top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้ได้อย่างไรว่าลูกแค่ซนไปตามวัยหรือกลายโรคสมาธิสั้นในเด็กไปแล้ว

โรคสมาธิสั้นในเด็ก (Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder, Children - ADHD) เป็น โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งเด็กที่มีอาการสมาธิสั้น มักจะประสบปัญหาในการดำเนินชีวิต โดยมักสังเกตอาการได้ตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะเมื่อเข้าโรงเรียน ซึ่งจะสังเกตได้ว่า เด็กที่มีอาการสมาธิสั้น จะไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้เป็นระยะเวลานานๆ ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จได้ เสียสมาธิได้ง่าย มีอาการกระสับกระส่าย ไม่สามารถอยู่กับที่ได้เป็นเวลานาน และต้องการความสนใจอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น





คำถามก็คือ โรคสมาธิสั้นเกิดได้จากอะไรบ้าง มีวิธีการรักษาอย่างไร ไปจนถึงอาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตเห็นได้มีอะไรบ้าง วันนี้แพรได้รวบรวมคำตอบ จากบทความวิทยาของ Psychology Today มาฝากทุกคนกันค่ะ



โรคสมาธิสั้นในเด็ก


สาเหตุของโรคสมาธิสั้นในเด็ก


นักจิตวิทยาและนักวิจัยได้ทำการศึกษาหาสาเหตุของโรคสมาธิสั้นในเด็ก และค้นพบสาเหตุจากหลายทฤษฎี ดังต่อไปนี้


- ทฤษฎี พันธุศาสตร์ (Genetics) ค้นพบว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จำนวน 25% มีญาติพี่น้องเป็นโรคสมาธิสั้นเช่นกัน ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ยีนส์มีผลต่อ โรคสมาธิสั้น

- การศึกษาของ Child Psychiatry Branch of the National Institute of Mental Health พบว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มีจำนวนสมองบางส่วนน้อยกว่าเด็กทั่วไป ได้แก่ Frontal lobes, temporal gray matter, caudate nucleus และ Cerebellum ซึ่งสมองส่วนดังกล่าวนี้ มีความสำคัญในการแก้ปัญหา วางแผน ควบคุมอารมณ์เราจากสิ่งเร้า และเข้าใจพฤติกรรมของผู้อื่น

- นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ค้นพบว่า ปัจจัยภายนอกอื่นๆ ก็มีผลต่อการเกิดโรคสมาธิสั้นในเด็ก ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์​หรือ เสพยาเสพติดระหว่างที่มารดาตั้งครรภ์ หรือ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารตะกั่วจำนวนมาก เด็กที่เกิดก่อนกำหนด และ เด็กที่ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง

- นักสังคมวิทยาคลินิค ค้นพบว่า โรคสมาธิสั้นในเด็ก เกิดจากโลกยุคดิจิตอลที่มีการรับและตอบข้อความอย่างรวดเร็ว การเล่นวิดีโอเกมส์ หรือดูทีวีมากเกินไป ก็มีผลทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นเช่นกัน



อาการของโรคสมาธิสั้นในเด็ก


จากข้อมูลของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th Edition (DSM-5) ได้กล่าวถึงอาการของโรคสมาธิสั้น ไว้ดังต่อไปนี้


อาการของการขาดความตั้งใจ (inattention)ได้แก่

- ทำผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจบ่อยๆ ไม่สนใจรายละเอียด

- ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ มีบทสนทนากับใครนานๆ ได้

- เสียสมาธิได้ง่าย

- ไม่สามารถทำตามวิธีการ หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จได้

- ไม่สามารจัดการงาน หรือกิจกรรมที่ต้องทำได้

- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะต้องใช้สมาธิในการทำ

- ทำของหายบ่อยๆ

- ลืมสิ่งที่ต้องทำ เช่น การนัดหมาย กิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวัน


อาการของ Hyperactive ได้แก่

- ชอบทะเลาะวิวาท เตะ ต่อย

- อยู่กับที่นั่งไม่ได้

- อยู่ไม่นิ่ง

- อยู่เฉยๆ เป็นระยะเวลานานๆ ไม่ได้

- ไม่สามารถทำกิจกรรมผ่อนคลายได้

- พูดมาก

- ไม่สามารถรอให้ถึงคิวตัวเองได้

- มักเรียกร้องความสนใจ หรือพูดแทรก


อย่างไรก็ตาม การที่เราจะระบุว่า ลูกของเรามีอาการสมาธิสั้น จะต้องมีอาการ 5-6 อาการขึ้นไป และอาการดังกล่าว มีความรุนแรงจนกระทบการดำเนินชีวิตประจำวัน



การรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก


การรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก จะต้องอาศัยปัจจัยหลัก 3 ประการได้แก่ ตัวเด็ก, ครอบครัว และ โรงเรียน ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้


1. รักษาโดยยา (Medications)

ยาจะช่วยให้เด็กสามารถโฟกัสในการทำกิจกรรมได้มากขึ้น ทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคสมาธิสั้น จะเป็นยาประเภท Stimulant ซึ่งมีผลทั้งระยะสั้น และระยะยาว ได้แก่ Amphetamine/Dextroamphetamine (Adderall), Dexmethylphenidate (Focalin), Lisdexamfetamine (Vyvanse), Methylphenidate (Concerta, Ritalin) ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจจะได้รับจากการใช้ยาก็คือ น้ำหนักลด นอนไม่หลับ และปวดศรีษะ เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กที่มีไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีอาการวิตกกังวล ก็มักจะได้รับการรักษาด้วยยาอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ tricyclics, Venlafaxine (Effexor) และ Bupropion (Wellbutrin) เป็นต้น


2. จิตบำบัด (Psychotherapy)

จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา จะช่วยให้เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมไปถึงเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองเพื่อปรับให้ดีขึ้น ช่วยทำให้เด็กยอมรับในตัวเองแม้จะรู้ว่าพวกเขามีอาการสมาธิสั้น ซึ่งวิธีการที่จะช่วยพวกเขาได้แก่ ให้กำลังใจสนับสนุนพวกเขาเมื่อแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม ช่วยพัฒนาทักษะทางด้านการเข้าสังคม เช่น การรอคอย การแบ่งปัน การขอความช่วยเหลือ การตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ผู้ปกครองก็จะต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยจิตแพทย์จะสอนให้ผู้ปกครองจัดการกับลูกของตนที่มีปัญหาสมาธิสั้นอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นต้น





จะเห็นได้ว่าโรคสมาธิสั้นในเด็ก มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งมีผลกระทบเป็นอย่างมากสำหรับเด็กในการเติบโตและประสบความสำเร็จในชีวิต การรู้ข้อมูลเพื่อสังเกตอาการที่แสดงออกในลูกของเราจะช่วยให้เราสามารถช่วยเหลือเขาได้อย่างรวดเร็ว การได้รับคำปรึกษาและรักษาจากจิตแพทย์ที่เป็นมืออาชีพ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ปกครองควรพิจารณานะคะ

 

iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page