจ (emotional support) แสดงถึงความเข้าใจ สนใจในคู่สนทนา


6.ถามความคิดและสะท้อนความคิด

เป็นเทคนิคแสดงความสนใจ พยายามเข้าใจ และให้เกียรติความคิดของคู่สนทนา ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าเราพยายามเข้าใจ (ความคิดและความรู้สึก) ของเขา ก่อให้เกิดเกิดความสัมพันธ์ที่ดี


7.ใช้ภาษากาย

สีหน้า แววตา ท่าทาง ของเราจะสื่อให้คู่สนทนารู้สึกได้ดีกว่าคำพูด ทำให้เกิดความเป็นกันเอง อยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินคู่สนทนา ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “ใช้ภาษากายอย่างไรให้คุณได้เปรียบ เป็นผู้นำ และก้าวหน้าเร็ว


8.ตำหนิที่พฤติกรรมมากกว่าตัวบุคคล

ถ้าจะตำหนิคู่สนทนาให้ระวังปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่ยอมรับ ซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และเมื่อเกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ คู่สนทนาจะไม่สนใจฟัง ไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วย การสนทนาต่อไปก็ไม่ราบรื่น ดังนั้น วิธีการที่ทำให้คู่สนทนายอมรับ และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเองเวลาถูกตำหนิ ก็คือ การตำหนิที่พฤติกรรม ไม่ใช่ตัวบุคคล เช่น จากที่ตำหนิลูกว่า “ตื่นสาย นอนกินบ้านกินเมือง คงไม่เจริญหรอกชาตินี้” เป็น “แม่ว่าการตื่นสายมันไม่ดีเลย” หรือ จากที่ตำหนิแฟนว่า “เธอไม่เคยสนใจฉันเลย สนใจแต่เพื่อน เป็นแฟนที่ไม่ได้เรื่องเลย” เป็น “เค้ารู้สึกไม่ค่อยดีเวลาที่ไม่ได้รับการใส่ใจ” เป็นต้น



ทั้ง 8 วิธีที่นำเสนอไปนั้น ไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะใช้เฉพาะกับคนในครอบครัว หรือเฉพาะคนรักนะคะ คุณผู้อ่านสามารถนำไปใช้ในการสนทนาสื่อสารได้กับทุกคนเลย นอกจากนี้ สำหรับการสื่อสารกับคู่รักสามารถอ่านเคล็ดลับเพิ่มเติมได้ในบทความ “สื่อสารกับคนรักอย่างไรไม่ชวนทะเลาะ” และสำหรับการสื่อสารในทุกสถานการณ์ให้ได้ผล สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “3 วิธีสื่อสารอย่างไรให้ได้ผล 100%” หวังว่าเทคนิคที่นำมาฝากกันจะทำให้คุณผู้อ่านจะมีความรู้สึกที่ดีกับคู่สนทนานะคะ

 

ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า


 

อ้างอิง :

พนม เกตุมาน. การสื่อสารทางบวกกับ วัยรุ่น (Positive Communication with Teenager). 2551. หนังสือ 10 ปี ทศวรรษเพื่อเด็กและภูมิปัญญาของครอบครัว. หน้า 70 – 76. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล.

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page