top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

9 สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็ก



คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่? ที่มักจะรู้สึกว่างเปล่า สับสนกับชีวิตอยู่บ่อย ๆ เวลาที่มีมีความสุขก็สุขแบบไม่สุด เหมือนกับว่าตัวเองกำลังวิ่งตามหาอะไรบางอย่างมาเติมเต็มตัวเอง แต่ไม่ว่าจะทำยังไงก็หาไม่เจอสักที มีอารมณ์ที่แปรปรวนและมักจะควบคุมตัวเองได้ยากเวลาที่มีอารมณ์เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น เช่น โกรธจัด เครียดจัด หากคุณมีอาการเหล่านี้ คุณอาจจะลองใช้โอกาสที่คุณเกิดความสงสัยเกี่ยวกับตัวเองเป็นโอกาสในการสำรวจชีวิตตัวเองว่าคุณผ่านอะไรมาบ้าง รวมไปถึงคุณเคยมีประวัติถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็ก (Childhood Emotional Neglect) หรือไม่


จากข้อมูลของโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยแพทย์หญิงสุนีย์ ยอดเยี่ยม กล่าวว่า เด็กที่ถูกทอดทิ้งมักไม่พบแผลใด ๆ แต่เด็กจะมีลักษณะของเด็กขาดรัก ขาดสารอาหาร ไม่โต พัฒนาการช้า กระวนกระวาย สุขอนามัยไม่ดี และเก็บตัวแยกตัว ซึ่งการทอดทิ้งเด็กนั้นถือว่าเป็นการทารุณกรรมเด็กอย่างหนึ่งแม้ว่าจะไม่มีการทุบตีหรือทำร้ายร่างกายเด็กเลยก็ตาม


การทอดทิ้งทางอารมณ์เด็ก สะท้อนผ่านพฤติกรรมการแสดงออกและการสื่อสารกับลูก โดยเวลาที่ลูกมีความรู้สึกเกิดขึ้น พ่อแม่จะปฏิเสธที่จะรับรู้หรือละเลยที่จะเข้ามาให้ support ลูก ทำให้ลูกไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้ เมื่ออารมณ์ของลูกถูกละเลยบ่อย ๆ ก็สามารถนำไปสู่การเรียนรู้ความสิ้นหวังว่า ถึงจะพยายามสื่อสารออกไปมากแค่ไหน ก็ไม่มีใครใส่ใจอยู่ดี ตัวอย่างการแสดงออกของพ่อแม่ที่ทอดทิ้งทางอารมณ์ลูก เช่น

“เรื่องแค่นี้เองจะร้องไห้ทำไม”

“ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย จะไปคิดให้มันมากทำไม”

“เลิกดราม่าเรียกร้องความสนใจซะทีเถอะ”

หรืออาจเป็นเรื่องดี ๆ ที่พ่อแม่ไม่ได้ให้ความสนใจ เช่น เมื่อลูกเอาผลการเรียนมาให้ดูว่าได้คะแนนดี พ่อแม่ก็อาจจะมองนิดนึงแล้วก็ไม่ได้พูดอะไรแต่หันไปสนใจเรื่องอื่นแทน


สัญญาณ 9 ข้อที่บ่งชี้ว่าคุณอาจกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็ก

1. คุณกลัวการเชื่อใจหรือการพึ่งพาคนอื่น และมักจะปฏิเสธความช่วยเหลือจากคนอื่น

2. คุณรู้สึกว่ามันยากมากที่จะบอกว่าตัวเองมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร ชอบไม่ชอบอะไร หรือมีเป้าหมายชีวิตอย่างไร

3. คุณใจดีกับคนอื่นแม้แต่กับคนแปลกหน้ายิ่งกว่าใจดีกับตัวเอง คุณไม่เห็นใจและไม่พยายามที่จะเข้าใจตัวเอง

4. คุณตำหนิตัวเองบ่อย ๆ โทษตัวเองบ่อย ๆ และมักจะรู้สึกผิดหรือละอายใจเวลาที่คุณมีความต้องการหรือความรู้สึกเกิดขึ้น

5. คนรู้สึกด้านชา ว่างเปล่า ตัดขาดจากความรู้สึกของตัวเอง หรือไม่สามารถที่จะจัดการความรู้สึกต่าง ๆ ของตัวเองได้

6. คุณรู้สึกว่าอารมณ์ของคุณมันถูกถาโถมได้ง่าย และคุณถอดใจกับสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว

7. คุณมีความภาคภูมิใจในตนเองน้อย (Low Self-esteem)

8. คุณอ่อนไหวกับการถูกปฏิเสธเป็นอย่างมาก

9. คุณมีความเชื่อว่าตัวเองมีตำหนิด่างพร้อยหรือมีความผิดปกติบางอย่างอยู่ในตัวเอง โดยที่คุณไม่สามารถบอกได้ว่ามันคืออะไร

หากคุณอ่านแล้วพบว่ามีหลายข้อตรงกับตัวคุณ ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณเคยมีประสบการณ์การถูกทอดทิ้งอารมณ์ในวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อบอกว่าคุณคือคนที่มีประวัติการถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็กแล้วให้คุณตอกย้ำหรือจมอยู่กับความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น แต่บทความนี้จะมาชวนให้คุณก้าวข้ามอดีตที่เคยถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็ก และสามารถที่จะมีความสุขได้ในแบบฉบับของตัวเอง ดังนี้


1. เรียนรู้วิธีในการรับรู้อารมณ์ของตัวเอง

เด็กที่ถูกทอดทิ้งทางอารมณ์จากพ่อแม่ มักจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองกำลังมีความรู้สึกแบบใดเกิดขึ้น ซึ่งความสำคัญของการบอกได้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกยังไงนั้นจะช่วยให้การตัดสินใจทำได้ดีขึ้น ในขณะที่การตัดสินใจที่ผิดพลาดมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราตัดสินใจไปโดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่ ดังนั้น คุณจึงควรกลับมาสำรวจอารมณ์ตนเองและพยายามจับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ว่าขณะนั้นคุณกำลังมีความรู้สึกแบบใด


2. บอกตัวเองให้ได้ว่าคุณต้องการอะไร และหากคุณต้องการให้คนอื่นช่วยก็บอกเขาให้รับรู้

ก่อนอื่นคุณต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า คุณเองก็คู่ควรที่จะได้รับสิ่งที่คุณต้องการ และสามารถมีความสุขเหมือน กับคนอื่น ๆ ดังนั้น หากคุณมีความต้องการอะไร มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าละอายที่คุณจะอยากได้มันมา โดยขอให้คุณเริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ ง่าย ๆ ก่อน เช่น เมื่อคุณรู้สึกเศร้าและต้องการกำลังใจ คุณก็สามารถหากำลังใจจากใครสักคนได้นะ


3. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัด

แม้ว่านักจิตบำบัดจะไม่สามารถพาคุณย้อนอดีตไปแก้ไขหรือลบเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในตอนเด็กได้ แต่นักจิตบำบัดก็สามารถช่วยให้คุณมีทักษะในการรับมือกับอารมณ์และความเครียดได้ดีขึ้น ซึ่งนักจิตบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญจะช่วยฝึกให้คุณสามารถระบุอารมณ์ของตัวเองได้ ช่วยค้นหาความต้องการของคุณ ฝึกให้คุณค่อย ๆ เกิดความเชื่อใจคนอื่น สร้าง Self-esteem ขึ้นมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์การถูกปฏิเสธ สร้าง Self-love และอาจจะช่วยคุณได้อีกมากมายขึ้นอยู่กับความถนัดและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของนักจิตบำบัดแต่ละคน

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[2] 9 Signs of Childhood Emotional Neglect, and 3 Ways to Heal. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/us/blog/mindful-anger/202001/9-signs-childhood-emotional-neglect-and-3-ways-heal



บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page