top of page

สัญญาณเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่าคุณเคยมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma)

Updated: Mar 13

iSTRONG สัญญาณเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่าคุณเคยมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma)

ในปัจจุบันแวดวงจิตบำบัดเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma) กันมากขึ้นซึ่งบางกลุ่มก็เรียกองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “trauma-informed care” โดยมีมุมมองว่าพฤติกรรมบางอย่างที่รบกวนการใช้ชีวิตของบุคคลที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่นั้นได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ที่ทำให้เกิดบาดแผลทางใจในวัยเด็ก


นอกจากนี้ ในข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกาก็พบว่ามีผู้ใหญ่ 64% ที่ระบุว่าเคยมีประสบการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นกับตัวเองในช่วงที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี โดยในจำนวนนั้นมี 17.3% ที่ระบุว่าเคยมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กอย่างน้อย 4 รูปแบบเกิดขึ้นกับตัวเอง


ซึ่งข้อมูลนี้เป็นเพียงเสี้ยวส่วนของเรื่องบาดแผลทางใจในวัยเด็กที่ผู้เขียนได้ไปอ่านเจอมา และยังไม่นับถึงคนที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองมีบาดแผลทางใจในวัยเด็กแต่ว่ามันจะไปปรากฏอยู่ในอาการที่คล้ายกับ Post-traumatic stress disorder (PTSD) อย่างไรก็ตาม มุมมองแนวคิดที่เกี่ยวกับบาดแผลทางใจนั้นมีหลายมุมมอง


โดยหนึ่งในนั้นก็คือมุมมองจากทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) ที่มองว่ารูปแบบความผูกพันระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูหลักมีผลต่อรูปแบบความผูกพันที่บุคคลในวัยผู้ใหญ่มีต่อบุคคลอื่นโดยเฉพาะกับคู่รัก ซึ่งรูปแบบความผูกพันมี 4 รูปแบบ ดังนี้


1. มั่นคง (Secure) 

เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ดีและช่วยให้เกิด Self-esteem ในระดับที่เหมาะสม


2. สับสน (Ambivalent) 

เป็นความสัมพันธ์ที่สับสนไม่มั่นใจ (เพราะอาจจะโตมากับผู้เลี้ยงดูหลักที่เอาแน่เอานอนไม่ได้) เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นกังวลเมื่อต้องห่างกับคนรัก กลัวว่าคนรักจะทอดทิ้งไปก็เลยไม่ยอมให้คลาดจากสายตา


3. หลีกหนี (Avoidant) 

เป็นความสัมพันธ์แบบที่มีปัญหากับการใกล้ชิดผูกพัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็กลัวการถูกทอดทิ้งเหมือนกันแต่เลือกใช้พฤติกรรมแบบหลีกหนีไม่ยอมให้ใครมาเข้ามามากจนเกินไป (ไม่ผูกพันกับใครเพราะไม่อยากถูกทิ้งในภายหลัง)


4. ไม่เป็นระเบียบ (Disorganized)

เป็นความสัมพันธ์ที่บางทีก็อาจจะไปคล้ายกับความสัมพันธ์ที่ตัวเองเคยมีกับผู้เลี้ยงดูหลัก (โดยส่วนมากมักจะเกิดกับเด็กที่เคยถูกผู้เลี้ยงดูหลักทารุณกรรม)


สัญญาณอื่น ๆ ที่อาจบ่งบอกว่าคุณเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้เกิดบาดแผลทางใจในวัยเด็ก

  • มี Self-esteem ต่ำ 

  • รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า

  • มีอาการของโรคซึมเศร้า

  • มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง 

  • มีปัญหาในการเชื่อใจคนอื่น 

  • มีความคิดฆ่าตัวตาย

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการติดสุราและ/หรือการใช้สารเสพติด

  • มีปัญหาที่เกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น ละเมอเดิน นอนฝันร้าย รู้สึกกลัวช่วงเวลากลางคืน

  • มีอาการกลุ่มวิตกกังวล เช่น โรควิตกกังวล โรคแพนิค โรคย้ำคิดย้ำทำ

  • มีปัญหาที่เกี่ยวกับการจดจ่อตั้งสมาธิ หรือมีอาการที่สัมพันธ์กับโรคสมาธิสั้น

  • มีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อ่อนเพลียเรื้อรัง


อย่างไรก็ตาม เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณแต่ก็ไม่ได้บอกว่าทุกคนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นบุคคลที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก ซึ่งหากคุณมีความสงสัยว่าตนเองมีปัญหาอารมณ์พฤติกรรมที่ไม่มั่นใจว่ามันจะเกี่ยวข้องกับบาดแผลทางใจในวัยเด็กของตนเองก็ควรปรึกษาผู้ที่มีคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญในด้านบาดแผลทางใจโดยเฉพาะเพื่อจะได้ทราบอย่างแน่ชัดว่าสาเหตุของปัญหาอารมณ์เกิดจากอะไรและเพื่อหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมกับกรณีของตนเอง


How to ฮีลบาดแผลทางใจในวัยเด็กอย่างเหมาะสม

สำหรับผู้เขียนแล้ว ในการที่จะเยียวยาบาดแผลทางใจในวัยเด็กอย่างเหมาะสมนั้นทำได้ไม่ง่ายเลย เพราะนอกจากมันจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากแล้ว มันยังต้องอาศัยทักษะมากมายในการก้าวข้ามอีกด้วย แต่ข่าวดีคือคุณไม่จำเป็นต้องก้าวข้ามมันตามลำพังอย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากในปัจจุบันมีจิตบำบัดรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอย่างหลากหลายซึ่งจะมาเป็นตัวช่วยให้กับคุณได้เป็นอย่างดี เช่น


- จิตบำบัดด้วยการปรับความคิดพฤติกรรมสำหรับผู้ที่มีความเครียดหลังผ่านเหตุสะเทือนใจ (Trauma-focused cognitive behavioral therapy)

- จิตบำบัดด้วยการประมวลผลทางความคิด (Cognitive processing therapy)

- จิตบำบัดด้วยการเขียนออกมา (Written expressive therapy) 


โดยจิตบำบัดที่ผู้เขียนกล่าวถึงในข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจิตบำบัดที่เหมาะกับกรณีของคนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก ซึ่งในความเป็นจริงนั้นยังมีอีกมากมายหลากหลายวิธีการที่ผู้เขียนไม่ได้นำมากล่าวถึงในบทความนี้ แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกพบนักจิตบำบัดเพื่อรับความช่วยเหลือในการเยียวยาบาดแผลทางใจในรูปแบบใดก็ตาม


สิ่งแรก ๆ ที่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก็คือความปลอดภัยของตัวคุณเองทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ วิธีการของนักจิตบำบัดจึงไม่ควรเป็นวิธีการที่ยังไม่ได้รับการรับรองในระดับสากล และตัวนักจิตบำบัดเองก็จะต้องมีคุณวุฒิรับรองว่ามีความรู้ความสามารถในทฤษฎีจิตบำบัดที่เหมาะสมต่อการนำมาใช้กับกรณีของผู้ที่มีบาดแผลทางใจโดยเฉพาะ


นอกจากนั้น หากคุณรู้สึกว่าบริการของนักจิตบำบัดกลับกลายเป็นทำให้คุณมีอาการที่แย่ลงไปกว่าเดิม เช่น มีความคิดฆ่าตัวตายบ่อยขึ้น เริ่มมีการลงมือทำร้ายตนเองหนักขึ้น ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจหรือควบคุมตนเองลดน้อยลง คุณก็มีสิทธิ์ที่จะยุติและเปลี่ยนไปรับการทำจิตบำบัดจากนักจิตบำบัดท่านอื่นแทนได้ตลอดเวลาหรือเปลี่ยนไปปรึกษาจิตแพทย์แทนเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับการบำบัดเยียวยาในวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[2] Signs of Childhood Trauma in Adults. Retrieved from https://www.verywellmind.com/signs-of-childhood-trauma-in-adults-5207979

[3] Manifestations of Childhood Trauma in Adults. Retrieved from https://seattleanxiety.com/psychiatrist/2022/5/17/manifestations-of-childhood-trauma-in-adults

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page