top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 วิธีเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิง และ 8 วิธีดูแลจิตใจตนเองของผู้ที่สูญเสียคนที่รัก


ก่อนจะเริ่มบทความจิตวิทยานี้ ในนามของดิฉันเองและ iSTRONG ขอแสดงความเสียใจต่อทุกท่านที่สูญเสียคนที่รักจากเหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู และขอเป็นกำลังใจให้ท่านก้าวข้ามเหตุการณ์ที่ยากลำบากนี้ได้อย่างเข้มแข็งนะคะ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสะเทือนใจคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างมากค่ะ โดยท่านผู้ว่ากรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์กราดยิงดังกล่าวว่า “การสูญเสียลูก คือโศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดของพ่อแม่” เพราะพ่อ แม่ทุกคนอยากเห็นลูกเติบโต และหวังว่าลูกจะมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีความสุข แต่เมื่อเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุที่ไม่ควรจะเกิด เช่น การกราดยิง หรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ ซึ่งเราทุกคนทราบกันดีค่ะ ว่าถ้าจะแก้กันตั้งแต่ต้นเหตุ รัฐบาลต้องมีมาตรการที่ชัดเจน เด็ดขาด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีมาตรการป้องกันดีขนาดไหนก็ตาม เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นั่นหมายความว่า คนเดียวที่ช่วยเราได้ให้เหตุวิกฤตดังเช่นเหตุกราดยิง ก็คือ ตัวเราเอง โดยเว็บไซต์ BODYGUARD VIP THAILAND ได้แนะนำว่า สิ่งแรกที่เราต้องมี คือ “สติ” และจึงทำตาม3 วิธีเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิง ดังนี้ค่ะ


1. หนี (Run)

เมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย เช่น เหตุกราดยิง คนยกพวกตีกัน บุกปล้น สิ่งแรกที่เราควรทำ คือ “หนี” หนีให้เร็วที่สุด ไวที่สุด ทิ้งสัมภาระแล้วจับมือคนที่คุณรักวิ่งออกมาจากสถานที่นั้นให้เร็วที่สุด พร้อมกับตะโกนแจ้งเหตุเพื่อให้คนอื่น ๆ หนีด้วย เมื่อเราหนีรอดปลอดภัยแล้ว ให้แจ้ง 191 หรือแจ้งตำรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยเร็วที่สุด


2. ซ่อน (Hide)

หากเราหนีออกมาไม่ทัน หรือไม่สามารถหนีออกมาได้ วิธีที่ควรทำ คือ “ซ่อน” สำหรับเด็ก ๆ ควรบอกเด็ก ๆ ว่า “ซ่อนให้เหมือนตอนเล่นซ่อนหา ซ่อนให้เงียบที่สุด มิดชิดที่สุด อย่าออกมาจนกว่าจะมีคนเรียกชื่อหนู” หากเป็นไปได้ไม่ควรให้เด็กแยกห่างจากเรา แต่ถ้าจำเป็นต้องแยกกันซ่อน ให้ย้ำกับเด็กว่า “อย่าออกมาจนกว่าจะมาตาม หรือมีคนเรียกชื่อ” เมื่อเราหาที่ซ่อนที่ปลอดภัยได้แล้ว ปิดเสียงเครื่องมือการสื่อสารทุกชนิด และแจ้งสถานที่ (Location) ให้กับญาติหรือตำรวจรับรู้ เพื่อให้มาช่วยเหลือเราได้ค่ะ


3. สู้ (Fight)

การ “สู้” ขอให้เป็นตัวเลือกสุดท้ายแล้วจริง ๆ เพราะคนร้ายมีอาวุธรุนแรง แต่เรามือเปล่า และทักษะการป้องกันตัวของพวกเราส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเท่าคนร้าย แต่หากจำเป็นต้องสู้ ให้มีสติ หาอาวุธที่เหมาะมือ หาโอกาสโจมตี และเมื่อคุณสู้แล้วขอให้สู้สุดใจ สู้ให้ตายกันไปข้าง ถ้าอีกฝ่ายไม่ล้ม อย่าเพิ่งวางใจ และควรเตะอาวุธของคนร้ายให้พ้นมือคนร้าย (ห้ามจับอาวุธของคนร้ายเด็ดขาด เพราะลายนิ้วมือเราจะติดอาวุธคนร้าย แล้วจะมีผลต่อการทำคดี)


สำหรับผู้ที่สูญเสียที่คนรักจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำวิธีการดูแลจิตใจตนเอง ไว้ดังนี้ค่ะ


1. เสียใจอย่างมีสติ

เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้แน่นอนว่าทุกคนย่อมเสียใจ ยิ่งเป็นคนที่เรารักมาก ๆ ด้วยแล้ว ใจสลายกันเลยทีเดียวค่ะ แต่ไม่ว่าคุณจะเสียใจมากแค่ไหน โกรธคนที่ทำร้ายคนที่เรารักมาแค่ไหน ขอให้มีสติ ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร ตามความคิดตัวเองให้ทัน เพื่อยับยั้งความคิดทางลบ ก่อนที่เราจะลงมือทำตามความคิดทางลบนั้นจริง ๆ


2. อย่าโทษตัวเอง

เป็นปกติธรรมดา ที่เมื่อเกิดเหตุร้ายกับคนที่เรารัก เรามักจะโทษตนเองว่า “ถ้าวันนั้นเราทำอีกอย่าง ก็คงไม่ต้องสูญเสียคนที่รักไป” หรือ “ทำไมไม่เป็นเราแทน” หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกแย่กับตนเอง ความคิดเหล่านี้ยิ่งทำให้ความรู้สึกเราดำดิ่ง และไม่ช่วยอะไรนะคะ ไม่มีใครย้อนอดีตได้ สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วเรากลับไปแก้ไม่ได้ เราต้องเดินหน้าต่อ รักษาสิ่งที่มีในปัจจุบันไว้ และนำเหตุการณ์นี้มาเป็นบทเรียนในการใช้ชีวิตต่อไปจะดีกว่าค่ะ


3. คิดถึงคนที่รักได้เต็มที่ แต่อย่าทำร้ายตนเอง

เมื่อเราสูญเสีย เราย่อมโหยหาคนที่เรารัก คิดถึงแทบขาดใจ ซึ่งเราสามารถคิดถึง แสดงความอาลัยต่อคนรักของเราได้อย่างเต็มที่เลยค่ะ แต่อย่าทำร้ายตนเอง อย่าคิดว่า “ฉันจะตามเธอไป” เพราะไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือทางจิตวิทยาที่พิสูจน์ว่าโลกหน้ามีจริง หรือต่อให้โลกหน้ามีจริง ก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะได้เจอคนที่เรารักอีก เพราะฉะนั้น โปรดอย่าทำร้ายตนเองนะคะ


4. ใช้ชีวิตแทนคนรักที่จากไป

ชีวิตที่สูญเสียคนที่รักไปมันอยู่ยากค่ะ แต่ในเมื่อเรายังมีชีวิตก็ต้องใช้ และต้องใช้อย่างมีสติด้วย ขอให้คิดถึงคนที่เรารัก คิดถึงสิ่งดี ๆ ที่ทำร่วมกันมา คิดถึงอนาคตที่เราวาดหวังไว้ด้วยกัน และทำมันให้เป็นจริง คิดเสียว่าเราใช้ชีวิตแทนคนที่เรารัก เขาอยากไปที่ไหน อยากทำอะไร อยากเห็นโลกเป็นอย่างไร เรามาลงมือทำความฝัน ความหวังของคนที่เรารักให้เป็นจริงกันเถอะค่ะ


5. พยายามอย่าอยู่คนเดียว

เมื่อเราอยู่คนเดียว สิ่งที่ต้องระวัดมากที่สุด คือ “ความคิด” เพราะความคิดของเราเร็วกว่าแสง สามารถคิดอะไรมากมายหลายเรื่องในไม่กี่วินาที ซึ่งแน่นอนว่าในยามที่เราสูญเสีย ความคิดเราจะไปในทางลบเสียส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เราเผลอทำร้านตนเอง หรือทำอะไรที่ไม่ดี ขอให้หาเพื่อนอยู่ด้วย เพื่อเตือนสติในการใช้ชีวิตนะคะ


6. รับข่าวสารที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด

เมื่อคุณสูญเสียคนที่รัก โดยเฉพาะจากเหตุที่เป็นสังคมให้ความสนใจ เช่น เหตุกราดยิง อุบัติเหตุใหญ่ ควรดูแลจิตใจโดยการงดรับข่าวสารทุกช่องทาง และงดให้สัมภาษณ์กับสื่อที่พยายามขายอารมณ์เศร้าของเราเรียกกระแส เพราะยิ่งเราเห็นข่าว หรือต้องพูดถึงเหตุการณ์ในเชิงอารมณ์ความรู้สึก เราก็ยิ่งวนลูปดำดิ่งในความเศร้าค่ะ


7. ระบายความทุกข์ใจให้คนที่ไว้ใจรับฟัง

เมื่อความเศร้าจากการสูญเสียมันกัดกร่อนหัวใจ และกัดกินจิตวิญญาณ คุณสามารถดูแลจิตใจได้โดยการหาคนที่ไว้ใจได้พูดคุยเพื่อระบายความทุกข์ใจ หรือเล่าความเสียใจให้เขาฟัง ถึงแม้เขาจะช่วยให้คนที่เรารักกลับมาไม่ได้ แต่การรับฟังโดยไม่ขัด ไม่แย้ง ไม่ตัดสิน จะช่วยเยียวยาความบอบช้ำของเราได้มากเลยค่ะ


8. หากไม่ไหวขอให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา

วิธีการดูแลจิตใจตนเองที่จะขอแนะนำเป็นข้อสุดท้ายในบทความนี้ ก็คือ การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพื่อตรวจสอบสภาพจิตใจว่ายังไหวไหม ต้องการการรองรับทางอารมณ์แบบไหน ต้องการการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจอย่างไร เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง


ในทางศาสนาพุทธ เราจะมีหลักธรรมเกี่ยวกับความไม่แน่ไม่นอนของชีวิต เรียกว่า “ไตรลักษณ์” ประกอบด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยแก่นของหลักธรรมนั้นมุ่งเตือนใจพวกเราว่า “ทุกชีวิต ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรที่อยู่คงทน ถาวร วันหนึ่งย่อมหายไป”


ชีวิตคนเรามันสั้นนะคะ เราไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะมีหรือไม่ เพราะฉะนั้นรักกันให้มาก ๆ ใส่ใจกันให้มาก ๆ สิ่งใดให้อภัยได้ก็สะสางล้างใจกัน เพราะเมื่อสูญเสียชีวิตไปแล้ว ต่อให้ตะโกนคำว่า “รัก” และ “ขอโทษ” ให้ดังแค่ไหน คนรักที่จากเราไปแล้วก็ไม่ได้ยินค่ะ




สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

1. BODYGUARD VIP THAILAND. (กุมภาพันธ์ 2563). แนะนำ 3 วิธีเอาตัวรอดเมื่อเจอคนร้ายกราดยิง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/gJpwA

2. พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก. (2021). "5 Stages of Grief" วิธีรับมือกับการสูญเสียก้าวผ่านความเศร้าด้วยการเข้าใจตัวเอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/BQS4t

3. วาทมอน แก้วสมสอน. (2560). เมื่อคนที่รักจากไป รับมือกับการสูญเสียอย่างไรดี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/FU4EA

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page