top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 เคล็ดลับการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยทางใจในครอบครัว


ด้วยความตั้งใจจริงแล้ว ผู้เขียนอยากจะตั้งชื่อบทความ ว่า “ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยทางใจไม่ลำบากเท่าไหร่หรอก” แม้ว่าอันที่จริงแล้วจะลำบากพอสมควรทีเดียว สำหรับผู้เขียนเองก็มีคนในครอบครัวเป็นโรซึมเศร้าค่ะ ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิตเขาหลายอย่างในช่วงระยะเวลาเกือบสองปีที่เขาป่วย และแน่นอนการเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลกระทบต่อผู้เขียนและสามีพอดู โดยเฉพาะกับสามีที่ได้รับผลกระทบเยอะมากกว่า ทั้งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้านเพิ่มเป็น 2 เท่า ต้องระมัดระวังทุกการกระทำของเรา เพราะบางครั้งเรื่องเล็กของเรามันเป็นเรื่องใหญ่ของเขา ทั้งต้องคอยดูแลคนป่วย ทั้งร่างกายและจิตใจ ต้องคอยรองรับอารมณ์ที่ขึ้นลงไปมา และอีกมากมาย ถามว่าเหนื่อยไหม? เหนื่อยค่ะ และเข้าใจว่าทุกบ้านที่มีผู้ป่วยทางใจอยู่ด้วยก็คงไม่ต่างจากเรา ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ค้นหาข้อมูลเรื่อง “การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยทางใจในครอบครัวอย่างปกติสุข” จากหลายแหล่งข้อมูล และขอสรุปเป็นเคล็ดลับที่สามารถนำไปใช้ได้จริงเพื่อเป้นประโยชน์สำหรับคุณผู้อ่านค่ะ

ผู้ป่วยทางใจ


เคล็ดลับที่ 1 เข้าใจอาการของโรคที่เขาเป็นอยู่

ในเคล็ดลับนี้ ผู้เขียนขออ้างอิงถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ก็คือหากเราสามารถเข้าใจอาการเจ็บป่วยที่คนในบ้านของเราเผชิญอยู่ เราจะสามารถเข้าถึงจิตใจอันบอบช้ำของเขา และสามารถช่วยเหลือเยียวยาและพัฒนาเขาได้ การเข้าถึงก็สามารถทำได้ไม่ยากค่ะ ลองค้นหาข้อมูลใน Google ก็มีมากมาย แต่ทั้งนี้ต้องเรื่องแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ หรือจะขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ผู้รักษาของสมาชิกครอบครัว หรือนักจิตวิทยาผู้ทำการบำบัดก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ



เคล็ดลับที่ 2 มองโลกในแง่ดี

อยู่กับผู้ป่วยอย่างปกติสุข

ในการที่จะอยู่ร่วมกับผู้ป่วยทางใจให้ปกติสุขโดยที่เราจะไม่ป่วยตามเขาได้ เราต้องมองหาข้อดีของการอยู่ร่วมกันในแต่ละวันค่ะ เช่น แม้เราจะเหน็ดเหนื่อยกับการดูแลคนในครอบครัวที่เจ็บป่วยทางใจ เราก็ถือว่าเป็นหมอในบ้านของเขา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเขา หรือหากเราถูกเขาระบายอารมณ์ใส่ ก็คิดเสียว่าดีกว่าเขาจะไปทำเช่นนี้กับคนนอกบ้าน เป็นต้น เหนือสิ่งอื่นใด การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยทางใจถือเป็นการฝึกฝนความอดทนและได้ฝึกการเป็นผู้ให้อย่างดีที่เดียวค่ะ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาสเช่นนี้



เคล็ดลับที่ 3 อยู่ด้วยกันด้วยความเมตตา

คำกล่าวของพระญาณสังวร ที่ว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ที่เราต้องดูแลผู้ป่วยทางใจได้ดีทีเดียวค่ะ เพราะเมื่อเรามีความเมตตา เราจะมีความใจเย็นมากพอที่จะทำความเข้าใจกับอาการของเขา มีความยืดหยุ่นพอที่จะรองรับอารมณ์ของเขา มีความปรารถนาดีมากพอที่จะช่วยเหลือ ดูแล เยียวยา และผลักดันให้เขาหายจากอาการป่วย และแน่นอนเราจะมีความเป็นมนุษย์มากพอที่จะใช้ชีวิตร่วมกับเขาเช่นปกติ



เคล็ดลับที่ 4 ทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น

ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว

จากผลการวิจัยหลากหลายสถาบันให้ผลตรงกันว่า ยิ่งผู้ป่วยเก็บตัว อาการของโรคจะรุนแรงขึ้น และมีแนวโน้มว่าอาการป่วยจะเรื้อรัง ดังนั้น การที่เราจะสามารถช่วยเขาให้กลับเป็นปกติได้ เราก็ต้องชวนเขาทำกิจกรรมให้มากขึ้น อาจจะเริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ เช่น ดูภาพยนตร์ ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย เดินชอปปิ้ง แต่ทั้งนี้ขอให้ระลึกไว้เสมอนะคะว่า ต้องเป็น “การชักชวน” คือเขาเต็มใจทำกิจกรรมไปพร้อมกับเรา ไม่ใช่ “การบังคับ” เพราะยิ่งคนป่วยถูกบีบคั้นอาการจะแย่ลงได้ค่ะ



เคล็ดลับที่ 5 ผ่อนคลายความเครียดบ้าง

หากคุณผู้อ่านซึ่งเป็นผู้ดูแลเริ่มรู้สึกไม่โอเค รู้สึกเครียดกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ คุณผู้อ่านสามารถหาเวลาไปหาความผ่อนคลายได้นะคะ ทั้งการดูภาพยนตร์ ฟังเพลง การไปเที่ยวนอกบ้าน ไปทำกิจกรรมที่เราชอบจนกว่าเราจะสบายใจ ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นเราเองที่จะป่วยตามเขาไปค่ะ



รู้เคล็ดลับเช่นนี้แล้ว คุณผู้อ่านที่กำลังดูแลผู้ป่วยทางใจอยู่คงได้แนวทางในการใช้ชีวิตร่วมกับคนป่วยให้มีความปกติสุขกันบ้างแล้วนะคะ หวังว่าบทความนี้จะสามารถช่วยคุณผู้อ่านที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันได้บ้าง แต่หากคุณผู้อ่านยังคงมีความไม่สบายใจ หรือกำลังหาที่ปรึกษา ทาง istrong ของเราก็มีนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญคอยรับฟังและให้คำปรึกษาตลอดเวลาค่ะ

 

เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา


iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า


 

อ้างอิง :

1.ธีระ ลีลานันทกิจ อ้างถึงใน สุรพงศ์ อำพันวงษ์. 13 กันยายน 2558. การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช จะเป็นสุขได้อย่างไร

สืบค้นจาก https://www.dailynews.co.th/article/347494

2. โรงพยาบาลศรีธัญญา. มิถุนายน 2559. เคล็ดไม่ลับ...ฉบับดูแลคนพิการทางจิตใจ หรือพฤติกรรม. นนทบุรี : บริษัทบียอนด์ พับลิสชิ่ง จำกัด.

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page