สื่อสารกับคนรักอย่างไรไม่ชวนทะเลาะ
คุณๆทั้งหลาย ช่วงนี้คงได้เห็นข่าวดารารักร้าวหลายๆ คู่ผ่านทางสื่อต่างๆ ซึ่งสาเหตุการเลิกกันของหลายๆคู่นั้นไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดเจน คือ หลายคู่เข้าใจผิดเพราะ “การสื่อสาร” และหลายคนยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของตนเองเสียหายในสายตาประชาชนเพราะ “การสื่อสาร” ผ่านทาง Social Media ส่วนตัวบ้าง ผ่านทางการสัมภาษณ์บ้าง และกลับกัน ดาราหลายคนที่เป้นข่าวรักร้าว แต่กลับสัมภาษณ์ได้ดูดี ไม่สร้างความเสียหายให้ใคร กระแสสังคมจึงเห็นใจและให้กำลังใจอย่างมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ล้วนมาจาก “การสื่อสาร” ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับวิธี “สื่อสาร” ที่ช่วยเสริม ความสัมพันธ์ของคุณผู้อ่านกับคนที่คุณรักให้ยาวนานกันค่ะ
หัวใจของทุกความสัมพันธ์คืออะไร?
“การสื่อสาร”เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อความสุข และความเข้มแข็งของทุกความ
สัมพันธ์บนโลกใบนี้ เพราะ “การสื่อสาร” สามารถทำให้อีกฝ่ายเข้าใจความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ของผู้สื่อสาร และสามารถนำมาซึ่งความรู้สึกดีๆ อันก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
แต่ในทางกลับกัน หากผู้สื่อสารไม่สามารถสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมา และไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจกันได้อย่างถูกต้องชัดเจน หรือมีการตีความผิดพลาด ย่อมส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง และมีสัมพันธภาพที่ไม่ดีต่อกัน
โดย Mc Leod และ O’Keefe (1972) มีแนวคิดว่า การสื่อสาร มี 4 รูปแบบ คือ
1. แบบเห็นพ้องต้องกัน (Consensual)
เป็นลักษณะการสื่อสารที่ให้ความสำคัญกับประเพณีค่านิยมดั่งเดิม แต่ก็เปิดโอกาสให้คู่สนทนาได้แสดงความคิดเห็น แสดงออก รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน การสื่อสารรูปแบบนี้ ทำให้คู่สนทนารู้สึกเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน และมีการประนีประนอม
2. แบบเปิดเสรีทางความคิด (Pluralistic)
เป็นลักษณะการสื่อสารที่สนับสนุนให้คู่สนทนารู้จักพัฒนาความคิดของตนเอง กล้าแสดง ออก กล้าพูดคุย กล้าถกเถียง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่สำคัญ มีลักษณะการสื่อสารที่มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ยึดติดกับประเพณีค่านิยมมากนัก
3. แบบปกป้อง (Protective)
เป็นลักษณะการสื่อสารที่เข้มงวด ไม่เปิดโอกาสให้คู่สนทนาแสดงความคิดเห็นแม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม การสื่อสารรูปแบบนี้อาจนำไปสู่การต่อต้านแบบดื้อเงียบ
4. แบบปล่อยปละละเลย (Laissez-Faire)
เป็นลักษณะการสื่อสารที่ไม่มีแบบแผนยึดถือ เป็นไปอย่างอิสระ ไม่มีกรอบหรือแนวทางที่ชัดเจน คู่สนทนามีการสื่อสารกันน้อย และมักทำอะไรตามใจตนเอง
ซึ่งการนำรูปแบบการสื่อสารทั้ง 4 รูปแบบไปใช้นั้น Mc Leod และ O’Keefe ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรดูความเหมาะสมของความสัมพันธ์ และสถานการณ์ขณะสนทนาเป็นหลัก เพราะทั้ง 4 รูปแบบมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้
การสื่อสารที่ดีควรเป็นแบบไหน?
ในปี ค.ศ. 1993 Epsteinและคณะ ได้ทำการศึกษาเรื่องรูปแบบการสื่อสาร ซึ่งต่อมา กลายเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ถูกนำไปใช้มากในการทำจิตบำบัด และการให้คำปรึกษาครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยรูปแบบการสื่อสาร 4 รูปแบบด้วยกัน คือ
1. การสื่อสารที่มีเนื้อหาชัดเจนและตรงต่อบุคคลเป้าหมาย
(Clear and Direct Communication)
เป็นรูปแบบการสื่อสารที่ดีที่สุด เกิดขึ้นเมื่อสารที่ส่งมีเนื้อหาชัดเจน คือ ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และตรงต่อบุคคลเป้าหมาย
2. การสื่อสารที่มีเนื้อหาชัดเจนแต่ไม่ตรงต่อบุคคลเป้าหมาย
(Clear and Indirect Communication)
เป็นรูปแบบการสื่อสารที่สารที่ส่งมีเนื้อหาชัดเจน แต่บุคคลที่ต้องการส่งสารไปให้ ไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นได้
3. การสื่อสารที่มีเนื้อหาไม่ชัดเจนแต่ตรงต่อบุคคลเป้าหมาย
(Masked and Direct Communication)
เป็นรูปแบบการสื่อสารที่เกิดขึ้น มีการระบุตัวผู้ที่ต้องการสื่อสารด้วยชัดเจน แต่เนื้อหา ที่ต้องการสื่อไม่ชัดเจน
4. การสื่อสารที่มีเนื้อหาไม่ชัดเจนและไม่ตรงต่อบุคคลเป้าหมาย
(Masked and Indirect Communication)
เป็นรูปแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด เนื่องจากทั้งสารที่ส่งออกไปมีเนื้อหา ไม่ชัดเจน และไม่มีการระบุผู้ที่ต้องการจะสื่อสารด้วย
จากรูปแบบการสื่อสารข้างต้น คุณผู้อ่านจะเห็นได้ว่า รูปแบบที่ดีที่สุดคือการสื่อสารที่มีความชัดเจนทั้งเนื้อหาของสารที่ต้องการส่งและการระบุตัวบุคคลผู้ที่เราต้องการจะสนทนาด้วย เพราะมีความชัดเจน มีความคลาดเคลื่อนน้อย และยังทำให้ลดปัญหาในการสื่อสารลงได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันคนเราจะนิยมสื่อสารผ่าน Social Network เป็นส่วนใหญ่ เช่น Line Facebook เพราะสะดวก รวดเร็ว และราคาประหยัด ตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบได้ แต่การสื่อสารผ่านเครื่องมือดังกล่าวนั้น ก็ไม่อาจเข้ามาทดแทนการสื่อสารที่เป็นการพูดคุยแบบเห็นหน้ากันตัวต่อตัวได้
ดังนั้นผู้เขียนจึงขอฝากข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ต่อคุณผู้อ่านว่า การให้ความสำคัญต่อการสื่อสารในทุกความสัมพันธ์นั้น ย่อมทำให้สัมพันธภาพมีความแข็งแรง และทำให้ผู้ที่เรามีความสัมพันธ์ด้วยนั้นมีความสุขในความสัมพันธ์มากกว่า และยืนยาวกว่าอย่างแน่นอนค่ะ
อ้างอิง :
1. นวลฉวี ประเสริฐสุข
สื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างสุขในครอบครัว Veridian E-Journal, Slipakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2558. หน้า 737 – 747.
2. Mc Leod, J.M. & O’Keefe, G.J. (1972). Socialization perspective and communication
research. In F.G. Kline & P. Tichenor (Eds.), Current perspective in mass communications research (pp.121-168). Beverly Hills : Sage. 3. Epstein, N.B. et al. (1993). The Mc Master Model of Healthy Family Functioning. In Froma
Walsh (Eds.) Normal Family Processes (pp.138-160). New York : The Guilford Press.
댓글