3 สิ่งที่กำลังทำร้ายความมั่นคงทางการเงินและสุขภาพจิตของคุณ
ในเวลานี้ทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่าความมั่นคงทางการเงินมีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตของเราจริง ๆ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ความเสี่ยงมากมายกำลังอยู่รายล้อมเราและครอบครัว การมีกระแสเงินสด เงินออม และรายได้ที่มั่นคงคือหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนปรารถนาที่สุด แม้แต่คนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการวางแผนการเงินมาก่อนก็ตอบได้ว่าหากเรามีรายได้และเงินออมในมือไม่มั่นคงนั้นมันยากที่จะรู้สึกปลอดภัยและมีความสุขได้จริง ๆ
เมื่อมีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้นจนทำให้ความมั่นคงทางการเงินสั่นคลอน เช่น คนหาเลี้ยงครอบครัวตกงาน ยอดขายของกิจการส่วนตัวหดหาย การเจ็บป่วยกะทันหัน อุบัติเหตุ ภัยที่เกิดต่อทรัพย์สินอย่างไฟไหม้หรือการถูกโจรกรรม ภาระหนี้สินที่รุมเร้า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาแน่นอนว่าทำให้คุณภาพชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป ต้องจำใจเปลี่ยนที่พักอาศัย ขายสมบัติบางส่วนเอาเงินสดมาใช้ ต้องลดมาตรฐานการครองชีพลง ไม่สามารถกินอยู่ในระดับที่เคยทำในอดีต
ที่ร้ายแรงสุดคือส่งผลกระทบต่อครอบครัว เช่น ให้ลูกย้ายโรงเรียนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่สามารถดูแลให้ความสุขทางกายภาพคนในครอบครัวได้เหมือนเมื่อก่อน เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวเมื่อมีความเห็นเรื่องการจัดการการเงินไม่ตรงกัน สอดคล้องกับรายงานของ Prudential Relationship Index (PRI) ที่เคยสำรวจประชากรไทยและประชากร 9 ประเทศในเอเชียเมื่อปี 2017 พบว่าสาเหตุอันดับ 1 ที่คนรักโต้เถียงกันคือปัญหาทางการเงิน (37%)
จะเห็นได้ว่าความเครียดจากปัญหาทางการเงินนั้นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะตัวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ยังติดต่อและลุกลามกลายเป็นปัญหาของครอบครัวได้ และยิ่งครอบครัวตกอยู่ในความเครียด วิตกกังวลในเรื่องการเงินมากเท่าไร ความสามารถในการหลุดพ้นจากความยากจนก็จะยิ่งตีบตันลง (คณะนักวิจัยของ Mani และ Shah สำรวจในปี 2012-2013 พบว่า ความกังวลด้านการเงินโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรยากจน ทำให้ประสิทธิภาพการรับรู้และการตัดสินใจลดลง และทำให้ความสามารถในการก้าวพ้นกับดักความยากจนเป็นไปได้ยากขึ้นด้วย)
ความเครียดจากปัญหาทางการเงินทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปอย่างไร?
1. ทำให้ความภาคภูมิใจและนับถือตัวเอง (Self Esteem) ลดลง
เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตการกินอยู่ของตัวเองเปลี่ยนไป ไม่สามารถใช้ชีวิตกินอยู่ได้เหมือนเก่าเพราะจำเป็นต้องประหยัดหรือไม่มีเงินสดเพียงพอ แน่นอนว่าคุณจะรับรู้ได้ทันทีว่าชีวิตของตัวเองกำลังมีปัญหา และจะเลวร้ายกว่านี้มากเมื่อเห็นคนในครอบครัวต้องลดมาตรฐานการครองชีพลงเช่นกัน ทั้งหมดนำมาสู่ความวิตกกังวล ความเครียด การโทษตัวเองว่าไม่มีศักยภาพที่ดีพอจะรักษาระดับคุณภาพชีวิตให้ครอบครัวได้ รู้สึกหมดความภาคภูมิใจในตัวเอง
2. ทำให้สัมพันธภาพกับผู้คนรอบข้างย่ำแย่ลง
เมื่อความภาคภูมิใจในตัวเองลดน้อยลง บุคคลจะหมดความมั่นใจในการเข้าสังคมหรือพบปะผู้คน เพราะกลัวการต้องตอบคำถามทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับชีวิตในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำชีวิตที่กำลัง Fail และยิ่งทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองลดต่ำลงไปอีก บุคคลที่มีความเครียดเรื่องฐานะทางการเงินจึงหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คน เช่น ไม่ออกงานสังคม ไม่พบปะเพื่อน ไม่พบญาติ และรวมถึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยเรื่องปัญหาทางการเงินกับลูก คู่สมรส พ่อแม่ ด้วยเหตุผลเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันและขยายความขัดแย้งในภายหลังต่อไปมากขึ้น
3. ทำให้บุคลิกภาพย่ำแย่ลง
เมื่อความเครียดและความต้องการหลีกหนีสังคมเกาะกุมชีวิตเต็มที่ บุคคลจะเก็บตัวอยู่กับตัวเอง ไม่ใส่ใจสุขอนามัยส่วนตัว ไม่สนใจรับรู้สิ่งรอบข้าง ประสิทธิภาพการทำงานและสัมพันธภาพในที่ทำงานเสื่อมทรามไปด้วย สุดท้ายจึงพลาดโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย และเป็นวงจรของความยากจน หมดโอกาสในชีวิต วนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุดได้
การมีความเครียดทางการเงินไม่ได้หมายความว่าเกิดจากการตกงาน รายได้หดหาย รายได้น้อย หรือสูญเสียเสาหลักของครอบครัวเท่านั้น ในอีกทางหนึ่งคนที่ยังมีงานทำ มีรายได้สูง มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถมีความเครียดทางการเงินได้เช่นกันหากไม่สามารถบริหารจัดการให้ดี เรียกได้ว่าความเครียดทางการเงินเป็นปัญหาของผู้คนเกือบทุกฐานะ
ตัวอย่างของผู้ที่มีความเครียดทางการเงินแม้ว่าจะมีรายได้เกินค่าเฉลี่ยของรายได้คนทั่วไปคือ
1. การใช้จ่ายเกินตัว เช่นการใช้บัตรเครดิตในการเข้าร้านอาหาร ซื้อสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การใช้บัตรเครดิตนั้นมีความง่าย สะดวกสบาย และหลายครั้งกลายเป็นการผลักภาระการจ่ายเงินให้ไปอยู่ใน “อนาคต” ทั้งที่หากซื้อหาด้วยเงินสดในวันนี้แล้วเราอาจจะไม่ตัดสินใจซื้อก็ได้ แต่ด้วยความคิดที่ว่าใช้บัตรเครดิตไปก่อน เมื่อเงินเดือนออกค่อยเอามาโปะคืนหรือใช้วิธีทยอยผ่อนกับบัตรเครดิตหลาย ๆ เดือนจากการซื้อหนึ่งครั้ง
โดยให้เหตุผลว่าการซื้อนี้ “รอไม่ได้” “มีโปรโมชั่น” หรือ “ของมันต้องมี” เมื่อทำบ่อยครั้งเข้าจนเป็นนิสัยจะเกิดความเคยชิน กลายเป็นคนสุขสำราญตอนใช้บัตรเครดิต และทุกข์มหาศาลตอนเห็นบิล เมื่อไม่สามารถหมุนเงินมาจ่ายได้ทันจะเกิดปัญหาต่อไปที่รุนแรงขึ้นอีกระดับ นั่นคือ “หนี้บัตรเครดิต” ซึ่งมีภาระดอกเบี้ยสูงมาก เบียดเบียนกระแสเงินสดในมือจนต้องใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตแทนเงินสดในเดือนต่อ ๆ ไป เป็นปัญหาที่วนเวียนไม่จบ
2. Latte Factor หลายคนอาจคิดว่าตัวเองไม่ได้ใช้เงินเกินตัว กินอยู่ประหยัดมาตลอด ซื้อของทีละนิดในราคาไม่แพง แต่ทำไมฐานะทางการเงินยังไม่ดีขึ้นสักที แต่อาจลืมสำรวจไปว่าเราอาจมีค่าใช้จ่ายบางรายการที่เป็นรายการเล็กน้อยแต่ใช้จ่ายประจำ เมื่อสะสมในระดับเดือนและปีหลาย ๆ รายการก็เป็นตัวการหนึ่งที่บั่นทอนเงินออมของเราได้ เช่น ค่ากาแฟวันละ 60 บาท ค่าบุหรี่วันละ 80 บาท
หากใช้จ่ายเช่นนี้ทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเดือนเท่ากับเราสูญเสียเงินไปเดือนละ 4,200 บาท หรือปีละ 50,400 บาท ซึ่งมากพอสำหรับค่าเทอมโรงเรียนเอกชนบางแห่งเลยทีเดียว (David Bach เปรียบพฤติกรรมการใช้จ่ายจุบจิบทีละน้อยแต่สะสมต่อเนื่องว่าเป็น Latte Factor เหมือนคนที่ซื้อกาแฟดื่มทุกวันจนกลายเป็นรายจ่ายประจำสะสมก้อนใหญ่ และทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายทางการเงินเสียที)
3. การบริหารการเงินไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สุดที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยสอนวิชาการมากมายหลายร้อยแขนง แต่แทบไม่มีที่ไหนสอนเกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลโดยตรงเลย และคนจำนวนมากยังมี Mindset เวลาเห็นคนกำลังวางแผนการเงินให้ตัวเองว่าคน ๆ นั้นคงกำลังมีปัญหาทางการเงินอยู่ คงกำลังวางแผนเพื่อรัดเข็มขัดประหยัดส่วนไหนอยู่เป็นแน่ แต่เปล่าเลย การวางแผนการเงินไม่ใช่เรื่องของคนมีเงินน้อย
แต่กลับกันคุณจะมีเงินน้อยซ้ำซากถ้าคุณไม่วางแผนทางการเงิน การวางแผนทางการเงินนั้นจะต้องเริ่มจากสำรวจรายรับ รายจ่าย หนี้สิน และทรัพย์สินของตัวเองเพื่อหารอยรั่วทางการเงิน ความสามารถในการหาเงิน แหล่งเงินสำรองฉุกเฉิน แหล่งรายได้เพิ่มเติม ภาระหนี้สินระยะสั้นและยาว หากไม่มีข้อมูลสำคัญทั้งหมดนี้ การจัดการการเงินของคุณจะสะเปะสะปะและล้มเลิกไปในที่สุด การเริ่มวางแผนการเงินจึงสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการหลุดพ้นจากวงเวียนปัญหาทางการเงิน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเองหรือปรึกษานักวางแผนการเงินที่มีคุณวุฒิวิชาชีพก็จะได้แผนการเงินที่ชัดเจนรัดกุมมากยิ่งขึ้น
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
**ท่านที่สนใจสามารถอ่านบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่
2017 Prudential Relationship Index reveals continued high levels : https://www.bloomberg.com/press-releases/2017-12-11/2017-prudential-relationship-index-reveals-continued-high-levels
Mani, A., S. Mullainathan, E. Shar, and J. Zhao (2013a, August). Poverty Impedes Cognitive Function. Science 341 (6149), 976.
Shah, A. K., S. Mullainathan, and E. Shar (2012, November). Some consequences of having too little. Science (New York, N.Y.) 338 (6107), 682-685
David Bach, John David Mann (ZXXX). Latte Factor, Why you don’t have to be rich to live rich.
ประวัตินักเขียน
ธเนศ เหลืองวิริยะแสง AFPT™
Investment Planner และ Wealth Trainer
M.Sc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.
Comments