top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 เหตุผลที่เปิดเผยว่าทำไมการออกกำลังกายถึงดีต่อสุขภาพใจ


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยไปพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือเคยอ่านบทความเกี่ยวกับการเสริมสร้างความแข็งแรงของสุขภาพใจ คุณจะพบว่าหนึ่งในคำแนะนำที่มักจะมีอยู่ในนั้นเสมอก็คือ “การออกกำลังกาย” โดยหลายคนอาจจะพอทราบมาบ้างแล้วว่าการออกกำลังกายนั้นดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างไร แต่ในมิติของสุขภาพใจนั้นมันมีผลดีอย่างไร ในบทความนี้มีคำตอบค่ะ

ประโยชน์ของการออกกำลังกายที่มีต่อสุขภาพใจ


1. ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น

การทำกิจกรรมที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำซึ่งรวมไปถึงการออกกำลังกายนั้น มีส่วนช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้า (depression) ได้ โดยเหตุผลก็คือเมื่อคุณออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสม ร่างกายจะหลั่งสารที่เรียกว่า “endorphins” ซึ่งเป็นสารเคมีในร่างกายตามธรรมชาติที่มีฤทธิ์ในการระงับความเจ็บปวด (painkillers) และการยกระดับอารมณ์ให้ดีขึ้น (mood elevators)


2. ช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล

ในช่วงเวลาที่คุณกำลังออกกำลังกายมันจะสามารถช่วยให้คุณหันเหความสนใจไปจากความคิดทางลบที่ทำให้คุณเครียดและวิตกกังวลได้ เนื่องจากคุณต้องโฟกัสอยู่กับร่างกายของคุณ รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อทำให้สามารถรับมือกับการหดเกร็งหรือตึงตัวของกล้ามเนื้อในช่วงเวลาที่คุณรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล


3. ช่วยเพิ่ม self-esteem

การออกกำลังกายในแต่ละครั้งจะทำให้คุณรู้สึกว่าตนเองสามารถบรรลุเป้าหมายของการออกกำลังกายในแต่ละวันได้ เช่น วันที่ 1 คุณตั้งใจว่าจะทำตามคลิปที่มีความยาว 20 นาทีและคุณสามารถทำได้สำเร็จ คุณก็จะเกิดความรู้สึกดีกับตัวเอง นอกจากนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจะให้ผลในระยะยาวก็คือ คุณจะมีรูปร่างที่กระชับและแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


4. ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น

การออกกำลังกายช่วยให้คุณภาพของการนอนหลับดีขึ้น โดยการออกกำลังกาย เช่น แอโรบิคอย่างน้อย 30 นาที จะส่งผลต่อกระบวนการทำงานของสมองและร่างกายที่ทำให้สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น


5. ช่วยเพิ่มความสามารถด้านการคิด

การออกกำลังกายส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายโดยเฉพาะสมองได้รับปริมาณออกซิเจนมากขึ้นในระหว่างที่ออกกำลังกาย ซึ่งช่วยให้ความสามารถด้านการคิด สมาธิ ความจำ และทักษะในการแก้ไขปัญหาดีขึ้นตามไปด้วย


อยากออกกำลังกายแต่รู้สึกจิตใจอ่อนล้าจนไม่รู้จะเริ่มยังไง?

หลายคนทราบดีว่าการออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์ยังไงบ้าง หรือผู้ป่วยที่ไปพบจิตแพทย์ก็มักจะได้รับคำแนะนำว่าให้ออกกำลังกาย แต่ก็อาจจะติดปัญหาที่ว่าไม่รู้จะเริ่มยังไงเพราะรู้สึกว่าสภาพจิตใจของตัวเองมันอ่อนล้า แค่คิดว่าจะเริ่มก็ไม่ไหวแล้ว ด้านล่างนี้จะเป็นคำแนะนำที่อาจจะพอช่วยคนที่กำลังเป็นแบบนี้ได้ค่ะ

  • เริ่มจากอะไรที่ง่ายและทำได้ก่อน

หากคุณอยู่ในสภาพอ่อนล้าไปหมดทั้งกายใจแล้วคุณคิดที่จะออกกำลังกายแบบคาดิโอหนัก ๆ มันก็อาจจะโหดร้ายกับตัวเองมากเกินไป ในช่วงเริ่มต้นควรเริ่มจากอะไรที่ง่ายและคุณสามารถทำได้จริง ๆ ก่อน เช่น การบริหารร่างกายด้วยท่าทางที่ง่าย ๆ ไม่หักโหมจนกระหืดกระหอบเพราะคุณอาจจะเข็ดจนไม่ยอมออกกำลังกายอีกเลย

  • เลือกวิธีออกกำลังกายที่ตัวเองชอบ

การออกกำลังกายมีหลายรูปแบบ ลองเลือกวิธีที่คุณทำแล้วรู้สึกสนุก ไม่ฝืนตัวเอง และรู้สึกดีเวลาที่ได้ทำซึ่งแล้วแต่บุคคลว่าความชอบของตนเองคืออะไร เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้น รำมวยจีน โยคะ ฯลฯ

  • หาคนมาออกกำลังกายเป็นเพื่อน

คุณอาจจะไปแจมกับกลุ่มออกกำลังกายหรือชมรม เพื่อให้รู้สึกว่ามีเพื่อนในการออกกำลังกาย มันจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการออกกำลังกายให้กับคุณได้ หรือหากคุณเป็นคนที่ไม่ชอบสุงสิงกับใครคุณก็อาจจะหาคลิปที่มีคนออกกำลังให้ดู แล้วทำตามที่บ้านก็ได้

  • พยายามออกกำลังกายตามตารางที่กำหนด

ลองทำตารางการออกกำลังกายของตนเองเอาไว้คร่าว ๆ เช่น ทำวันเว้นวัน วันละ 30 นาที ในช่วงเวลา 5 โมงเย็น ซึ่งการที่คุณออกกำลังกายตามตารางที่กำหนดมันจะทำให้คุณเกิดความเคยชินจนเป็นนิสัย เมื่อถึงเวลาดังกล่าวคุณจะรู้สึกขึ้นมาโดยอัตโนมัติว่ามันคือเวลาที่คุณต้องออกกำลังกาย

  • หาตัวช่วย

การออกกำลังกายโดยเฉพาะในครั้งแรก ๆ มักทำให้คุณรู้สึกว่ามันยากเกินกว่าที่ตัวเองจะทำได้ สำหรับคนที่สะดวกก็อาจจะหาตัวช่วยเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น นักจิตบำบัด เทรนเนอร์ออกกำลังกาย ที่จะสามารถช่วยให้คุณกำหนดเป้าหมายและกระตุ้นให้คุณทำตามตารางไม่ทำตามอารมณ์


อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าในบทความนี้ตั้งใจที่จะชวนให้คุณออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพใจของตัวคุณเอง การบีบคั้นตัวเองให้ออกกำลังกายจนรู้สึกผิดเมื่อตัวเองไม่ออกกำลังกายจึงเป็นอะไรที่ไม่ควรทำ เพราะมันจะกลายเป็นการบั่นทอนจิตใจมากกว่าที่จะดีต่อใจ ดังนั้น อันดับแรกขอให้คุณตั้งเป้าหมายของการออกกำลังกายเอาไว้ให้เหมาะสม และหากทำไม่ได้ตามเป้าหมายก็อย่าใจร้ายกับตัวเองนะคะ



iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย

 

อ้างอิง


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page