top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เมื่อบ้านไม่ใช่ Safe Zoneรับมืออย่างไรเมื่อเป็น “โรคเกลียดคนในบ้าน”


เคยสังเกตไหมคะ ว่าคนในครอบครัวของเรา เป็น “โรคเกลียดคนในบ้านหรือเปล่า” ด้วยสถานการณ์ COVID – 19 ทำให้หลายคนต้องอยู่ภายในบ้าน ทำงานแบบ Work from home ออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด ทำให้คนที่เราใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด คือ คนในบ้าน หรือคนในครอบครัวนั่นเองค่ะ แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหน้าตกใจที่เราใช้เวลากับคนในบ้านมากขึ้น แต่เรากลับรักกันน้อยลง นั่นเป็นสัญญาณบอกว่ากำลังมี “โรคเกลียดคนในบ้าน” เกิดขึ้นในครอบครัวของเรา ซึ่งสังเกตได้จาก แฮชแท็กในทวิตเตอร์ ช่วงปี พ.ศ. 2563 ที่ใช้คำว่า “เกลียดครอบครัว” และ ”เกลียดบ้าน” หรือ คำที่เคยขึ้นแท็กฮิตในเว็บ pantip ที่ว่า “เกลียดครอบครัว” ในปี พ.ศ. 2563 โดยผู้ที่ติดแฮชแท็กดังกล่าวมักจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และเพราะอะไรกันที่ทำให้เกิด “โรคเกลียดคนในบ้าน”


สำหรับมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่มีต่อโรคเกลียดคนในบ้านนั้น จิตแพทย์ท่านหนึ่ง ได้แสดงความเห็นในเพจ “สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย” ไว้ว่า โรคเกลียดคนในบ้าน หรือความรู้สึกเกลียดที่มีต่อพ่อแม่ หรือพี่น้อง เป็นอารมณ์ปกติที่ทุกคนสามารถเกิดขึ้นได้ นั่นก็เพราะคนที่รู้สึกเกลียดเป็นผู้ถูกกระทำให้เกิดบาดแผลในใจมาก่อน ทั้งจากการเลี้ยงดูแบบรุนแรง ความเข้มงวดมากเกินไป การแสดงออกว่ารักลูกไม่เท่ากัน หรือการปลูกฝังค่านิยมแข่งขันกันในพี่น้องก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่บ่มเพาะเพราะความเกลียด จนเกิดเป็น “โรคเกลียดคนในบ้าน” ขึ้นมา กล่าวอีกอย่างก็คือ เพราะการเป็น Toxic people โดยไม่รู้ตัวของคนในบ้านนั่นเอง ที่เป็นสาเหตุให้เกิด “โรคเกลียดคนในบ้าน” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำข้อสังเกตตัวเองว่าเราเป็น Toxic people หรือไม่ ไว้ดังนี้ค่ะ


1. เมื่อเราพูดคุยกับคนในบ้าน คนในบ้านทำหน้าเบื่อหน่าย หรือแสดงออกชัดเจนว่าไม่อยาก รับฟัง ไม่ต้องการพูดคุยด้วย หรือเมื่อเราเข้ามาให้วงสนทนา การสนทนาหยุดชะงักลงทันที พูดภาษาบ้าน ๆ คือ เรามาแล้ววงแตกนั่นเอง


2. รู้สึกหงุดหงิดคนในบ้านตลอดเวลา เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด และพฤติกรรมที่สำคัญ คือ ไม่เก็บอารมณ์ หงุดหงิดก็โวยวายเลย ด่าเลย บ่นไม่หยุด ทำร้ายคน สัตว์ สิ่งของในบ้าน


3. รู้สึกผิดหวังกับคนในบ้านบ่อยแบบสังเกตได้ชัด ซึ่งนั่นอาจไม่ได้เกิดจากคนในบ้านทำให้เราผิดหวัง แต่อาจเกิดขึ้นจากการที่เราคาดหวังกับคนในบ้านอย่างไม่เหมาะสม คือ คาดหวังสูงเกินไป คาดหวังในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถของคนในบ้าน เป็นต้น


4. วางแผนให้คนในบ้านอยู่เสมอ โดยไม่ถามความสมัครใจ หรือรับฟังความเห็นของคนในบ้าน


5. ชอบเปรียบเทียบคนในบ้านอยู่เสมอ เช่น พ่อใจดีกว่าแม่ ลูกคนโตเรียนเก่งกว่าลูกคนเล็กลูกสาวช่วยทำงานบ้านกว่าลูกชาย เป็นต้น


6. คนในบ้านให้ Feedback ว่า เราไม่ค่อยสนใจรับฟังในสิ่งที่เขาพูด


7. มีอคติกับคนในบ้าน เช่น เมื่อมีของหายมักจะโทษลูกเสมอ หรือเมื่อมีสินค้ามาส่งมักจะมองว่าคนในบ้านฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง โดยไม่ถามเหตุผล หรือสอบถามความเป็นจริงก่อน


8. ดุเก่ง ดุจนตัวเองรู้สึกว่ากลายเป็นคนปากร้าย ปากไว ช่างประชดประชัน ดุจนไม่มีใครอยาก เข้าใกล้


9. ไม่เคยขอโทษ ไม่เคยขอบคุณ และไม่เคยใช้คำพูดดี ๆ กับคนในบ้าน


10. ไม่ให้พื้นที่ส่วนตัวกับคนในบ้าน เช่น ไม่ขออนุญาตก่อนเข้าห้องนอนของคนในบ้าน หยิบเงิน หรือของคนในบ้านมาใช้โดยไม่ขออนุญาต แอบดูไลน์ หรือส่องเฟสบุ๊คของคนในบ้าน เป็นต้น


11. คนในบ้านให้ feedback ว่า เราไม่สนใจความรู้สึกของคนในบ้าน


12. ชอบยกตัวเองมาข่มคนในบ้าน เช่น สมัยพ่ออายุเท่าลูกนะ พ่อมีเงินเก็บเป็นแสนแล้ว หรือ ถ้าเป็นแม่นะ อาหารที่ทำมาคงรสชาติดีกว่านี้ เป็นต้น



และผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้แนะนำวิธีการลดความเป็น Toxic people โดยสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ


1. เคารพในพื้นที่ส่วนตัวของคนในบ้าน


ถึงแม้ว่าสถานการณ์ COVID – 19 จะทำให้เราอยู่ด้วยกันมากขึ้น นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของคนในบ้านได้ เพราะฉะนั้น นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ขอให้เคารพความเป็นส่วนตัวของคนในบ้าน โดยขออนุญาต หรือถามความสมัครใจของคนในบ้านก่อนเสมอ เราก็จะไม่เป็น Toxic people ของคนในบ้านค่ะ


2. หาคนกลางในการปรับความเข้าใจ


กว่าจะรู้สึกตัวก็กลายเป็น Toxic people ของคนในบ้านไปเสียแล้ว อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ นักจิตวิทยาแนะนำว่า ให้หาคนกลางที่คนในบ้านสบายใจ อาจจะเป็นเพื่อนของลูก พ่อ แม่ สามี ญาติสนิท มาช่วยพูดคุยปรับความเข้าใจให้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่คนในบ้านจะเป็น “โรคเกลียดคนในบ้าน” ได้ค่ะ


3. เปิดใจรับฟัง Feedback จากคนในบ้าน


วิธีแก้ Toxic people ที่ดีที่สุด ก็คือ การรับฟังเสียงสะท้อนจากคนในบ้าน เพื่อให้เรารู้ว่าคนในบ้านรู้สึกกับเราอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนในบ้านไม่ชอบเรา และยังเป็นโอกาสดีที่เราและคนในบ้านจะช่วยกันหาแนวทางการแก้ไขการเป็น Toxic people ของเราด้วยค่ะ


4. ใช้ความสงบสยบทุกความเคลื่อนไหว


หากรู้ว่าคนในบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่กับเรา ก็ขอให้ใช้ความสงบสยบทุกความเคลื่อนไหว โดยพูดให้น้อยลง แสดงความเกรี้ยวกราดให้น้อยลง แสดงอารมณ์ทางลบให้น้อยลง โดยนักจิตวิทยาแนะนำว่า การใช้วิธี Mind fullness หรือ Relaxation ด้วยการกำหนดลมหายใจ ก็สามารถช่วยลดการแสดงออกของอารมณ์ทางลบไปได้มากค่ะ


5. รู้สึกอย่างไร ก็สื่ออกไปตรง ๆ


จากประสบการณ์ส่วนตัว จะเห็นว่าเวลาที่คนแก่บางคนพูดกับลูกหลานด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือพูดจาทำร้ายจิตใจคนในบ้าน มักจะแฝงไปด้วยเจตนาดี เช่น ห้ามเราออกจากบ้านเพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของเรา บ่นหรือจำกัดการใช้เงินของเรา เพราะเป็นห่วงคุณภาพความเป็นอยู่ในอนาคตของเรานั่นเองค่ะ ดังนั้น จะดีกว่าไหมหากเราสื่อสารตรงตามความรู้สึก เป็นห่วงก็บอกว่าห่วง รักก็กล้าแสดงออก ให้คนในบ้านได้รู้สึกดีและอบอุ่นใจค่ะ



“โรคเกลียดคนในบ้าน” ถึงแม้ว่าอันที่จริงแล้วจะไม่ใช่ “โรค” แต่เป็นความรู้สึกทางลบที่สะสมมาจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งปล่อยไว้นานคงไม่ดีแน่ ดิฉันหวังว่าบทความจิตวิทยานี้จะมีประโยชน์ และช่วยเพิ่มความรักในบ้านให้อบอุ่นมากขึ้นได้นะคะ



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 3 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


 

อ้างอิง

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. เกลียดพ่อแม่แต่ก็รู้สึกผิด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2564

 

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page