top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 วิธีสอนคุณลุกขึ้นใหม่ด้วยใจสตรอง



ชีวิตคนเราก็เหมือนเด็กๆ หัดเดิน จะให้วิ่งคล่องๆ อย่างเดียวคงไม่ใช่ ก็คงมีล้มบ้าง เจ็บบ้าง ร้องไห้กับความเจ็บปวดของบาดแผลบ้าง และเมื่อเรามาถึงจุดที่รู้สึกว่า “ชีวิตกำลังล้ม” สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตั้งหลักให้ดี ก่อนจะลุกขึ้นใหม่อย่างสตรอง โดยในบทความนี้ ผู้เขียนมี 3 วิธีการลุกแบบสวยๆ มาแนะนำกันค่ะ


1.ค้นหาคุณค่าของชีวิต

โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว เมื่อต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรค จนลุกสึก “ล้ม” ก็มักจะบั่นทอนคุณค่าของตนเองลง โดยการกล่าวโทษว่าตัวเราไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ แต่ชายผู้หนึ่งสามารถเปลี่ยนชีวิตของเขาได้เพราะการค้นหาคุณค่าของตน


Chip Conley ผู้ก่อตั้งโรงแรม Joie de Vivre Hospitality ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โรงแรมของเขาเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งล่าสุดจากผลของฟองสบู่ดอทคอมแตก และเหตุการณ์ 9/11 โรงแรมแถบเบย์ แอเรีย ในซานฟรานซิสโก ประสบปัญหารายได้ตกต่ำครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการโรงแรมในสหรัฐอเมริกา Conley เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในแถบเบย์ แอเรีย จึงมีความเสี่ยงที่จะเสียหายมากกว่าโรงแรมอื่น อีกทั้งเขายังต้องเผชิญกับปรากฏการณ์การคว่ำบาตรฝรั่งเศส ส่งผลให้ Joie de Vivre Hospitality ซึ่งเป็นชื่อภาษาฝรั่งเศส แม้จะมีเจ้าของกิจการเป็นชาวสหรัฐอเมริกาเอง ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย


จนเมื่อเขาได้พูดคุยกับแวน ควอช หรือวิเวียน แม่บ้านชาวเวียดนาม เธอบอกเขาว่า สิ่งที่มีคุณค่าในการทำงานสำหรับเธอ คือ ความผูกพันทางใจที่เธอสร้างขึ้นกับเพื่อนร่วมงานและแขกที่มาพัก และสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจและความหมายในชีวิตให้เธอ ก็คือ เธอกำลังดูแลผู้คนที่ต้องอยู่ไกลบ้าน เพราะเธอรู้ดีว่าการต้องอยู่ไกลบ้านมันรู้สึกอย่างไร Conley จึงเน้นย้ำกับตัวเองว่า การบริหารโรงแรมที่ดี ไม่ได้วัดกันที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของกิจการ แต่คือการดูแลพนักงานและแขกให้มีความสุข การค้นหาคุณค่าของชีวิตดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ Conley นำพาโรงแรมของเขาผ่านวิกฤตมาได้ ดังนั้น เมื่อคุณล้มจงมองหาคุณค่าในการใช้ชีวิต แล้วคุณจะสามารถลุกขึ้นได้ด้วยรอยยิ้มและความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง


2.มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ใจเราเป็นทุกข์จนรู้สึก “ล้ม” นั้นก็คือ การผิดหวังจากสิ่งที่ต้องการ แรบไบ ไฮแมน แชคเทล ได้เขียนหนังสือเรื่อง "ความสุขที่แท้ในการใช้ชีวิต" เมื่อปี ค.ศ. 1954 ท่านกล่าวว่า ความสุขนั้น ไม่ได้มาจากการมีสิ่งที่คุณพอใจและอยากจะได้ แต่มาจากการพอใจในสิ่งที่คุณมี นั่นหมายความว่า หากคุณผู้อ่านให้คุณค่ากับสิ่งที่มีอยู่ คุณผู้อ่านจะพบความสุขในการใช้ชีวิต เช่น คุณผู้อ่านอาจเคยผิดหวังจากการเลื่อนตำแหน่ง แต่หากมองเห็นถึงข้อดีของตำแหน่งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นงานที่เราทำจนเชี่ยวชาญแล้ว เพื่อนร่วมงานที่สนิทสนม เจ้านายที่ใจดี แบบนี้แล้วคุณผู้อ่านจะมีความสุขในชีวิตได้แม้จะไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือคุณผู้อ่านอาจผิดหวังในความรัก แต่คุณผู้อ่านจะยังคงมีบ้านให้กลับ มีคุณพ่อคุณแม่ที่รักคุณผู้อ่านอยู่เสมอ ลองมองหาด้านดีๆของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันดูนะคะ หากคุณผู้อ่านพบ รับรองได้เลยว่าชีวิตที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันก็สามารถสร้างความสุขให้แก่คุณผู้อ่านได้ไม่ยากเลย


3.อย่าวิ่งหนีการถูกปฏิเสธ

เป็นธรรมดาที่คนส่วนมากจะไม่ชอบกับการถูกปฏิเสธ และแน่นอนว่าคนที่รู้สึกว่าตนเอง “ล้ม” ส่วนมากแล้วมักถูกปฏิเสธในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต แต่ชายชาวจีน ชื่อ Jia Jiang ผู้เขียนหนังสือ Rejection Proof: How I Beat Fear and Became Invincible กลับมองว่า การวิ่งเข้าใส่การถูกปฏิเสธ เป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง และอาจเป็นโอกาสให้ชีวิตได้พบเจอกับเรื่องราวดีๆ ที่คาดไม่ถึง และหากคุณยังคงถูกปฏิเสธ ขอให้คุณถามผู้ปฏิเสธว่ามีเหตุผลอะไรถึงได้ปฏิเสธคุณ และเหตุผลนี้เองที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ ทำให้คุณทำในสิ่งที่คุณต้องการอย่างถูกที่ถูกเวลา และถูกใจคนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น หากคุณผู้อ่านถูกปฏิเสธ ขอให้ใจแข็งถามเหตุผลเสียก่อนว่าเพราะอะไรคุณถึงถูกปฏิเสธ เพื่อนำเหตุผลเหล่านั้นมาพัฒนาตัวคุณเองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมจนไม่มีใครปฏิเสธคุณได้อีก


ผู้เขียนหวังว่า 3 วิธีที่ได้นำเสนอข้างต้นจะช่วยให้คุณผู้อ่านสามารถ “ลุก” ขึ้นใหม่อย่างสตรองและขอเป็นกำลังใจให้คุณผู้อ่านผ่านพ้นทุกอุปสรรค และยืนขึ้นใหม่ได้อย่างสวยงามนะคะ


 

iStrong ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย Contact : https://www.istrong.co/service

 

อ้างอิง :

1. Chip Conley. อะไรที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า.

สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2561

จากhttps://www.ted.com/talks/chip_conley_measuring_what_makes_life_worthwhile/transcript?language=th


2. Jia Jiang. สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก 100 วันกับการถูกปฏิเสธ.

สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2561

จาก https://www.ted.com/talks/jia_jiang_what_i_learned_from_100_days_of_rejection/transcript?embed=true&language=th

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page