top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Hikikomori : ภัยเงียบทำร้ายครอบครัว


จากข่าวสะเทือนใจ และเป็นเคสจิตวิทยาครอบครัวที่น่าหดหู่ใจ ที่ลูกชายวัย 16 ปี ใช้มีดปลายแหลมทำร้ายแม่แท้ ๆ ถึง 12 แผล ถึงแม้ว่าแม่จะปลอดภัย ลูกชายจะสำนึกได้ และแม่ให้อภัยกับสิ่งที่ลูกชายทำ แต่ก็ว่ากันไปตามกฎหมายนะคะ ซึ่งเมื่อตามอ่านข่าวที่สัมภาษณ์แม่และลูกชายถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ก็พบว่า สาเหตุไม่ได้มาจากการทะเลาะเบาะแว้ง แต่เกิดมาจากความรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” ของลูกชาย ที่โดยปกติใช้ชีวิตอยู่กับยายอายุ 70 ปี โดยแม่อายุ 34 ปีไปทำงานต่างประเทศ แต่ลูกชายมีปัญหาพฤติกรรม คือ ไม่เรียน ติดเกม มีพฤติกรรมแยกตัว ไม่เข้าสังคม ด้วยความเป็นห่วง แม่จึงกลับมาอยู่ด้วย แต่แม่ไม่รู้เลยว่าความห่วงใยของแม่นั้นกำลังจะกลับมาทำร้ายตัวแม่เอง

เพราะการที่แม่ซึ่งเป็นคนนอกของลูก ไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ลูกไม่คุ้นแคย แล้วมาอยู่ด้วยกันจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าแม่จะดีกับลูกขนาดไหน ก็ไม่สามารถทำให้ลูกไว้ใจได้ และด้วยปัจจัยอะไรที่เกินกว่าเราจะทราบได้ ลูกชายก็ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการทำร้ายแม่ให้ถึงแก่ชีวิต ซึ่งพฤติกรรมทั้งหลายที่ข่าวนำเสนอของลูกชายช่างเข้าข่ายโรคทางจิตเวชที่รู้จักแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น แต่ในประเทศไทยยังมีการพูดถึงน้อยมาก ๆ ค่ะ เรียกว่า “Hikikomori” (ฮิคิโคโมริ)

โรค Hikikomori มีความหมายในภาษาญี่ปุ่นว่า “การแยกออก การถอยออกห่าง” ซึ่งอธิบายถึงอาการของโรคจิตเวชที่คล้ายคลึงกับโรคต่อต้านสังคม หรือ Anti-social และโรคกลัวการเข้าสังคม หรือภาษาจิตวิทยาเรียกว่า Agoraphobia ที่มีลักษณะเด่นคือการแยกตัวเองออกจากครอบครัว แม้จะอยู่บ้านเดียวกัน แต่คนที่เป็น Hikikomori มักจะขังตัวเองอยู่ในห้อง ออกมาเฉพาะตอนหิว หรือเข้าห้องน้ำ หรือหนักกว่านั้น หากผู้ป่วย Hikikomori เป็นคนมีความรู้ ก็สามารถหาเงินทางออนไลน์ และสั่งอาหาร รวมถึงของใช้ให้มาส่งได้ถึงหน้าห้อง โดยที่เขาไม่ต้องออกมาจากห้องซึ่งเป็น Safe zone ของเขาเลยด้วยซ้ำ อันที่จริงหากอาการของโรคมีเพียงแค่การกลัวเข้าสังคมเหมือนโรค Agoraphobia ก็คงกังวลน้อยกว่านี้ แต่ผู้ป่วยโรค Hikikomori ส่วนใหญ่ มักจะมีแนวโน้มต่อต้านสังคม รังเกียจผู้คน หากใครเข้ามายุ่งโลกของเขา เขาจะก้าวร้าว จนอาจทำร้ายคนนั้นทันที คล้ายกับโรคจิตเวช Agoraphobia ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็มีข่าวว่าคุณพ่อท่านหนึ่ง ยอมทำร้ายลูกชายคนเดียวของตัวเอง เพราะลูกชายที่ป่วยเป็น Hikikomori เกิดรำคาญเสียงงานกีฬาสีของเด็ก ๆ ในโรงเรียนที่อยู่แถวบ้าน แล้วจะนำอาวุธปืนไปกราดยิงเด็ก ๆ และข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วย Hikikomori ทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว ก็มีให้เห็นเป็นปกติตามข่าวของประเทศญี่ปุ่นค่ะ แต่ในประเทศไทย ทั้งวงการจิตวิทยาเอง หรือวงการข่าวสังคม กลับมีข้อมูลของผู้ป่วย Hikikomori น้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ Hikikomori เป็นสาเหตุหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัวค่ะ

โรค Hikikomori ในตำราจิตเวชไม่ได้ระบุสาเหตุที่ชัดเจนว่า Hikikomori เกิดมาจากอะไร แต่ข้อมูลจากนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา ให้ข้อมูลไว้ว่า Hikikomori มีสาเหตุมาจากความผิดหวังจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรุนแรง การโทษตัวเอง แรงกดดันจากคนรอบข้างโดยเฉพาะคนในครอบครัว ความเครียดสะสมเรื้อรัง การถูก Bully ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ที่เป็น Hikikomori กลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองแย่ ไม่มีคุณค่า และหากไม่ได้รับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะยิ่งทำให้ผู้ป่วย Hikikomori เกลียดโลก เกลียดผู้คน และขังตัวเองไปในที่สุดค่ะ

เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค Hikikomori กับคนในครอบครัว ดิฉันจึงได้รวบรวมข้อแนะนำของนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามาฝากกันค่ะ

1. ใส่ใจทุกคนในครอบครัว

การใส่ใจ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ และการรับฟังเรื่องราวของแต่ละคนในครอบครัว นอกจากจะช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้แล้ว นักจิตวิทยายังแนะนำว่าสามารถใช้ความใส่ใจในการป้องกันโรค Hikikomori ได้ด้วยค่ะ เพราะโรคจิตเวช Hikikomori ก็เหมือนกระป๋องนำอัดลมที่บวมแก๊สใกล้ระเบิด แต่ถ้าหากเราให้เขาได้ระบายความทุกข์ ได้พูดความไม่สบายใจ ก็เหมือนการค่อย ๆ เปิดฝาให้แก๊สได้ระบายออกมาค่ะ

2. สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้แก่เด็ก ๆ

ภูมิคุ้มกันหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าสำคัญและทำให้เด็ก ๆ สามารถเติบโตขึ้นมาเผชิญโลกได้ ก็คือ ความยืดหยุ่นค่ะ เพราะความยืดหยุ่นจะทำให้เราพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ใส่ความรู้สึกกับสิ่งใดมากจนเกินไป ปรับตัวง่าย และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีค่ะ ซึ่งการฝึกความยืดหยุ่นก็สามารถทำได้ผ่านการเล่นเกมต่อบล็อก ต่อจิ๊กซอว์ ปั้นดินน้ำมัน การเล่นบทบาทสมมุติ และนิทานค่ะ

3. คิดในแง่บวก

การสอนให้เด็กมองโลกในแง่บวก อาจเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีสอน และวิธีลงโทษของคุณพ่อ คุณแม่ค่ะ จากเดิมที่สอนแบบเคร่งครัด ลูกผิดไม่ได้ ต้องถูกลงโทษ ให้เปลี่ยนมาเป็น ลงโทษลูกเชิงบวก คือ การให้แก้ไขในสิ่งที่ผิด เช่น ทำน้ำหก ก็ให้ช่วยทำความสะอาด ทำของแตกก็ให้ช่วยเก็บเงินซื้อ และหากเด็ก ๆ โตพอ (5 ขวบ ขึ้นไป) ก็สามารถสอนให้เขามองหาข้อดี – ข้อเสีย ในสิ่งที่เขาทำได้ด้วยค่ะ

4. ใช้เวลาร่วมกันให้มากที่สุด

การใช้เวลาร่วมกัน นอกจากจะเป็นการเพิ่มความสนิทสนมให้คนในครอบครัวแล้ว ยังเป็นการช่วยสังเกตได้ว่าคนในครอบครัวมีอะไรผิดปกติหรือไม่ เช่น จากปกติทุกคนทานข้าวเย็นพร้อมหน้า หากขาดใครไปซักคน คนในบ้านก็รู้ได้ทันทีว่ามีเรื่องผิดปกติเกิดขึ้นแน่นอน และช่วยเหลือได้อย่างทันทีค่ะ

5. เสริมความมั่นใจให้เด็ก ๆ

การเสริมความมั่นใจให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ของเรานั้น เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปกับคอร์สต่าง ๆ มากมายเลยค่ะ เพียงแค่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง แสดงความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เด็ก ๆ ทำเป็นเรื่องที่ดี แสดงความชื่นชมอย่างจริงใจต่อตัวเขา เพียงเท่านี้เด็ก ๆ ก็จะมั่นใจ และภูมิใจในตัวเองได้แล้วละค่ะ

6.เปิดโอกาสให้คนในบ้านได้ทำสิ่งที่ตนเองรัก

เป็นอะไรไม่ดีเท่า “เป็นตัวของตัวเอง” และการที่จะกล้าเป็นตัวของตัวเองได้นั้น คนในบ้านต้องให้โอกาสด้วยค่ะ เพราะมีหลายเคสเลยที่เลือกเรียน เลือกทำงาน หรือแม้แต่เลือกคู่ชีวิตตามใจคุณพ่อ คุณแม่ และแน่นอนค่ะ น้อยคนจะมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เลือก จะดีกว่าไหมคะ หากคนในครอบครัวเราสามารถเลือกชีวิตตัวเองได้ และมีความสุขกับชีวิตที่เขาเลือกเอง ซึ่งต่อให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร ก็เป็นความรับผิดชอบของเขาแล้วละค่ะ เพราะเขาได้เลือกเอง แต่ที่แน่ ๆ คนในครอบครัวจะอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์

โรค Hikikomori ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีผู้ป่วย ซึ่งหากวงการจิตวิทยาบ้านเราได้ลองศึกษาผู้ต้องขัง หรือผู้ที่อยู่ในสถานพินิจด้วยเหตุทำร้ายคนในครอบครัวแล้วละก็ อาจจะพบว่ามีผู้ป่วย Hikikomori จำนวนมากก็เป็นไปได้ค่ะ ดังนั้น กันไว้ดีกว่าแก้เสมอค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : 1.Itou, Junichirou. 2003. Shakaiteki Hikikomori Wo Meguru Tiiki Seisin Hoken Katudou No Guide-line (Guideline on Mental Health Activities in Communities for Social Withdrawal)." Tokyo: Ministry of Health, Labor, and Welfare.

2. thaichildcare. ฮิคิโคโมริ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม. 15 มีนาคม 2019. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2020 จาก https://www.thaichildcare.com/

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.

มหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA

ประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี

ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 5 ปี

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page