top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เมื่อธรรมชาติล่มสลาย : ในยุคสมัยการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6



ธรรมชาติในโลกไม่ได้รุ่งเรืองตลอดเวลา สัตว์และพืชแต่ละชนิดๆ นั้นมีช่วงเวลาการดำรงอยู่ และสูญหายไปเป็นช่วงเวลาสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่หากช่วงเวลาไหนมีสัตว์และพืชสูญพันธุ์พร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก เราจะเรียกช่วงนั้นว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass extinction) ซึ่งตามประวัติศาสตร์โลกได้เกิดมาแล้วถึงห้าครั้ง แน่นอนว่าครั้งที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดนั้นคือยุคสมัยการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ เมื่อ 66 ล้านปีก่อน เป็นการเปิดทางสู่ยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ยึดครองที่ว่างในโลก อันเป็นที่ๆ ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่เคยท่องเที่ยวไปมาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยข้อดีของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันได้แก่ มีฟันหลายรูปแบบเพื่อกินอาหารได้หลากหลาย หลายชนิดมีการเลี้ยงลูก เพื่อเพิ่มอัตราการรอดตาย นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ด้วยพลังงานจากอาหาร ทำให้พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถอยู่ได้ทุกพื้นที่ในโลก ตั้งแต่ป่าดิบชื้น เขตที่ร้อนแล้งอย่างในทะเลทราย ไปจนถึงเขตที่มีแต่น้ำแข็งบริเวณขั้วโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดได้วิวัฒนาการร่างกายจนใหญ่โต เพื่อสู้กับผู้ล่าอื่นๆ เช่น เสือเขี้ยวดาบ สิงโตอเมริกาเหนือ จนบางชนิดมีขนาดใหญ่ทัดเทียมไดโนเสาร์เลยทีเดียว แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมนุษย์สายพันธุ์ปัจจุบันได้ถือกำเนิด แล้วมาลงสนามแข่งขันด้วย

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ได้เริ่มสูญหายไปในช่วงยุคน้ำแข็งสุดท้าย พร้อมการกระจายตัวของมนุษย์สมัยใหม่ ในตอนนั้นมนุษย์อาจจะไม่ได้เป็นจำเลยเท่ากับสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยน แปลงไป แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับปัจจุบันนี้

สัตว์และพืชในปัจจุบันต่างทยอยสูญพันธุ์ไปรวดเร็ว ทั้งจากการถูกล่าโดยตรง ซึ่งสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้าง แรด เสือโคร่ง และฉลาม เป็นเหยื่อโดยตรงที่มนุษย์ต้องการล่า สัตว์อีกหลายชนิดล้มตายจากการกระทำโดยอ้อมของมนุษย์ ในหนังสือ The Sixth Extinction: An Unnatural History ของ Elizabeth Kolbert ได้รวบรวมกรณีศึกษาสัตว์สูญพันธุ์-สูญหายไปจากถิ่นที่อยู่ที่น่าสนใจไว้ เช่น กบในอเมริกากลาง และค้างคาวในถ้ำที่อเมริกาเหนือ ที่แทบจะสูญสิ้นไปจากถิ่นที่อยู่เดิม สัตว์เหล่านี้ตายจากเชื้อราที่ถูกนำเข้ามาโดยบังเอิญจากมนุษย์ที่ท่องไปทั่วโลก หรือเชื้อราอาจแพร่กระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการใช้ชีวิตของมนุษย์อีกเช่นกัน นอกจากนี้การล่มสลายของอาณาจักรสัตว์ยังรวมถึงในท้องทะเลด้วย เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากจากภาวะโลกร้อนได้ทำให้บางพื้นที่ในท้องทะเลกลายเป็นกรดอ่อนๆ สัตว์จำพวก หอย ปู และปะการังไม่สามารถสร้างเปลือกแข็งได้ จนสรรพชีวิตสูญหายไปในพื้นที่นั้นไม่ต่างจากระบบนิเวศทะเลทรายบนผืนดิน

ภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และการสูญพันธุ์ก็เกิดขึ้นจริงเช่นกัน คำถามที่ว่าสัตว์สูญพันธุ์ไปแล้วมันสำคัญอย่างไร ? สามารถตอบได้ว่า ถ้าเราสามารถรักษาโลกนี้ให้ชีวิตอื่นอยู่ดีได้ มนุษย์ก็ย่อมอยู่ดีตามไปด้วยเช่นกัน ในเมื่อมนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ อะไรที่เกิดขึ้นกับชีวิตอื่น ย่อมมีผลกับมนุษย์เราเช่นกัน

แม้ว่าการสูญพันธุ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural Selection) ตามแนวคิดของ Charles Darwin สัตว์ที่ปรับตัวได้จะอยู่รอด ในขณะที่สัตว์ที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็จะสูญหายไป หรือเราอาจคิดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องธรรมดาก็ได้ เหมือนกับที่ “เต๋า” กล่าวว่าทุกอย่างมีขึ้นมีลง มีตกต่ำมีรุ่งเรืองของมันเช่นนั้น แต่ในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่นี้ เราสามารถเลือกได้ไม่ใช่หรือ ว่าเราจะยืนดูอยู่เฉยๆ บนขอบเหวแห่งการสูญพันธุ์ หรือใช้พลังสร้างสรรค์อันเป็นพรสวรรค์ในตัวมนุษย์ทุกคนช่วยสรรพชีวิตอื่น แล้วสร้างโลกใหม่ ...โลกที่มนุษย์เราอยู่ร่วมกับชีวิตอื่นอย่างกลมกลืน

 

นักอนุรักษ์ผู้สื่อสารปรัชญาชีวิตผ่านเรื่องเล่าธรรมชาติและเลนส์

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page