top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 วิธีเสริม Self-Efficacy ให้แข็งเกร่งด้วยความคิดสร้างสรรค์

ว่าด้วยเรื่อง Self-Efficacy หรือการรับรู้ความสามารถตนเอง ใคร ๆ ก็อยากที่จะมีถูกไหมคะ เพราะผลงานวิจัยทางจิตวิทยาหลายงานได้บอกไว้ว่า Self-Efficacy คือกุญแจของการประสบความสำเร็จในชีวิต และวิธีหนึ่งที่นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำว่าสามารถส่งเสริมให้ Self-Efficacy ของเราแข็งแกร่ง ก็คือการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ค่ะ ซึ่งวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น ดิฉันขอนำข้อเสนอแนะของ เดวิด เอ็ม เคลลีย์ (David M. Kelley) ผู้ก่อตั้ง บริษัท ออกแบบ IDEO และอาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) มานำเสนอด้วยกัน 3 วิธีค่ะ

1. อดทนต่อคำวิจารณ์

อาจมีบ่อยครั้งที่เราต้องหยุดชะงักกิจกรรมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเราด้วยเสียงวิจารณ์ของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น “นี่เสียงร้องเพลงเหรอ เราคิดว่าเสียงอึ่งอ่างหน้าฝน” “โห นี่วาดภาพหรือละเลงสีกันแน่” “เธอปั้นดินน้ำมันให้เป็นม้า หรือก้อนอะไรกัน” ซึ่งคำพูดเหล่านี้ คนพูด อาจไม่คิดอะไร หรือมองว่าแค่พูดขำ ๆ แต่คนฟังไม่ขำนะจ๊ะ เพราะทุกคำพูดนั้นได้เสียดแทงในจิตใจคนฟัง และทำลายความเชื่อมั่นของคนฟังไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง เดวิด เอ็ม เคลลีย์ (David M. Kelley) ได้ทำวิจัยเรื่องความกลัวในนักศึกษา และพบว่า นักศึกษาที่มองว่าตนล้มเหลว จะมีความกลัวการถูกวิจารณ์สูง เพราะฉะนั้นแล้ว วิธีแรกในการส่งเสริมให้ Self-Efficacy ของเราแข็งแกร่ง ก็คือ การอดทนต่อคำวิจารณ์ค่ะ เพราะหากเราหมั่นฝึกฝนพัฒนาตัวเองในสิ่งที่เราชอบ ในกิจกรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เราจะทำได้ดีขึ้น และประสบความสำเร็จได้แน่นอน

2. ลดความกลัวต่ออุปสรรค

เนื่องจาก เดวิด เอ็ม เคลลีย์ (David M. Kelley) เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จึงทำให้เขาได้มีโอกาสได้ทำการวิจัยร่วมกับนักจิตวิทยาอาวุโสชื่อดัง ชื่อว่า อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) ซึ่งเชื่อว่าคุณผู้อ่านที่เคยอ่านงานด้านจิตวิทยาคงจะคุ้น ๆ หูกันแน่นอนค่ะ ซึ่งนักจิตวิทยาท่านนี้โด่งดังเรื่องการลดความกลัว และจากข้อที่แล้วที่ เดวิด เอ็ม เคลลีย์ (David M. Kelley) ได้ทำการวิจัยเชิงจิตวิทยาเรื่องความกลัว จึงได้มาศึกษาเรียนรู้วิธีการลดความกลัวจาก อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) และพบว่า เราสามารถลดความกลัวด้วยวิธีการ Relaxation หรือวิธีทางจิตบำบัดอื่น ๆ ได้ และเมื่อความกลัวของคนเราลดลงเราจะกล้าทำในสิ่งที่เรากลัว เช่น การนำเสนอในที่ประชุม การทดลองทำงานที่ท้าทาย การฝึกทักษะ ที่ไม่ถนัด เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว หากคุณผู้อ่านรู้สึกว่าความกลัวในบางเรื่อง เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในชีวิต ลองนำวิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำ เรื่องการลดความกลัวต่ออุปสรรคด้วยวิธีการ Relaxation ซึ่งสามารถเริ่มด้วยวิธีง่าย ๆ คือ หายใจเข้า - หายใจออก ลึก ๆ ช้า ๆ ก็สามารถทำให้ใจที่เต้นแรงเมื่อเรากลัว เต้นช้าลงได้แล้วค่ะ หรือหากคุณผู้อ่านสนใจเรื่องการลดความกลัวด้วยวิธีการจิตบำบัดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่นักจิตวิทยาในโรงพยาบาลใกล้บ้านท่านได้เลย นะคะ (ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีนักจิตวิทยาอยู่ค่ะ แต่หากคุณผู้อ่านเป็นผู้ที่อยู่ใกล้กันโรงพยาบาลส่วนน้อย หรือไม่สะดวกเดินทางไปพบนักจิตวิทยา ก็สามารถติดต่อทาง iSTRONG ได้นะคะ) ซึ่งนอกจากเราจะสามารถลดความกลัวได้แล้ว เรายังสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และเสริม Self-Efficacy ได้อีกด้วยค่ะ

3. ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุก

หนึ่งในแนวทางการประยุกต์ความคิดสร้างสรรค์เพื่อลดความกลัวต่ออุปสรรค หรือเสริม Self-Efficacy ก็คือ การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุกค่ะ ซึ่ง เดวิด เอ็ม เคลลีย์ (David M. Kelley)

ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจในเวทีTed Talk ไว้ว่า เพื่อนของเขาซึ่งเป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้ออกแบบเครื่องสแกนร่างกายเด็ก หรือเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) สำหรับเด็ก และตอนทดสอบเครื่องนั้น เพื่อนของ เดวิด เอ็ม เคลลีย์ (David M. Kelley) ได้บอกกับเด็กๆ กลุ่มตัวอย่างว่า เรากำลังเล่นเกมซ่อนตัวจากโจรสลัด โดยการขึ้นเรือลำใหญ่ (เรือลำใหญ่คือเครื่องสแกนหรือเครื่อง MRI) และเมื่อขึ้นไปแล้วต้องอยู่นิ่ง ๆ เพื่อไม่ให้โจรสลัดพบตัว ซึ่งเด็ก ๆ สนุกสนานกับการทดสอบเครื่องมากค่ะ ในทางกลับกันหากเพื่อนของ เดวิด เอ็ม เคลลีย์ (David M. Kelley) บอกเด็กไปตรง ๆ ว่าเดี๋ยวจะเข้าเครื่องสแกนนะ ให้อยู่นิ่ง ๆ เด็กอาจกลัว และไม่ให้ความร่วมมือแน่นอนค่ะ แต่พอเขาเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุก โดยการเปลี่ยนจากให้เด็กเข้าไปในเครื่องสแกน เป็นการชวนให้เด็กเล่นแทน วิธีนี้นอกจากจะทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังทำให้เด็กมี Self-Efficacy ที่แข็งแกร่งขึ้นโดยไม่รู้ตัวด้วยค่ะ หากคุณผู้อ่านท่านใดสนใจวิธีนี้ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้นะคะ ทั้ง 3 วิธีที่ได้นำเสนอมานั้น ดูน่าสนใจไม่น้อยเลยนะคะ หากคุณผู้อ่านนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงแล้วได้ผลอย่างไร อย่าลืมเล่าให้ iSTRONG ฟังบ้างนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : David Kelley. March 2012 .How to build your creative confidence. (Online). From : https://www.ted.com/talks/david_kelley_how_to_build_your_creative_confidence

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.

มหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA

มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี

ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page