พฤติกรรมมาสาย หายบ่อย อาจบอกว่าคุณกำลังเป็น Burnout Syndrome
“หากไม่ได้ทำงานที่รัก ก็ขอให้รักงานที่ทำ” ประโยคนี้ สำหรับคนที่เกิดภาวะ Burnout Syndrome คงคิดว่ามันไม่ง่ายเลย แน่นอนค่ะว่าใคร ๆ ก็มีความใฝ่ฝันอยากทำงานที่ชอบ อยากทำงานที่รัก แต่มีกี่คนกันที่ไปถึงฝัน เลยทำให้คนส่วนใหญ่ต้องทนทำไปกับงานอะไรที่ดวงพามาให้ทำ และแน่นอนค่ะว่า เมื่อต้องทำอะไรที่ชอบบ้าง ไม่ชอบมาก ๆ บ้าง เป็นเวลานานก็จะเริ่มออกอาการ “มาสาย หายบ่อย ทำงานน้อย ๆ เล่นเน็ตหนัก ๆ” แล้วกว่าที่เราจะรู้ตัว เราก็กลายเป็น Toxic People ของเพื่อนที่ทำงานไปเสียแล้ว
บทความแนะนำ “5 วิธีเด็ดรับมือกับ Toxic People ในที่ทำงาน”
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ชีวิตของเราเดินไปถึงจุดนั้น เรามาลองอ่านข้อมูลทางจิตวิทยากันดีกว่านะคะ ว่าเจ้า Burnout Syndrome มันคืออะไร? แล้วจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรดี?
Burnout Syndrome มีชื่อเรียกในวงการจิตวิทยา ว่า “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ซึ่งภาวะนี้มีสาเหตุหลักมาจาก “การขาดแรงจูงใจในการทำงาน” ทำให้เราเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เซ็ง ทำงานช้า อืดอาด ยิ่งเมื่อเจองานเร่ง จะเครียด รู้สึกอึดอัด กดดัน ปวดศีรษะ หายใจไม่ทั่วท้อง ซึ่งอาการเหล่านี้ก็ไปส่งผลให้ร่างกายเกิดความตึงเครียด เป็นต้นเหตุของของโรคมากมาย เช่น
Office Syndrome โรคไมเกรน โรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น
แล้วจะรู้ได้อย่างไรละว่าเรากำลังเป็น Burnout Syndrome อยู่หรือเปล่า?
คำตอบก็คือ แค่คุณผู้อ่านตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้สึกอยากไปทำงาน ก็เข้าข่าย Burnout Syndrome แล้วละค่ะ แต่ถ้าเอาตามหลักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็มีข้อเสนอแนะให้สังเกตอาการ 3 อาการ ดังนี้ค่ะ
1. Exhaustion คือ รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย วัน ๆ ก็นั่งพิมพ์งานอยู่ที่ Office แต่ความรู้สึกเหมือนไปแบกกระสอบข้าวสารมา ยิ่งวันไหนมีประชุมกับผู้บริหาร ความรู้สึกเหมือนร่างแทบสลายกันเลยทีเดียว
2. Negativism คือ มองโลกในแง่ร้าย เบื่องาน ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน แค่ตื่นเช้ามาทำงานก็รู้สึกคลื่นไส้ เวียนหัว อยากอาเจียน พอได้รับมอบหมายงานมาก็พร้อมเทเจ้านายตลอดเวลา เท่านั้นยังไม่พอนะคะ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานก็เลวร้ายเพราะหน้าตาเราจะดูไม่ค่อยเป็นมิตร เหมือนพร้อมตีกับใครตลอดเวลา
3. Professional Efficacy คือ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จากที่เคยเป็นคนไฟแรง ได้งานเช้าเสร็จช่วงสาย เคยมีความมั่นใจในการทำงานและการนำเสนอเป็นเลิศ ก็กลายมาเป็นมนุษย์ลุง มนุษย์ป้า หมดไฟ ได้งานวันจันทร์ทำเสร็จวันศุกร์ เจ้านายถามอะไรก็ตอบช้ามากถึงช้าที่สุด เวลาให้นำเสนออะไรก็จะรีบยกมือโหวตตัวเองออกจากแนวหน้า ไปนั่งเงียบ ๆ หลังห้องเหมือนไม่มีตัวตน
ซึ่งอาการทั้ง 3 อาการที่ได้กล่าวถึงไปทำให้ร่างกายและจิตใจของเราอ่อนล้า หมดชีวิตชีวา นานวันเข้าก็ห่อเหี่ยว มีความเครียดสะสม ทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือเกิดปัญหาสุขภาพจิตจนต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา และผลกระทบที่หนักหนาที่สุด ก็คือ “ถูกไล่ออก” เพราะฉะนั้นแล้วการถูกไล่ออกในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้คงไม่ดีแน่ ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน ตามมาดูวิธีแก้ไขตามคำแนะนำของนักจิตวิทยากันค่ะ
วิธีบอกลา Burnout Syndrome แบบได้ผลถาวร
เมื่อสาเหตุของ Burnout Syndrome มาจาก “การขาดแรงจูงใจในการทำงาน” เพราะฉะนั้น วิธีแก้ ก็คือ การเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานค่ะ ซึ่งการเพิ่มแรงจูงใจตามหลักจิตวิทยา ก็สามารถทำได้ 2 แนวทางด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
1. เพิ่มแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ก็คือ แรงผลักดันจากในความคิด ความรู้สึก ที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ในหน้าที่การงาน เพราะฉะนั้นหากคุณผู้อ่านกำลังรู้สึกหมดไฟ เราก็ต้องปลุกความรู้สึกที่จะอยากเอาชนะ ความรู้สึกที่ต้องการความสำเร็จขึ้นมา โดยวิธีการดังนี้ค่ะ
(1) ท้าทายตัวเอง โดยการตั้งเป้าหมายในการทำงานเป็นรายวัน (2) ทำ Check list งานที่ต้องทำให้เสร็จในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์ (3) ตั้งรางวัลไว้ล่อใจตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนขั้น ขึ้นเงินเดือน หรือง่ายๆ แบบทำงานชิ้นนี้สำเร็จจะไปกินชาบูฉลองให้ตัวเอง แบบนี้ก็ได้ค่ะ แบบไหนดีต่อใจก็จัดโลด
(4) ลดการเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น (5) หา Idol ไว้เป็นตัวแบบในการทำงาน
2. เพิ่มแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์
เมื่อแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทำให้เรามีไฟในการทำงาน แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์จะเป็นแรงผลักดัน ทำให้เรามีชีวิตชีวาในการทำงาน เพราะแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ทำให้เราใส่ใจคนอื่น แสดงน้ำใจต่อคนรอบข้าง ทำให้เราเป็นมิตรมากขึ้น อ่อนโยนมากขึ้น และแน่นอนว่าจะทำให้เราเป็นที่รักในที่ทำงานมากขึ้น จนทำให้เราอยากมาทำงานทุกวันเลยล่ะค่ะ ซึ่งวิธีการเพิ่มแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ก็ทำได้ ดังนี้
(1) มีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงาน เช่น ช่วยถือของ ช่วยทำงานเมื่อเพื่อนร้องขอ อาสาทำงานให้
(2) จดจำเรื่องสำคัญของเพื่อนสนิท เช่น อาหารจานโปรด สีโปรด เรื่องราวที่เพื่อนเล่าให้ฟัง (3) ยิ้มให้ง่าย ทักทายให้ไว มือไม้อ่อน (4) จดจำวันสำคัญของเพื่อนร่วมงาน แค่คุณผู้อ่านทักไปสุขสันต์วันเกิดเพื่อนร่วมงาน ในวันเกิดผ่านหน้าโพสต์ของ Facebook คะแนนความน่ารักของคุณผู้อ่านก็พุ่งปรี๊ดแล้วล่ะค่ะ
(5) จริงใจ รู้จักกาลเทศะ และรู้จักถนอมน้ำใจเพื่อนร่วมงาน
วิธีบอกลา Burnout Syndrome ทั้ง 2 แนวทางที่แนะนำไป ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ขอให้คุณผู้อ่านทำบ่อย ๆ ทำจนชิน ทำจนกลายเป็นตัวเรา ดิฉันเชื่อแน่ค่ะ ว่าโลกในที่ทำงานของคุณผู้อ่านจะน่าอยู่ขึ้นมามากเลยค่ะ
หากสนใจบทความจิตวิทยาเพิ่มเติม เชิญได้ที่ iStrong นะคะ หรือมีเรื่องหนักใจต้องการผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามาให้คำปรึกษา Istrong ก็มีให้บริการค่ะ พบกันใหม่บทความหน้านะคะ
บทความแนะนำ “3 เทคนิคค้นหางานที่รักด้วยตัวคุณเอง
istrong.co ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง : พิชญ์ พิเศษสิทธิ์. 10 กรกฎาคม 2562. ฟังคำตอบจากคุณหมอ! คุณกำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานหรือเปล่า. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2563 จาก https://www.phyathai.com
Comments