top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 แนวคิดส่งเสริมการเรียนรู้ของลูก จาก “ทรงอย่างแบด” สู่ Lifelong Learning



“สร้างสรรค์ความคิด ผูกมิตรซื่อตรง ก้าวอย่างมั่นคง ฟังทรงอย่างแบด” คือ คำขวัญวันเด็กจากนายกสมาคมฟันน้ำนมแห่งประเทศไทย หรือวง Paper Planes วงดนตรีที่สร้างปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” ที่ฮิตในหมู่เด็กอนุบาลของบ้านเราอย่างมาก ซึ่งคำขวัญข้างต้นมีความหมายอย่างลึกซึ้งว่า


  • สร้างสรรค์ความคิด – เนื่องจากคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ สามารถดิ้นรนและพลิกแพลงได้เสมอ

  • ผูกมิตรซื่อตรง – คือ การพยายามคบเพื่อนที่มีความซื่อตรง โดยเราเองก็ต้องซื่อตรงกับเพื่อนเช่นกัน เพื่อให้มีคนคอยสนับสนุนให้การใช้ชีวิตในสังคมไม่ลำบาก

  • ก้าวอย่างมั่นคง – หมายถึง การค่อย ๆ วางแผน ค่อย ๆ ใช้ชีวิต อย่างมั่นคง

และ ฟังทรงอย่างแบด มีความหมายมากกว่าการฝากงานเพลง เพราะนักร้องนำวง Paper Planes คือ คุณฮาย - ธันวา เกตุสุวรรณ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ชีวิตเรามันต้องอยู่ในความสนุก เพราะว่าเรามีชีวิตแค่ครั้งเดียว”

ซึ่งแนวคิดเบื้องหลังคำขวัญวันเด็กสไตล์ “ทรงอย่างแบด” ที่ได้กล่าวไปนั้น สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามรายงานการศึกษาระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่ว่า แนวคิดในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กไทยต้องปรับเปลี่ยนอย่างมาก เพราะหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid – 19 ส่งผลให้เด็กไทยนิยมและสะดวกที่จะเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์มากกว่าแบบเรียนในห้อง รวมไปถึงเด็ก ๆ สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้หลากหลายผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่จำกัดเวลา สถานที่ ค่าใช้จ่าย เพศ และวัย ซึ่งทำให้ต้องมีการนำแนวคิด Lifelong Learning มาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กไทย เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลกนั่นเอง


ตามพจนานุกรม Oxford และตามการให้ความหมายของนักจิตวิทยาการศึกษา ได้ให้ความหมายของ Lifelong Learning ไว้ว่า คือ กิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และความสามารถของเรา โดยเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ผลักดันให้เกิดประสบการณ์ทางการเรียนรู้สั่งสมไปทั้งช่วงชีวิต ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้ก็ได้สรุปแนวคิดในการสร้าง Lifelong Learning ตามคำแนะนำของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตของวัยรุ่นฟันน้ำนม “ทรงอย่างแบด” ไว้ 3 แนวคิดด้วยกัน ดังนี้ค่ะ


1. ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้


1.1 ทุกคนในบ้านต้องมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้

คาถาเด็ดของนักจิตวิทยาในการสร้างพฤติกรรมทางบวก ก็คือ “การกระทำ สำคัญกว่าคำพูด” หมายความว่า ถ้าเราอยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี เช่น ตั้งใจเรียน พูดเพราะ มีมารยาท มีน้ำใจ ผู้ใหญ่ในบ้านต้องแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งการเรียนรู้ก็เช่นเดียวกันค่ะ ถ้าอยากให้ลูกรักการอ่าน สนใจสื่อที่มีคุณภาพ เราก็ต้องทำให้ลูกเห็น และใช้เวลาเรียนรู้ร่วมกันกับเขา


1.2 ไม่จำกัดการเรียนรู้ไว้เพียงแค่สาขาใดสาขาหนึ่ง

ในยุคสมัยที่ดิฉันเติบโตมา พ่อ แม่ หรือผู้ใหญ่ในบ้านบางส่วนจะมีค่านิยมส่งเสริมให้เด็กเก่งเฉพาะด้าน เช่น ดนตรี กีฬา วิชาการ แต่ในความเป็นจริง เมื่อเด็กโตขึ้น ต้องใช้ชีวิตในโลกที่หลากหลาย และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทักษะเดียวที่เขามีจะไม่สามารถช่วยให้เขารอดชีวิตในโลกใบนี้ได้ เพราะฉะนั้นการส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ศาสตร์ในสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นหลัก เป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่ก็ควรเสริมทักษะและความรู้ในด้านอื่น ๆ ไปด้วย เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวในโลกใบนี้ได้


1.3 สนับสนุนการเข้าถึงความรู้ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย

เช่น ช่อง youtube แอปพลิเคชันส่งเสริมการเรียนรู้ เกม กีฬา การพาไปเที่ยว ไปพิพิธพันธ์ ไป home stay ไปชมภาพยนตร์คุณภาพ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจ ต่างก็ส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตซึ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากในการใช้ชีวิตของเขาต่อไปในอนาคต และยังสร้างเสริมความทรงจำที่ดี สร้างความรู้สึกที่ดีทั้งต่อตัวเขาเอง และต่อพ่อ แม่ และคนในครอบครัวด้วยค่ะ


2. ให้ลูกวางเป้าหมายในการเรียนรู้ด้วยตนเอง


2.1 ส่งเสริมให้ลูกรู้จักอาชีพที่หลากหลาย

ในยุคสมัยแม่ของดิฉัน ผู้ใหญ่มักจะสนับสนุนให้เด็กเรียนครู ด้วยต้องการให้ลูกเป็นข้าราชการ ในยุคสมัยของดิฉัน ผู้ใหญ่มักจะสนับสนุนให้ลูกที่เรียนเก่งสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ เพื่อจบมาเป็นหมอ ในยุคสมัยน้องของดิฉัน ผู้ใหญ่สนับสนุนให้เด็กเรียนกฎหมาย เพื่อทำงานเป็นนักกฎหมาย แต่ในสมัยลูกของดิฉัน บอกเลยค่ะว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถมาชี้ให้เด็กเรียนในสายอาชีพที่ตนเองต้องการได้อีกแล้ว เพราะทุกวันนี้อาชีพหลากหลายมาก และแนวโน้มธุรกิจก็เปลี่ยนแปลงไว คาดเดาลำบาก เพราะฉะนั้นส่งเสริมให้ลูกรู้จักอาชีพที่หลากหลายไว้น่าจะดีกับลูกมากกว่าค่ะ


2.2 สร้างความพร้อมในการเรียนรู้

ความพร้อมในการเรียนรู้ หมายถึง การมีสุขภาพกายที่แข็งแรง มีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีอารมณ์สดใส มีการนอนหลับพักผ่อนที่ดี ได้รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้ลูกของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อพื้นฐานชีวิตดี เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้ เมื่อฐานความรู้ หรือมีประสบการณ์ที่ดี เขาก็พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตเมื่อโตขึ้นค่ะ


2.3 สนับสนุนในสิ่งที่ลูกสนใจ

มองย้อนหลับไปสมัยเรายังเด็ก หลายท่านคงเป็นศิลปินน้อย เป็นนักร้องตัวจิ๋ว หรือเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทในโลกสมมุติของเราใช่ไหมคะ แล้วมีสักกี่คนกันที่ยังคงทำสิ่งที่ชอบในสมัยเด็กต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ถ้าคุณคิดถึงความสนุก ความสดใสในวัยเด็กเมื่อเราได้ทำสิ่งที่ชอบ ขอให้มอบช่วงเวลาและโอกาสในการทำสิ่งที่สนใจให้กับลูก ๆ ของเรานะคะ และอย่าลืมส่งเสริมและพัฒนาให้เขาได้ทำสิ่งที่รักไปจนโต เชื่อเถอะค่ะเมื่อเรารักอะไรมากพอ สิ่งนั้นจะพาชีวิตเราไปสู่จุดที่ดีแน่นอน


3. เปิดโอกาสให้ลูกรู้จัก “โลก”


ในยุคสมัยที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เราจะไปไหนก็ได้ หรือใครจะมาหาเราเมื่อไรก็ได้ ทำให้การส่งเสริมให้ลูกรู้จัก “โลก” เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นค่ะ เพราะไม่ต้องรอให้เขาโตขึ้น เอาแค่เขาเป็นเด็กในตอนนี้ โลกก็พร้อมวิ่งมาหาลูกของเราถึงบ้านผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราจับมือ และอยู่ข้าง ๆ ลูกในการเรียนรู้ “โลก” ทั้งในแง่มุมที่ดี และแง่มุมที่ควรสอนให้เขาระวังตัว ดีกว่าให้ลูกไปรู้จัก “โลก” ด้วยตนเองนะคะ


นอกจากการส่งเสริมการเรียนรู้ของลูก โดยการสร้าง Lifelong Learning ตาม 3 แนวคิดจิตวิทยาการศึกษาข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของเด็ก ๆ ที่วง Paper Planes ย้ำอย่างมาก ก็คือ “อย่าตัดสินชีวิตเด็ก” โดยคุณฮาย นักร้องนำ ได้เล่าประสบการณ์ชีวิตของตนเองว่า ด้วยความที่เขา “ทรงอย่างแบด” มีรอยสัก โดยเฉพาะที่คอ ทำให้ถูกผู้ใหญ่บางส่วน และคนอื่น ๆ ตัดสินว่าเป็นคนไม่ดี ทั้ง ๆ ที่เขามีความสามารถด้านดนตรีอย่างมาก ซึ่งก็ได้พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่าเขามีดี นั่นจึงทำให้เราควรตระหนักว่า เราควรให้โอกาสลูกได้ใช้ชีวิตตามที่เขาต้องการ โดยไม่เข้าไปตัดสิน หรือขีดชีวิตของลูก เพราะสุดท้ายลูกก็ต้องอยู่ด้วยตัวของเขาเอง


iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย

 

บทความแนะนำ


อ้างอิง

[1] สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.). (5 พฤษภาคม 2565). การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ “ระบบอุดมศึกษาไทย” ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก สำคัญอย่างไร. รายงานการศึกษาระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว (ฉบับที่ 1: การผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2566 จาก https://www.mhesi.go.th/index.php/all-media/infographic/7315-650505general1.html


 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์ต่อคนอ่าน


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page