top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 วิธีการเรียนรู้ที่จะให้อภัย (Forgiveness) เพื่อทำให้ชีวิตที่มีความสุข


การให้อภัย เป็นยาขนานวิเศษอีกตัวหนึ่งที่สามารถช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้ เมื่อเรารู้สึกโกรธแค้นคนที่ทุกข์ใจที่สุดก็คือตัวเราเอง ยิ่งเรายึดติดกับความโกรธแค้นนั้นมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อตัวเราเองมากเท่านั้น ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปล่อยวางและให้อภัย จึงมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของเราอย่างมาก

มนุษย์แต่ละคนมีการมองโลก และตีความเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและประสบการณ์ของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเรามักหลงลืมความจริงในข้อนี้ และด้วยความแตกต่างของมุมมอง บ่อยครั้งจึงทำให้เป็นสาเหตุของความบาดหมางเกิดขึ้นได้ เรามักจะรู้สึกเจ็บปวดและเสียใจจาก

การกระทำของคนที่เรารัก และแคร์ มากกว่าคนอื่นทั่วไป เพราะเรามีความรู้สึกต่อคนๆ นั้นมากๆ การเรียนรู้ที่จะให้อภัย จะทำให้เราหันมามองเห็นมุมมองความแตกต่างที่เกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การให้อภัย ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถทำได้ภายในเวลาอันสั้น การให้อภัยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา จึงจะสามารถทำได้ ซึ่งแต่ละคนก็ใช้เวลามากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งก่อนที่เราจะสามารถให้อภัยได้นั้น เราจะต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดอยู่กับความรู้สึกนั้น ตกตะกอนกับ

เรื่องราวที่เกิดขึ้น ก่อนจะนำมาถึงขั้นตอนการยอมรับ และให้อภัย

การให้อภัย ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความอ่อนแอ หลายคนคิดว่าการที่เราให้อภัยคนที่ทำให้เราเจ็บปวด

คือการยอม และนั่นคือความพ่ายแพ้ ซึ่งไม่จริงเลย การให้อภัย ในทางกลับกัน คือการแสดงความเข้มแข็ง และความรักตัวเองอย่างแท้จริง


การที่จะให้อภัยใครสักคนได้ นั่นหมายความว่า เราจะต้องผ่านกระบวนการที่จะต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด เราเข้มแข็งพอที่จะก้าวข้ามจุดนั้นๆ ในชีวิต และปล่อยให้เรื่องราวที่ทำร้ายจิตใจเราได้อยู๋ในอดีต เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้อภัยเพื่อสุขภาพจิตของตัวเอง เพื่อให้เราสามารถเดินหน้าต่อไปในชีวิตได้อย่างมีความสุขที่แท้จริง

ความโกรธแค้น มีผลทั้งต่อสุขภาพจิต และร่างกายของเรา มีการศึกษาพบว่า การที่เรายึดติดความโกรธแค้นนั้น ๆ เอาไว้ มีผลต่อ ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อร่างกาย รวมไปถึงภาวะความเครียด และความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย ดังนั้น ถ้าเรารักตัวเองมากพอ เราจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเอง ใช้ชีวิตอีกแม้แต่เพียงหนึ่งวัน กับความรู้สึกโกรธแค้นนี้เลย

คำถามต่อไปก็คือ ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถให้อภัยคนที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดได้ วันนี้แพรมี 4 วิธี

การในการจัดการกับความรู้สึกตัวเอง เพื่อที่จะสามารถให้อภัยกับคนที่ทำร้ายเราได้ มาฝากกันค่ะ

1. ระบุว่าใครทำให้เรารู้สึกเป็นทุกข์ อะไรที่ให้เราเป็นทุกข์ และอะไรที่เราจะต้องให้อภัย

เมื่อเรารู้สึกโกรธแค้น ให้เราระบุว่า ใครทำให้รู้สึกโกรธแค้นนั้น ซึ่งอาจจะเป็นคนรักของเรา และถามตัวเองต่อว่า อะไรที่ทำให้เราทุกข์ใจ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ เขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังให้เขาเป็น สุดท้าย เราจะต้องระบุว่า เราจะให้อภัยเขาในเรื่องอะไร ซึ่งในกรณีตัวอย่างนี้ เราอาจจะให้อภัย ในสิ่งที่เขาทำและมีผลกระทบต่อจิตใจเรา เข้าใจว่า เขาก็คือคนๆ หนึ่ง และความทุกข์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงความคาดหวังของเราเท่านั้น เป็นต้น

2. อยู่กับความรู้สึกนั้นๆ

อย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ มีจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ดังนั้น เราจึงรู้สึก โกรธ เสียใจ และทุกข์ใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

ก่อนที่เราจะสามารถยอมรับความจริง เรียนรู้ และให้อภัยได้ เราจะต้องสามารถเผชิญหน้ากับความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อเรากำลังอยู่ในขั้นตอนนั้น ก็ปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึก ได้ร้องไห้ ได้เศร้าเสียใจ และผ่านมันมาให้ได้

3. ทำความเข้าใจว่า การให้อภัย ให้ประโยชน์อย่างไรกับตัวเรา

การให้อภัยไม่ใช่เรื่องง่าย มันคือการแสดงความเข้มแข็งและรักตัวเองมากๆ เมื่อเรารักตัวเอง เราจะอยากให้ตัวเราก้าวไปข้างหน้า มีสุขภาพที่ดี และมีความสุข ดังนั้น การตระหนักว่า การให้อภัยดีต่อเราอย่างไร เราจะสามารถ ให้อภัยได้

4. ให้อภัยและเรียนรู้

การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น และเป็นเพื่อนที่ดี กับคนที่เคยทำร้ายเราได้ การให้อภัย เป็นการปล่อยวางจากความโกรธแค้นที่อยู่ภายในจิตใจของเรา แต่เราควรเรียนรู้จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น และนำมันมาใช้ในการก้าวต่อไป อย่างดีกว่าเดิม

Love yourself

สุดท้ายนี้แพรขอยก Quote ของ Oprah Winfrey พิธีกรผิวสีชาวอเมริกัน ชื่อดังที่ได้พูดเกี่ยวกับการให้อภัยไว้ดังนี้

“Forgiveness is giving up the hope that the past could be any different”

“การให้อภัย คือการปล่อยวางความหวังที่ว่า เราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอดีตได้”

ซึ่งแพรเห็นด้วยมากๆ ไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่ไม่เคยทำผิดพลาด หรือเจอกับเรื่องราวที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในชีวิต สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือการเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นและใช้เรื่องราวนั้นๆ มาทำให้ชีวิตเราดีกว่าเดิม อย่าลืมนะคะว่า เราเลือกได้เสมอว่า เราจะตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจัดการกับมันอย่างไร จะยอมอ่อนแอ จมอยู่กับความทุกข์ หรือลุกขึ้นมาต่อสู้ สร้างชีวิตใหม่ที่เราต้องการอย่างมีความสุข ทุกอย่างอยู่ในมือเราค่ะ

____________________________________________________

iStrong ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page