top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

10 วิธีการสร้างความไว้วางใจในครอบครัว

“ครอบครัว” คือ คำสองพยางค์ที่ควรให้ความรู้สึกอบอุ่น ควรเป็น “บ้าน” ที่คนในบ้านพร้อมกลับไปหาได้เสมอ และควรเป็นสถานที่เต็มไปด้วยความรัก


แต่จากข่าวหรือสื่อต่างๆในทุกวันนี้ กลับสะท้อนให้เห็นว่า “ครอบครัว” ไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยอีกต่อไป ไม่ว่าจะข่าวเด็กสาววัยรุ่นที่ถูกแม่กดดัน จนหนีออกจากบ้านไปกับผู้ปกครองของเพื่อนร่วมชั้น หรือข่าวพ่อแท้ๆ ข่มขื่นลูกสาว ข่าวลูกทำร้ายพ่อแม่ และอีกสารพัดข่าวที่บั่นทอนจิตใจให้รู้สึกหดหู่ แล้วเราจะทำอย่างไรละถึงจะสร้างความไว้วางใจให้กับคนในครอบครัว เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่า “ครอบครัวควรเป็นครอบครัว”


ซึ่งผู้เขียนได้นำวิธีการสร้างความไว้วางใจจากหนังสือเรื่อง The 8 th Habit : From Effectiveness to Greatness มานำเสนอในบทความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่คุณผู้อ่านค่ะ



สร้างความไว้วางใจในครอบครัว


เริ่มที่วิธีแรก การเข้าใจคนอื่นๆในครอบครัว

ความเข้าใจ เป็นสิ่งสำคัญที่คนในครอบครัวต้องมีให้แก่กัน เพราะการที่เรารู้จักธรรมชาติของคนในบ้าน เราก็จะสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่หากเราไม่เข้าใจกันแล้ว แม้เรื่องเล็กๆน้อยก็เป็นปัญหาได้ และเมื่อคนในบ้านทะเลาะกันแล้ว ความร้อน ก็จะเกิดขึ้นในจิตใจ จนไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ยากที่จะเกิดความสงบขึ้นได้



2. การรักษาสัญญา

เมื่อเอ่ยปากว่าจะทำอะไรให้ใครแล้ว และคนในครอบครัวสามารถรักษาสัญญานั้นไว้ได้ คนผู้นั้นก็จะเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นบุคคลที่ทั้งบ้านสามารถฝากความหวัง ฝากชีวิตไว้ได้ ทำให้การอยู่ร่วมกันในบ้านมีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย อบอุ่นใจ แต่ในทางกลับกันหากคนใดคนหนึ่งในครอบครัวไม่สามารถรักษาสัญญาไว้ได้ และหนักกว่านั้น ไม่สามารถรักษาสัญญาได้บ่อยครั้ง คนผู้นั้นจะมีภาพลักษณ์ที่ติดลบทันที กลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ คนในบ้านไม่กล้ามอบหมายงานสำคัญ และจะทำให้บุคคลนั้นมีความสำคัญในบ้านลดลง ซึ่งอาจนำมาสู่โรคซึมเศร้าแก่ตัวเขาเองได้



3. ความซื่อตรง

เปิดเผย

ความหมายง่ายๆของคำนี้ คือ ไม่โกหก คิดอะไรพูดอย่างนั้น เปิดเผย ไม่มีความลับกับคนในบ้าน บ้านที่จริงใจแก่กันย่อมอบอุ่นและปลอดภัยกว่าบ้านที่ไม่พูดความจริงแก่กัน และเมื่อใดที่ความจริงเปิดเผย ความเชื่อใจของคนในบ้านก็จะไม่มีอีกต่อไป และหากการใช้ชีวิตในบ้านเป็นไปอย่างหวาดระแวง เชื่อถือใครไม่ได้แล้วละก็ การใช้ชีวิตในสังคมกับคนที่เราไม่รู้จักยิ่งจะเป็นเรื่องยากเสียแล้ว



4. ความเมตตา

ความหมายที่เป็นสากลของคำนี้ คือ ความรัก ความเอ็นดู ความต้องการให้คนอื่นมีความสุข หากทุกคนในครอบครัวต่างปรารถนาดีต่อกัน ใส่ใจกัน สนับสนุนกันในทางที่ดี ครอบครัวนั้นจะงอกงามทั้งทางสถานภาพและจิตใจของคนในครอบครัว และเชื่อเถอะค่ะว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่เปี่ยมไปด้วยความรัก จะสามารถเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพให้แก่สังคมได้ แต่หากครอบคครัวใดขาดความรัก มีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ก็ยากที่จะผลิตคนดีให้แก่สังคมได้



5. การคิดแบบ Win/Win

คือ เป็นความคิดที่ทุกการกระทำจะมีผลให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ คนที่มีทัศนคติแบบ Win/Win จะคิดถึงผู้อื่นเสมอว่าจะได้รับผลกระทบต่อการกระทำของเขาอย่างไร และหากคนในครอบครัวสามารถคิดเช่นนี้ต่อกันได้ ทุกคนจะรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม สามารถอยู่ในบ้านได้อย่างมีความสุข แต่หากบ้านใดที่แม้แต่คนในบ้านยังเอาเปรียบกัน ความสงบสุขในบ้านคงเกิดได้ยาก



6. การสื่อสารที่ชัดเจน

หากคนในบ้านต้องการสิ่งใดและสื่อสารออกไปอย่างตรงไปตรงมา การทะเลาะเบาะแว้ง หรือการเข้าใจผิดระหว่างกันคงเกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งสื่อสารได้ชัดเจนเท่าไหร่ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็จะยิ่งเกิดขึ้นได้น้อยมาก ความเข้าใจกันระหว่างคนในบ้านจะยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย



7. ความภักดี

ความจงรักภักดี

ตามความหมายแล้ว ความภักดี หมายถึง ความจงรัก ความเลื่อมใส แปลเป็นภาษาง่ายๆก็คือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะไม่เปลี่ยนใจไป ดังนั้นแล้ว ครอบครัวที่มีสมาชิกจงรักภักดีต่อครอบครัวมาก ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความสามัคคีจะยิ่งมีมาก เพราะฉะนั้นแล้วรับประกันได้เลยค่ะว่า ไม่ว่าครอบครัวนี้จะเผชิญปัญหาหนักหนาแค่ไหนก็จะสามารถจับมือกันผ่านเรื่องร้ายๆ มาได้อย่างแน่นอน



8. การรู้จักขอโทษ

การขอโทษนั้นเป็นการลดทิฐิ หรือความถือตัวได้อย่างดี อีกทั้งยังเป็นการแสดงความสำนึกต่อสิ่งที่ตนกระทำลงไปและส่งผลเสียต่อคนในบ้าน หากบ้านใดที่คุณพ่อ คุณแม่ ไม่ถือตัวเอ่ยขอโทษลูกอย่างจริงใจในสิ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี นอกจากลูกจะให้อภัยแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ยังได้ใจจากลูก และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกอีกด้วยค่ะ



9. การรับฟังโดยไม่ตัดสิน

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเอง หากผู้เขียนมีเรื่องไม่สบายใจและเล่าให้สามีฟัง และสามีรับฟังโดยไม่ตัดสินว่าผู้เขียนผิดหรือถูกในเหตุการณ์นั้น ผู้เขียนจะรู้สึกปลอดโปร่งใจอย่างมากเพราะได้เล่าเรื่องความคับข้องใจได้อย่างไม่ติดขัด เมื่อมาเชื่อมโยงถึงเรื่องในครอบครัวแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ที่รับฟังทุกเรื่องราวของลูกอย่างตั้งใจ และไม่ด่วนตัดสินลูก ลูกย่อมสบายใจที่จะเปิดเผยทุกเรื่องอย่างไม่มีความลับให้คุณพ่อ คุณแม่ฟัง และคุณพ่อ คุณแม่จะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ลูกๆ ได้อย่างตรงจุดและทันเวลา



10. การรู้จักให้อภัย

ในข้อก่อนหน้าเราได้พูดถึง “การรู้จักขอโทษ” ไปแล้ว ในหัวข้อสุดท้ายเรามาพูดถึงเรื่อง

การให้อภัย

“การให้อภัย” ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน ในเรื่องพระเวสสันดรชาดก ให้คติธรรมไว้ว่า การให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ “การให้อภัย” เพราะการให้อภัยเป็นการปลดปล่อยความทุกข์ใจ และให้โอกาสเริ่มใหม่แก่ผู้ที่ทำผิดพลาด หากคนในครอบครัวสามารถให้อภัยกันได้ ความสงบสุขในครอบครัวก็สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากค่ะ




ทั้ง 10 วิธีการที่ได้นำเสนอไปนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ถ้าทุกคนในบ้านสามารถปฏิบัติได้ ผู้เขียนเชื่อว่าการใช้ชีวิตในทุกวันของเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกมากโขเลยค่ะ

 

เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา


iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า


 

อ้างอิง : Stephen R. Covey. The 8 th Habit : From Effectiveness to Greatness. แปลโดย ปกาศิต คำเรืองโรจน์. บรรณาธิการ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย. สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี.

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page