top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

พี่ยิม VS น้องโด่ง จิตวิเคราะห์ว่าด้วยเรื่องพี่น้องลูกขนไก่


จากเด็กออ(ทิสติค)... สู่จอแก้ว ละคร13+ ละครดี จาก GDH


เรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางที่เป็นแม่ม่ายลูกติดทั้งพี่และน้อง โดยคนพี่หรือ “แม่ตั้ม” มีลูกติดเป็นเด็กออทิสติค ที่มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญาช้าราวกับเด็ก 6 ขวบ แต่หน้าตาน่ารักน่าชัง และยังชื่นชอบสีชมพูเป็นชีวิตจิตใจ หรือที่ใครๆก็เรียกเค้าว่า “พี่ยิม” ในขณะที่น้องสาว หรือ “แม่แตง” อดีตนักกีฬาแบตมินตัน ผู้มีลูกติดเป็นหนุ่มหล่อ วัยใกล้เคียงกัน ร่างกายจิตใจสมบูรณ์ดี รักการเล่นกีฬาแบตมินตันเหมือนแม่แบบถอดแบบกันมาเป๊ะๆ หรือที่เรียกว่า “น้องโด่ง”

ซีรี่ย์เรื่องนี้ต้องการจะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่า เด็กออทิสติค...ก็สามารถมีพัฒนาการได้เหมือนเด็กทั่วๆไป เพียงแต่คนรอบข้างอาจจะต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจ และอาจใช้เวลามากกว่าเด็กทั่วๆไป เหมือนอย่างพี่ยิม ที่ผ่านการฝึกฝนจากการตีแบตหน้าบ้าน ค่อยๆเรียนรู้วิธีการเล่น กฎ กติกา มารยาทในการเล่นกีฬาจนตั้งเป้าฝันไว้ว่า “อยากจะเป็นนักกีฬาแบตมินตันประเภทคู่ที่เก่งที่สุดให้ได้”

หากมองในเชิงสามัญชนทั่วๆ ไปคงได้แค่เข้าใจ แต่ไม่เห็นภาพว่าลำบาก มันลำบากขนาดไหนนะ แต่ละครเรื่องนี้...ได้สาธยายความรู้สึก คำว่ายากได้ละเอียดถึง....ทุกอารมณ์ เค้นทุกความรู้สึก ว่าคำว่ายากของครอบครัวของคนที่มีสมาชิกในบ้านเป็นออฯมันยากขนาดไหน ทั้งการเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ รวมถึงการอยู่ร่วมกัน .... เรียกว่า ขนาดวันเกิดน้องโด่ง อยากกินสุกี้ใส่เบคอน อีพี่ยิม ... ยังจะบังคับให้กินไส้กรอก จนหน้าจะเป็นไส้กรอกอยู่แล้ว เห็นภาพมากที่เดียว

ประเด็นกลับมาตรงที่ว่า.....ใครน่าสงสารที่สุดในเรื่องนี้ หลังจากที่ดูซีรี่ย์นี้มาแล้วถึงกลางๆเรื่อง จุดพีคอยู่ตรงที่ว่า มันไม่ใช่พี่ยิม ตัวเอกของเรา!!!!

แต่เดิมใครๆก็คิดว่า...พี่ยิม ผู้เป็นออทิสติคนี่แหละ น่าสงสารที่สุด เพราะเป็นคนที่มีพัฒนาการช้าตั้งแต่เกิด โดยที่เค้าไม่ได้ผิดอะไร และเค้าก็พยายามแล้ว เค้านี่แหละคือคนที่น่าสงสารที่สุด

พี่โด่งก็เป็นอีกคนที่น่าสงสารไม่แพ้กัน เพราะเป็นน้อง ผู้ซึ่งเรียกว่ารองรับอารมณ์พี่ชายตลอดเวลา กินด้วยกัน นอนด้วยกัน ซ้อมกีฬาด้วยกันตลอดเวลา จะไปเที่ยวไหนกับเพื่อนก็ไม่ได้ แม่เรียกกลับบ้านตลอด เพราะพี่ยิมรอ พอพี่ยิมอารมณ์ร้าย จะอยู่กลางสนามแบต น้องโด่งของเรา ก็ยังจะต้องร้องเพลง “แมงมุมลายตัวนั้น ... ชั้นเห็นมันอยู่บนหลังคา” พร้อมปิดตาทำหน้าตาน่ารัก นี่ถ้าไม่รักพี่ยิมจริง.... คงไม่กล้าร้องให้ฟังกลางสนามแบตตอนแข่งหรอกนะ จริงไหม

แม่แตงล่ะ คนนี้ผู้ทุ่มเทและเสียสละ ย้ายโรงเรียนแล้ว ย้ายโรงเรียนอีก เพราะทุกโรงเรียน ไม่สามารถสอนยิมได้แบบเด็กปกติทั่วไป และนั้นแปลว่า แม่แตงต้องย้ายน้องโด่งด้วย แม่แตงต้องอดทน ฝึกซ้อมแบตมินตันให้ทั้งสองคนทุกวันตั้งแต่เล็กๆจนพร้อมเข้าแข่งระดับ SCG Tournament ทั้งหมด คือความทุ่มเทและเสียสละของคนเป็นแม่ แต่ทว่า... ความจริงในตอนต่อไปกำลังจะเปิดเผย ว่ามันมาจากความรู้สึกผิดในอดีตที่แม่แตงเคยทำพลาดไว้ แต่ยังไงก็ตาม ... แม่แตง ก็เป็นแม่ที่เสียสละมากที่สุดคนนึงทีเดียว

สุดท้าย คนที่ถ้ามองผ่านๆ คือคนที่มีบทบาทน้อยที่สุด คือ แม่ตั้ม หรือ อีตั้มที่ของพี่ยิม ที่เรียกแบบนี้เพราะพี่ยิมมักจะเรียกจดจำสิ่งอดีตเวลาโกรธ เลยเป็นเหตุให้ละครเรื่องนี้ 13+.... แม่ตั้ม คือ คนที่น่าสงสารที่สุดที่แท้จริง เป็นคนที่หาเลี้ยงทั้งครอบครัว เป็นคนทำงานหนักและไม่พูด ด้วยนิสัยแมนๆ ตรงไปตรงมาก ความอดทนต่ำ เลี้ยงพี่ยิมไม่ไหว ก็ส่งไปอยู่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กออทิสติคซะเลย แต่เรื่องมาพีคตรงที่ว่า ละครมาเฉลยที่ .... แม่ตั้มให้อภัย กับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องที่ น้องสาวตัวเองหรือแตง ไปมีอะไรกับผอตัวเอง จนมีโด่งขึ้นมา และหนีไปต่างจังหวัด เพราะความรู้สึกผิด แต่สุดท้ายด้วยความเป็นพี่น้องกัน แม่ตั้มเลยเป็นคนที่ “กล้า” ส่งไปรษณียบัตรไปบอกให้น้อง กลับมาอยู่ด้วยกัน “พี่ให้อภัย” เลยเป็นที่มาของการช่วยกันเลี้ยงพี่ยิมให้ดีที่สุด

ในมุมมองแบบ จิตวิทยาวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ตามหลักของฟรอยด์ (Freud, 1856-1939) แบบไม่ลึกมาก เราจะพบว่า ละครเรื่องนี้สะท้อนเรื่องราวของคนได้เป็นอย่างดี เพราะตามหลักของฟรอยด์แล้ว ฟรอยด์ได้แบ่งจิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ คือ


  • จิตสำนึก (Conscious) : เป็นระดับที่ผู้แสดงพฤติกรรมทราบ และรู้ตัว

  • จิตก่อนสำนึก (Pre-conscious) : เป็นสิ่งที่จะดึงขึ้นมาได้ง่าย ถ้าหากมีความจำเป็นหรือต้องการ

  • จิตไร้สำนึก (Unconscious) : เป็นระดับที่อยู่ในส่วนลึกภายในจิตใจ

เราจะพบว่า แน่นอน...สิ่งที่พี่ยิม เด็กออทิสติคของเรา มักแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาผ่านจิตไร้สำนึก ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ คิดอะไรทำอย่างนั้น ไม่มีปิดบัง ในขณะที่คนที่เหลือในเรื่อง ล้วนแล้วแต่แสดงพฤติกรรมผ่านจิตสำนึกอย่างชัดเจน และจะมีบางทีที่แม่แตง แม่ของโด่ง ... ที่มักจะนึกได้ ว่ามัวแต่เอาใจพี่ยิมมากไป จิตก่อนสำนึกก็จะเรียกกลับมา แล้วบอกว่า ... เราเป็นแม่ เราต้องกลับมาดูแลลูกของเราบ้าง ไม่ใช่ดูแลแค่พี่ยิมเท่านั้น

แต่นั้นไม่น่าสนใจเท่าพฤติกรรมการสร้างกลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) ของตัวละครในเรื่อง

  • พี่ยิม ตัวเอกของเรื่อง เลือกที่จะใช้ การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) ทุกครั้งที่ทะเลาะกับน้องโด่ง มักจะไล่ให้ออกไปไกลๆ ทั้งๆที่ชีวิตนี้เค้าไม่มีใครแล้ว ถ้าไม่มีน้องโด่ง

  • น้องโด่ง ผู้ซึ่งอดทนและดูเก็บกด แต่ก็เข้าใจว่าพี่ตัวเองไม่ปกติ ยอมทุกอย่าง แม้แต่รองเท้าขาดและขอใหม่ทีไร ก็ได้ใช้แต่ของเก่ากลับมาทุกครั้งไป สุดท้ายเค้าก็เลือกการแยกตัว (Isolation) อันหมายถึง การขอแยกตัวเองออกไปอยู่ตามลำพังที่ค่ายฝึกแบตมินตันเพื่อพัฒนาฝีมือและจิตใจตัวเอง

  • แม่แตง ผู้ซึ่งมีความผิดติดตัวตั้งแต่ครั้งวัยรุ่น เลือกที่จะใช้ การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement) ในการเลือกดูแลพี่ยิมอย่างดี เพื่อชดเชยผิดพลาดในอดีต ... จนละเลยว่า ตัวเองก็มีลูกที่ต้องดูแลเช่นกัน

  • และสุดท้าย แม่ตั้ม ผู้เลือกใช้ การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) นั้นหมายความว่า เค้าพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยบอกว่า ไม่มีใครเลี้ยงพี่ยิมได้หรอก ทุกโรงเรียนก็ไม่เอา เห็นไหม จนให้คนอื่นยอมรับ ... แต่สุดท้าย ก็แพ้ความคิดถึงลูก และไม่พ้น....รับลูกกลับมาดูแลเอง

กลไกการป้องกันตัวเองนี้...มักเป็นกลไกที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดชั่วชีวิต แต่จะเกิดขึ้นในชั่วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอเพียงให้เข้าใจ จิตวิทยาวิเคราะห์จะช่วยให้เข้าใจและเรียนรู้สนุกกับมันมากขึ้น รอบนี้ยาวไปหน่อย... แต่ใครดูละครเรื่องนี้ไป คิดไปด้วย สนุกแน่...แล้วไว้เจอกันรอบหน้าคะ ☺

 

นักจิตวิทยาองค์กรผู้ดึงศักยภาพ

และความสุขของผู้คนในการทำงาน

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page