top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

8 อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลที่นักจิตวิทยาแนะให้ระวัง

หลายท่านอาจไม่ทราบว่าฤดูกาลที่เปลี่ยน จากฤดูร้อนสู่ฤดูฝน จากฤดูฝนสู่ฤดูหนาว สามารถทำให้คนบางกลุ่มป่วยเป็น “โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล” ได้เลยละ ว่าแต่เจ้าโรคนี้คืออะไรกันนะ มาฟังนักจิตวิทยาไขข้อข้องใจกันเลยค่ะ



โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลคืออะไร ?


โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล มีชื่ออย่างเป็นทางการตามตำราจิตวิทยาว่า SAD (Seasonal Affective Disorder) หรือ โรคซึมเศร้าเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล โดยมักพบได้มากในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีฤดูหนาวที่ยาวนาน เช่น ประเทศในแถบยุโรปเหนือ ประเทศแถบอเมริกาเหนือตอนบน เป็นต้น แต่ก็ยังพบได้มากพอสมควรในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เปลียนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน หรือเปลี่ยนจากสภาพอากาศร้อนเข้าสู่อากาศหนาว ซึ่งนักจิตวิทยาแนะให้พึงระวัง 8 อาการของผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ดังนี้ค่ะ


1.รู้สึกหมดหวัง ไร้ค่า หรือซึมเศร้าต่อเนื่องเรื้อรังเป็นเวลานาน

2.หมดความสนใจในสิ่งที่ตนเองเคยสนใจ เบื่อในสิ่งที่เคยชอบ

3.อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง หมดความกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ

4.ง่วงนอนตลอดเวลา หรือมีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท นอนเยอะผิดปกติ เป็นต้น

5.มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป หรืออยากรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมากกว่าปกติ เบื่ออาหาร รับประทานอาหารน้อยผิดปกติ เป็นต้น

6.ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้นาน วอกแวกง่าย

7.เก็บตัว ไม่ต้องการออกไปพบปะผู้อื่น เบื่อสังคม เบื่อเพื่อน เบื่อแม้แต่คนในครอบครัวตัวเอง

8.หมกมุ่นกับเรื่องความตาย หรือคิดฆ่าตัวตาย


หากคุณผู้อ่านหรือคนใกล้ชิดมีอาการครบทั้ง 8 ข้อด้านบน ขอแนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยด่วยเลยค่ะ เพราะอันตรายต่อตัวเขาเองอย่างมากเลย และหากปล่อยไว้นานเกินไป จะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นโรคซึมเศร้า (Major Depressive) จริง ๆ ได้ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคอ้วน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเบาหวานและโรคหัวใจได้ด้วย โรควิตกกังวล โรคแพนิค และโรคกลัวการเข้าสังคม อาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และที่น่ากังวลที่สุด คือ การทำร้ายตัวเอง การคิดฆ่าตัวตาย หรือการพยายามฆ่าตัวตาย





สาเหตุของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล


ในทางจิตเวช ณ ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลค่ะ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาสันนิษฐานว่าเกิดจากช่วงเวลากลางวันหรือระยะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ในแต่ละวันน้อยลง จึงไปทำให้นาฬิกาชีวิตของเราที่ควรจะหลับ – ตื่นเป็นเวลารวน หรือผิดปกติไป ทำให้สารเคมีที่ควบคุมการนอนที่ชื่อ “เมลาโทนิน” (Melatonin) หลั่งออกมาผิดปกติ รวมถึงทำให้สารเคมีที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ที่ชื่อ “เซโรโทนิน” (Serotonin) แปรปรวน จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคซึมเศร้า ตามฤดูกาลนั่นเองค่ะ โดยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความระวังเป็นพิเศษของโรคนี้ ก็คือ เพศหญิง ผู้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ที่มีคนในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะกลุ่มอาการอารมณ์แปรปรวน และผู้ที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวยาวนานค่ะ



โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

การรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล สามารถทำได้ 3 วิธีใหญ่ ๆ ด้วยกัน ก็คือ


1.การรับประทานยา

โดยจิตแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า เพื่อบรรเทาอาการป่วย โดยมักรับประทานยาตั้งแต่ก่อนถึงช่วงฤดูที่ภาวะซึมเศร้าจะกำเริบเพื่อป้องกันอาการซึมเศร้า


2.การทำจิตบำบัด

เป็นการการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล โดยการบำบัดพฤติกรรมและความคิดจากนักจิตวิทยา ซึ่งเป็นการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อรับมือกับภาวะซึมเศร้าอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการรับมือกับภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตนเอง และไม่กลับมาป่วยซ้ำอีกในอนาคต


3.การบำบัดด้วยแสง

อย่างที่ได้บอกไปว่า โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลมีสาเหตุมาจากสารเคมี 2 ตัวที่ผิดปกติ คือ เมลาโทนิน และเซโรโทนิน ซึ่งเป็นผลมาจากที่ระยะเวลากลางวันสั้นลง ดังนั้น นักจิตวิทยาจึงมีแนวทางการรักษาอีกรูปแบบหนึ่งคือ การให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสงที่จำลองมาจากแสงอาทิตย์วันละประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน เพื่อปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล แต่วิธีนี้ก็มีผลข้างเคียงต่อร่างกายไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังไหม้แดด สายตาฝ้าฟาง น้ำในตาเสื่อม เป็นต้น เพราะได้รับแสงแดดมากเกินไป





ถึงแม้ว่าโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลจะพบได้น้อยกว่า และมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะรักษาให้หายขาดง่ายกว่าโรคซึมเศร้า (Major Depressive) แต่โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลก็มีอันตรายและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยไม่น้อยไปกว่ากันเลยค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วหากคุณผู้อ่านหรือคนใกล้ชิดมีอาการครบทั้ง 8 ข้อ ตามที่นักจิตวิทยาแนะให้พึงระวัง ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยเร็วที่สุดเลยนะคะ

 

iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย



 

อ้างอิง : พบแพทย์. ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (SAD). (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2562 จาก https://www.pobpad.com

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page