3 วิธีเพิ่มพลังบวกใช้ชีวิตแบบ New Normal ด้วยหลักสุนทรียสนทนา

New Normal หรือการใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เต็มไปด้วยเจตนาดีที่จะทำให้เราห่างไกลจาก Covid-19 แต่ก็สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้เราไม่น้อยเลยค่ะ ดิฉันนำหลักจิตวิทยา ที่เรียกว่า “สุนทรียสนทนา” หรือ dialogue มาฝากคุณผู้อ่าน เพื่อนำมาเพิ่มพลังบวกในการใช้ชีวิตแบบ New Normal ซึ่ง “สุนทรียสนทนา” ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของจิตวิทยาการให้คำปรึกษา เพราะเป็นเทคนิคการฟัง และสนทนากับผู้อื่นโดยใช้ “ใจ” เป็นหลัก นั่นก็คือ การฟังผู้อื่นพูดอย่างตั้งใจ ไม่ขัดจังหวะ ไม่เถียง ไม่พูดแทรก ฟังด้วยจิตใจที่เป็น กลาง ไม่ตัดสินผู้พูดจากเรื่องที่เขาเล่า หรือสิ่งที่เขาทำ แต่ใส่ใจในความรู้สึกที่เขาถ่ายทอดออกมา และสะท้อนกลับด้วยความรู้สึกแท้จริงของเราโดยไม่มีอารมณ์เจือปน ทำให้บรรยากาศในการสนทนาให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เปิดเผย จริงใจ และมีอิสระที่จะแสดงความรู้สึกที่แท้จริงแล้วยิ่งในสถานการณ์ที่เราทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ต้อง social distinction หรือมีระยะห่างทางสังคม เทคนิค “สุนทรียสนทนา” ยิ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่จะทำให้เรากลับมาใกล้ชิดกันทางความรู้สึก ลดความเครียด เพิ่มพลังใจ ให้พลังบวก ลดซึมเศร้าได้ค่ะ โดยในบทความจิตวิทยานี้ ขอนำเสนอวิธีเพิ่มพลังบวกด้วยหลักจิตวิทยา “สุนทรียสนทนา” ด้วยกัน 3 วิธีค่ะ ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นมาอ่านกันเลยค่ะ
1. ลดความคาดหวังในการสนทนา
เมื่อไม่คาดหวังก็ไม่มีความผิดหวัง เมื่อไม่ผิดหวังเราก็ไม่เกิดความรู้สึกทางลบ ซึ่งสุนทรียสนทนา เป็นการสนทนาที่ต้องการให้คู่สนทนาไม่คาดหวัง แต่เมื่อจบการสนทนาจะทำให้เกิดความหวัง คือ หวังดีต่อคู่สนทนา หวังดีต่อตัวเอง นั่นก็เพราะสุนทรียสนทนา เป็นการพูดคุยด้วยความรู้สึกที่อิสระ เมื่อคนหนึ่งพูดอีกคนจะรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ขัด ไม่แทรก รอจนคู่สนทนาพูดจบแล้วจึงสะท้อนความคิดเห็น หรือความรู้สึกในเชิงบวก มันเปรียบเหมือนกับว่าสุนทรียสนทนาเป็นการดำน้ำที่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้พบอะไร ดังนั้น ไม่ว่าเราจะได้พบอะไรจากการดำน้ำ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีทั้งนั้นค่ะ
2. เปิดใจเพื่อรับฟังสิ่งที่คู่สนทนาไม่ได้พูดแต่รู้สึก
สิ่งที่ทำให้สุนทรียสนทนาพิเศษกว่าการพูดคุยทั่วไป ก็คือ การรับรู้ความรู้สึกของคู่สนทนาผ่านการรับฟังสิ่งที่เขาพูดอย่างตั้งใจ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้บอกความรู้สึกออกมาก็ตาม แต่เราก็สามารถรับรู้ได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร และความพิเศษนี้เองค่ะที่ทำให้สุนทรียสนทนาเป็นเทคนิคที่นักจิตวิทยามักนำมาใช้ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม เพราะทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้เปิดเผยความคิด และความรู้สึกอย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลว่าผู้ฟังจะโต้แย้ง หรือมี Feedback ในทางลบกลับมา และยิ่งเมื่อเราต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ต้องอยู่ห่างกันด้วยแล้ว การใส่ใจความรู้สึกของอีกฝ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ
3. สังเกตความรู้สึกของตัวเองขณะสนทนา
ในการสนทนาแบบ “สุนทรียสนทนา” นอกจากจะทำให้เรารับรู้อารมณ์ของคู่สนทนาของเราแล้ว เรายังได้เรียนรู้ความรู้สึกของตนเองจากการสังเกตความรู้สึกขณะที่เรารับฟังเรื่องราวของคู่สนทนาอีกด้วย โดยวิธีการก็คือ ในขณะที่คู่สนทนาเล่าเรื่องของเขา เราก็สังเกตว่าเรามีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ เราเศร้าไปกับเรื่องเศร้าของเขาไหม เราภูมิใจ ดีใจไปกับเรื่องราวความสำเร็จของเขาไหม ซึ่งการสังเกตความรู้สึกเช่นนี้ จะสามารถบอกเราได้ว่าเรื่องหรือประเด็นอะไรที่ “โดนใจ” เรา เช่น เรามักจะรู้สึกเศร้าไปกับเรื่องพ่อ แม่ นั่นอาจจะเป็นตัวบอกเราว่า เรามีปมในใจที่ต้องไปเปิดใจกับพ่อ แม่ ของเราแล้ว หรือเรารู้สึกดีใจไปกับเรื่องของการทำตามความฝัน นั่นก็เป็นตัวบอกเราว่าถึงเวลาแล้วที่เราเองก็ควรทำตามความฝันเหมือนกัน และการเรียนรู้ความรู้สึกของตัวเราเองจะช่วยให้เราเติบโต มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นค่ะ
ถึงแม้ว่าเราจะต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ตัวต้องห่างไกล แต่ขอให้คุณผู้อ่านลองนำ 3 วิธีเพิ่มพลังบวกให้ชีวิตแบบ New Normal ด้วยหลักจิตวิทยา “สุนทรียสนทนา” ไปปรับใช้ดูนะคะ รับรองว่า จะทำให้ใจเราใกล้กันมากขึ้นแน่นอนค่ะ
อ้างอิง : ศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร. Dialoque : สุนทรียสนทนา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2563 จาก http://www.ns.mahidol.ac.th/english/KM/article003.htm
ผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.
และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี
เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ
ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 5 ปี
Tags: