top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Homesick จากบ้านไปไกล จะทำยังไงเมื่อใจพังในต่างแดน



แม้ว่ากระแสการอยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศของคนไทยจะมาแรงจนแฮชแท็กย้ายประเทศกันเถอะกลายเป็นอีกแฮชแท็กหนึ่งที่ขึ้นเทรนอันดับต้น ๆ และหลายคนก็มีความใฝ่ฝันที่อยากจะย้ายออกจากประเทศไทยด้วยความหวังว่ามาแล้วจะเจอกับชีวิตดี ๆ ในต่างแดน หลายคนที่ย้ายมาอยู่ต่างแดนแล้วชีวิตลงตัวดีก็จัดว่าโชคดีไป แต่ก็มีหลายคนที่มาแล้วพบว่านอกจากจะไม่ได้เจอกับชีวิตดี ๆ ตามที่คาดหวังเอาไว้ ยังจะต้องเผชิญกับอาการที่เรียกว่าอาการ homesick เข้าไปอีก ซึ่งบางคนก็ไม่ได้สังเกตตัวเองว่ามีอาการ homesick เกิดขึ้นจึงปล่อยผ่านไปโดยเข้าใจว่าตัวเองน่าจะดีขึ้นในอีกไม่นาน ทำให้อาการ homesick ในบางคนพัฒนาขึ้นไปจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิต ผู้เขียนจึงอยากชวนให้คนไทยในต่างแดนหมั่นสังเกตตัวเองว่าเริ่มเข้าสู่อาการ homesick หรือไม่ และหาก “ใช่” จะทำยังไงเมื่อใจพังในต่างแดน


คำว่า “homesick” ตามความหมายที่ Cambridge Dictionary ระบุไว้คือ “unhappy because of being away from home for a long period” หมายความถึงอาการที่บุคคลรู้สึกไม่มีความสุขเพราะว่าต้องจากบ้านไปไกลเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งสาเหตุของอาการ homesick นั้นมีหลายอย่าง ยกตัวอย่างจากเว็บไซต์ webmd ผู้เขียนบทความ “What to Know About Homesickness and Mental Health” กล่าวว่าสาเหตุของอาการ homesick ได้แก่


  • Lifestyle ที่เปลี่ยนแปลงไปจนปั่นป่วน 

การไปอยู่ต่างแดนก็หมายถึงการที่ต้องใช้ชีวิตในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม ส่งผลให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลเพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง และในแต่ละวันอาจจะต้องเจอกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แตกต่างจากความคุ้นเคยไปอย่างมากก็ยิ่งต้องปรับตัวมากตามไปด้วย

  • ความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ยิ่งความเชื่อทางวัฒนธรรมแตกต่างกันมากเท่าไหร่ก็ยิ่งปรับตัวยากเท่านั้น นำไปสู่อาการ homesick ที่ทำให้ไม่รู้สึกสนใจที่จะเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมต่างแดน 

  • เป็นคนที่ปรับตัวยาก

หลายคนมีลักษณะเป็นคนที่ยึดติดกับชีวิตรูปแบบเดิม ๆ ชอบทำอะไรแบบเดิม ๆ และหลีกเลี่ยงการไปเจอกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งคนที่ปรับตัวยากมักจะเกิดอาการ homesick มากกว่าคนที่ปรับตัวง่าย

  • ความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นั่น

จากบทความ “What to Know About Homesickness and Mental Health” ได้ระบุถึงงานวิจัยงานหนึ่งที่ศึกษาในลูกจ้างชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าคนที่มีอาการ homesick ส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 30-39 ปีและอาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นเวลา 6-8 ปี ซึ่งเป็นไปได้ว่าคนที่มีอาการ homesick แม้ว่าจะอาศัยอยู่ต่างแดนมานานพอสมควรมักเป็นคนที่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตัวเองอยู่อาศัย


ทั้งนี้ อาการ homesick ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรคทางจิตเวช และอาการก็มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไปเองได้เมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม หากอาการ homesick เกิดขึ้นอยู่เป็นเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันขึ้นมาได้ เช่น

  • มีอารมณ์หดหู่ซึมเศร้า

  • วิตกกังวล

  • โกรธ/หงุดหงิดง่าย

  • มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงแยกตัวออกจากสังคม

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งสมาธิ

  • มีแรงจูงใจต่ำ

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

  • มีอาการปวดศีรษะหรือปวดท้อง

  • มีอาการปวดตึงตามร่างกาย

  • ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป (กินเยอะไปหรือเบื่ออาหาร)

  • รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง


ทำอย่างไรเมื่อมีอาการ homesick

  1. รับรู้ว่ามันเป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเมื่อย้ายมาอยู่ต่างแดน ซึ่งการฝึกให้ตัวเองอยู่กับปัจจุบันหรือการทำสมาธิ (meditation) เป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยลดอาการลงได้

  2. หากิจกรรมที่ช่วยให้ระบายอารมณ์ออกมาได้อย่างเหมาะสม เช่น ทำงานศิลปะ เขียนระบาย เต้น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ซึ่งกิจกรรมที่เลือกควรเลือกให้เหมาะกับบุคลิกของตัวเอง เช่น ชอบอยู่ตามลำพังหรือชอบเข้าสังคม 

  3. ลองไปในที่ใหม่ ๆ แม้ว่าการออกจาก comfort zone จะทำให้คุณรู้สึกท่วมท้นไปด้วยความกลัวแต่มันก็จะทำให้คุณมีทักษะในการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาด้วยเช่นกัน  

  4. หาของที่เป็นสัญลักษณ์ทดแทนอารมณ์ความรู้สึกซึ่งมีศัพท์เทคนิคทางจิตวิทยาว่า “transitional objects” เพื่อให้คุณรู้สึกอบอุ่นสบายใจขึ้นเมื่อเห็นสิ่งของนั้น เช่น รูปถ่ายครอบครัว ของที่ครอบครัวมอบให้เป็นของขวัญ ฯลฯ 

  5. เก็บความทรงจำเก่า ๆ ไปพร้อมกับการสร้างความทรงจำดี ๆ จากประสบการณ์ใหม่

  6. รักษาสุขภาพร่างกายจิตใจ 

  7. หาทางติดต่อและรักษาความสัมพันธ์กับครอบครัวและกัลยาณมิตร


แต่หากว่าคุณได้พยายามทำทุกอย่างแล้ว แต่อาการ homesick หรือความรู้สึกแย่ ๆ ก็ยังไม่ลดลง รวมถึงเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น รู้สึกอยากหันไปใช้สารเสพติด/การพนัน มีเพศสัมพันธ์แบบยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ตัดขาดตัวเองจากสังคม เริ่มไม่สนใจที่จะดูแลสุขอนามัยของตัวเอง ก็ไม่ควรลังเลที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตหรือรับบริการปรึกษาสุขภาพจิต เพราะหากปล่อยเอาไว้นานโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือก็อาจจะทำให้คุณมีอาการป่วยทางจิตเวชขึ้นมาได้ 


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[2] Homesickness: Signs, Effects & 7 Ways to Cope. Retrieved from https://www.choosingtherapy.com/homesickness/

[3] What to Know About Homesickness and Mental Health. Retrieved from https://www.webmd.com/mental-health/what-to-know-about-homesickness-and-mental-health

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page