5 วิธีสอนลูกให้มี Empathy ตามคำแนะนำนักจิตวิทยา
ในช่วงนี้คุณผู้อ่านคงได้ทราบข่าวทางสังคมที่ทำให้สะเทือนใจ และเกิดความสงสัยว่าเพราะอะไรคนถึงกลายเป็นฆาตรกรฆ่ากันอย่างง่ายดาย ถ้าอธิบายตามหลักจิตวิทยานั่นก็เพราะขาด Empathy ค่ะ ซึ่งเจ้า Empathy นี่แหละค่ะ ที่เป็นหัวใจหลักของอุดมคติที่เราคาดหวังให้มันเกิดขึ้นในสังคม หากเริ่มสงสัยกันแล้วว่า Empathy คืออะไร บทความนี้มีคำตอบค่ะ
Empathy เป็นศัพท์ทางจิตวิทยาค่ะ หากแปลเป็นไทยได้ใกล้เคียงที่สุด ก็คือ "ความเข้าอกเข้าใจ" ซึ่ง Empathy จะเป็นคนละเรื่องกับความสงสาร หรือความเห็นใจนะคะ เพราะความสงสาร หรือความเห็นใจ จะใกล้เคียงกับคำศัพท์จิตวิทยาอีกคำว่า "Sympathy" ซึ่งจะแสดงออกมาในทางสงสาร อยากให้ความช่วยเหลือ มีอารมณ์ มีความรู้สึกร่วมกับเรื่องนั้นๆ เช่น ดูคนนี้สิ ไม่มีข้าวจะกินน่าสงสารจัง หรือให้เงินช่วยเหลือเด็กกำพร้า เพราะสงสาร เห็นใจที่เด็กไม่มีใครดูแล เป็นต้น ซึ่ง Sympathy จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุค่ะ คือรอให้เรื่องมันเกิดขึ้นก่อนค่อยรู้สึกร่วมและให้ความช่วยเหลือ
แต่ Empathy จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุเลยค่ะ เพราะการมี Empathy จะทำให้เรา "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ซึ่งนักจิตวิทยาสายมนุษยนิยม มักจะใช้ในการฝึกผู้มารับการบำบัดกันมากค่ะ เพราะเมื่อเรา "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" เราจะเข้าอกเข้าใจคนอื่น เกรงใจคนอื่น คิดถึงคนอื่น คอยระวังการกระทำของตัวเอง ไม่ให้ไปเดือดร้อนคนรอบข้าง เข้าทำนองว่า "ถ้าไม่ชอบอะไร อย่าทำอย่างนั้น" และ "อยากได้อะไร ต้องให้เขาก่อน" ค่ะ
เพราะฉะนั้นแล้ว การที่เราปลูกฝังให้เด็กๆเรียนรู้ที่จะ Empathy เราก็จะปกป้องเขาจากการกลายเป็นนัก Bully ลดความเสี่ยงในการมีบุคลิกภาพแบบ Antisocial และลดเปอร์เซ็นต์ในการที่เขาจะโตขึ้นมาเป็นฆาตรกรได้ค่ะ
ในบทความนี้ จึงได้รวบรวมข้อเสนอแนะ จากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาในการสอนให้เด็กๆ มีความ Empathy ไว้ 5 วิธีด้วยกันค่ะ
1. ให้ความรักกับเด็กๆ แบบไม่กั๊ก หากเราต้องการปลูกฝังให้ลูกๆ หลานๆ ของเรารู้จักให้เกียรติคนอื่น รักคนอื่นแล้วละก็ เราก็ต้องให้ความรักกับเขามากๆ ซึ่งการให้ความรัก ณ ที่นี้ไม่ใช่การปรนเปรอเด็ก ๆ ด้วยของเล่น ของใช้ ของกินแพงๆ อย่างฟุ่มเฟือย เกินพอดี และไม่ใช่การสปอยด์เด็กๆ ด้วยการโอ๋ ตามใจ ทำให้ทุกอย่างจนเขาเข้าใจว่า ตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก แพ้ไม่เป็น ยอมไม่เป็น และแย่ที่สุด คือ ใช้ชีวิตไม่เป็น
ซึ่งสิ่งที่ว่ามาเหล่านี้ไม่ใช่ความรักค่ะ มันคือการทำร้ายเด็กๆ และยังไปทำร้ายคนที่อยู่รอบข้างพวกเขาด้วย แต่ "ความรัก" ที่ควรมอบให้เด็ก ๆ ก็คือ การแสดงออกอย่างจริงใจให้เด็กๆ เห็นว่า "พวกเขามีตัวตน" การแสดงให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขาสำคัญกับเรา การสนับสนุนให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถ ได้เรียนรู้โลก ได้ฝึกการใช้ชีวิต และเมื่อพวกเขาได้รับความรักจากเรามากพอ เขาจะรักตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง และคนที่รักตัวเอง จะให้เกียรติตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเองค่ะ และเมื่อเขารักตัวเองมากพอ เขาจะเผื่อแผ่ความรัก ไปถึงคนอื่นๆ ในสังคม และสิ่งอื่นๆ ในสังคมด้วยค่ะ
2. สอนให้เด็กรู้จัก "การให้" ต่อเนื่องจากข้อที่ 1 ค่ะ จากการให้ความรักแก่เด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะรักตัวเองแล้ว ขั้นต่อมาเราควรสอนให้เขาเรียนรู้ที่จะ "ให้" เพื่อส่งต่อความรักให้คนอื่น ซึ่งการ "ให้" ในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือ ให้เกียรติ ให้โอกาส ให้อภัย เพราะสิ่งเหล่านี้เด็กๆ สามารถทำได้ตามความสามารถของเขา และไม่ต้องใช้เงินทองอะไรเลยค่ะ และเมื่อเด็กๆ รู้จัก "การให้" เขาจะเห็นคุณค่าของคน เห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ รอบตัว และคนที่เห็นคุณค่าของคนอื่น จะไม่มีทางทำร้ายใครอย่างแน่นอนค่ะ
3. สอนให้เด็กๆ คิดถึงคนอื่น การสอนให้เด็กๆ คิดถึงคนรอบข้างเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสอนให้เด็กมี Empathy เพราะการคิดถึงคนอื่นจะทำให้เด็กๆ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และเมื่อเด็กๆ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เขาจะระลึกถึงทุกครั้งว่า การกระทำของเขาจะกระทบกับคนอื่นหรือไม่ เขาจะคิดถึงความรู้สึกของคนอื่น และเขาจะไม่ทำอะไรที่เขาไม่ชอบกับคนอื่น ซึ่งการเอาใจเขามาใส่ใจเรานี่แหละค่ะ เป็นหัวใจสำคัญ ทำให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้น เพราะทุกคนในสังคมคิดถึงความรู้สึกของคนรอบข้างนั่นเองค่ะ
4. สอนให้เด็กๆ ยืดหยุ่น "ความยืดหยุ่น" เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการใช้ชีวิตในสังคมเลยค่ะ เพราะหากเราคาดหวังและจริงจังกับทุกเรื่องในสังคมที่มีเรื่องไม่แน่นอนตลอดเวลา และคาดเดาอะไรไม่ได้แล้วละก็ ไม่นานเราจะป่วยเป็น "โรควิตกกังวล" "โรคเครียด" ซึ่งนำไปสู่ "โรคซึมเศร้า" และโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ค่ะ
ดังนั้น การฝึกให้เด็กๆ รู้จักการ "ช่างมัน" หรือรู้จักความ "ยืดหยุ่น" จะทำให้เด็กๆ ลดความเครียด ปรับความคาดหวังในการใช้ชีวิตในสังคมได้ ทำให้จิตใจเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกัน ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคจิตเวช ทำให้เป็นคนจุดเดือดสูง หัวร้อนยาก และที่สำคัญเขาจะเข้าใจสัจธรรมในการใช้ชีวิตค่ะ ว่า “ไม่มีอะไรแน่นอน” และเมื่อเขาเจอเรื่องผิดหวัง เขาจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วค่ะ
5. สอนให้เด็กๆ เปิดกว้าง การสอนให้เด็กๆ เปิดกว้าง เป็นขั้นพื้นฐานของการพัฒนา Vision หรือวิสัยทัศน์ของเด็กๆ ค่ะ วิธีการสอนให้เด็กๆ เปิดกว้างอย่างง่ายๆ ก็คือ การไม่ปลูกฝังอคติต่อคนที่แตกต่างให้เด็กจำ เมื่อเด็กๆ ไม่มีอคติต่อคนที่แตกต่างจากตัวเอง จะทำให้เขาไม่มีกำแพงใจในการเรียนรู้ การใช้ชีวิตจากความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรียนรู้มุมมองของเพื่อนต่างเพศ เรียนรู้ความคิดของเพื่อนต่างเพศวิถี เรียนรู้ความเชื่อจากเพื่อนต่างศาสนา เมื่อเด็กๆ เปิดกว้างได้มากเท่าไหร่ โลกของเขาก็จะกว้างมากขึ้นเท่านั้นและโลกกว้างมากเท่าไหร่ เขาจะเห็นแนวทางในการใช้ชีวิตที่หลากหลาย ให้คุณค่ากับทุกคนอย่างเท่าเทียม เด็กๆ จะไม่ Bullying ใคร และเปิดใจให้กับทุกสิ่งค่ะ
บทความแนะนำ “ประสบความสำเร็จเริ่มต้นที่รักตัวเอง”
หากเราทุกคนต้องการให้สังคมไทยของเราปลอดภัย น่าอยู่ และทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข Empathy นี่แหละค่ะ คือคำตอบ ดิฉันหวังว่า 5 ข้อที่ได้แนะนำไป จะช่วยในการฝึกเด็กๆ และตัวคุณผู้อ่านเองให้มี Empathy มากขึ้นนะคะ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
.
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
Comentarios