top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

การุณยฆาต ทางเลือกสุดท้ายของชีวิต

ในขณะที่เขียนอยู่นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบันทึกของชายชาวไทยผู้หนึ่งที่ตัดสินใจเดินทางไปทำการุณยฆาตตนเองที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากไม่ต้องการทนทุกข์ทรมานกับผลกระทบทางร่างกาย จิตใจ หน้าที่การงานที่เป็นผลมาจากมะเร็งในสมอง ที่จุดเดิมเป็นครั้งที่สาม แน่นอนว่าเขาไม่ใช่คนแรกที่ได้เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อการณ์นี้ ก่อนหน้านี้คุณผู้อ่านคงเคยได้ข่าวเกี่ยวกับคุณตาเดวิด กู๊ดดอล อายุ 104 ปี นักวิทยาศาสตร์ลูกครึ่งอังกฤษ – ออสเตรเลีย ที่เลือกกระทำการการุณยฆาตตนเองที่สวิสเซอร์แลนด์เช่นกัน แต่สำหรับชาวไทยแล้ว ชายหนุ่มท่านนี้เป็นคนแรกที่ผู้เขียนได้ข่าวอย่างเป็นทางการว่าเป็นคนไทยที่เลือกเส้นทางชีวิตเช่นนี้



สำหรับเส้นทางการการุณยฆาตในกฎหมายไทย หรือในสังคมไทยเองก็ตาม กล่าวได้ว่ามีชะตากรรมไม่ต่างจากการทำแท้งเสรี ก็คือเป็นวาระที่พยายามผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเพราะติดปัญหาเรื่องศีลธรรม ถ้าพูดให้ง่ายๆ ก็คือ การทำแท้งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามเป็นบาป การกระทำการุณยฆาตให้ค่าเท่ากับการฆ่าตัวตาย เป็นบาปอีกเช่นกัน



การุณยฆาตคืออะไร?


การุณยฆาต เมื่อพิจารณาที่มาแล้วพบว่า มีรากศัพท์มาจากคำว่า euthanasia หมายความว่า “การตายที่ดีหรือความตายที่สงบ โดยเป้าหมายคือการทำให้ผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัส หรืออยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถตัดสินใจจากไปอย่างสงบ อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ซึ่งการกระทำการุณยฆาตจะแตกต่างไปจากการฆ่าตัวตาย เพราะการฆ่าตัวตายมักเกิดจากความทุกข์ทรมานใจ กระทำลงไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เกิดจากอารมณ์เศร้าที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่า เป็นต้น และตามทัศนะของผู้เขียน มองว่าการฆ่าตัวตายคือสัญลักษณ์ของ “การยอมแพ้” การไม่สู้ชีวิต การหนี้ปัญหา แต่การการุณยฆาตนั้นแตกต่างออกไป



โดยการการุณยฆาตเป็นการตัดสินใจของคนไข้อย่างมีสติ ต้องมีการประเมินอาการของคนไข้จากแพทย์และจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าไม่มีทางรักษา หรือไม่ควรยื้อคนไข้ให้รับความทุกข์ทรมานให้ยาวนานไปกว่านี้อีกต่อไป ในปัจจุบัน การการุณยฆาตมี 2 แบบ คือ Active Euthanasia เป็นการเตรียมเครื่องมือ ฉีดยาให้คนไข้จากไปอย่างสงบด้วยตัวเอง หรืออาจจะมีคนช่วยเหลือ ซึ่งยังไม่เป็นที่ถูกกฎหมายในหลายประเทศ กับอีกแบบ คือ Passive Euthanasia เป็นการหยุดรักษาตามความต้องการของญาติ หรือผู้ป่วยเอง และปล่อยให้คนไข้ค่อยๆ จากไป ซึ่งวิธีที่สองนี่เองที่ชายชาวไทยและคนที่อยู่ในภาวะทุกข์ทรมานจากโรคร้าย หรือสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมตัดสินใจเลือกให้เป็นเส้นทางสุดท้ายของชีวิต



ทางด้านแพทยสมาคมโลก (World Medical Association) ได้จัดทำแนวปฏิบัติในเรื่องการุณยฆาต เรียก "ปฏิญญาแพทยสมาคมว่าด้วยการุณยฆาต" (World Medical Association Declaration on Euthanasia) ความตอนหนึ่งว่า “การกระทำโดยตั้งใจที่จะทำลายชีวิตของผู้ป่วย แม้ว่าจะเป็นการทำตามคำร้องขอของผู้ป่วยหรือญาติสนิทก็ตามถือว่าผิดหลักจริยธรรม แต่ไม่รวมถึงการดูแลของแพทย์ที่เคารพ ต่อความปรารถนาของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิตซึ่งประสงค์ที่จะเสียชีวิตตามธรรมชาติ” ซึ่งฟังดูต่อต้านการการุณยฆาตกลายๆ แต่กระนั้นก็ตาม ยังมีหลายประเทศที่มีกฎหมายรับรองการการุณยฆาต ซึ่งมีผู้เดินทางไปยังประเทศเหล่านี้เพื่อเลือกทางสุดท้ายของชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเทศโคลัมเบีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบอร์ก แคนาดา ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และแน่นอนเป้าหมายยอดฮิต สวิสเซอร์แลนด์



การการุณยฆาตในประเทศไทย


อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นว่าในประเทศไทยนั้น มีการถกเถียงกันเรื่องศีลธรรมของการกระทำ “การุณยฆาต” มาช้านาน อีกทั้งจนถึงปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายที่รับรองเรื่องการทำการุณยฆาต ที่มีใกล้เคียงก็คือ “การทำหนังสือแสดงเจตนา” (Living Will หรือ Advance Directives) ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนาของบุคคลเพื่อที่จะกำหนดวิธีการดูแลรักษาของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นการรับรองสิทธิของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง (Right to Self-determination) ที่จะขอตายอย่างสงบตามธรรมชาติ ไม่ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่าง ๆ จากเทคโนโลยีต่างๆ


การเอาชีวิตผู้อื่น

ประกอบกับความเชื่อทางศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาหลักของประเทศไทย มีความเชื่อที่ว่า ตามพุทธศาสนา ฆราวาสถือเบญจศีลข้อหนึ่งเกี่ยวกับปาณาติปาตา คือการห้ามทำลายชีวิต ไม่ว่าของผู้อื่นหรือของตนก็ตาม กับทั้งห้ามยินยอมให้ผู้อื่นทำลายชีวิตของตนด้วย นอกจากนี้ศาสนาพุทธยังถือว่าชีวิตเป็นของประเสริฐสุดที่บุคคลพึงรักษาไว้ โดยมีพุทธวัจนะหนึ่งว่า "ให้บุคคลพึงสละทรัพย์สมบัติเพื่อรักษาอวัยวะ ให้บุคคลพึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" และ "ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นชีวิตก็ยังมีค่า ไม่ควรที่ใครจะไปตัดรอนแม้ว่าชีวิตนั้นกำลังจะตายก็ตาม หากไปเร่งเวลาตายเร็วขึ้นแม้จะเพียงแค่วินาทีเดียวก็เป็นบาป ด้วยเหตุนี้ว่าโดยหลักแล้ว พุทธศาสนาถือว่าการุณยฆาตเป็นบาป


ซึ่งมีความเห็นของบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย ที่ให้ความเห็นในเชิงคัดค้านการทำการุณยฆาต ดังเช่นความคิดเห็นของคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นว่า "เราคงไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า การุณยฆาตเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ เรารู้ได้อย่างไรว่าแพทย์ทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำไปด้วยเจตนาดีจริง ไม่ใช่ขี้เกียจทำงาน และเกณฑ์วัดว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วยที่สิ้นหวังแล้วอยู่ตรงไหน รู้ได้อย่างไรว่าคนไข้ไม่มีโอกาสรอดแล้วจริงๆ หมอวินิจฉัยถูกหรือเปล่า พยายามเต็มที่แล้วหรือยัง มีทางรักษาอื่นอีกหรือไม่ แพทยสภาต้องให้คำจำกัดความของคำว่า "สิ้นหวัง" ให้ชัดๆ สิ้นหวังเพราะแพทย์หมดทางรักษาจริง หรือสิ้นหวังเพราะแพทย์ทำงานไม่เต็มที่ หรือเป็นเพราะญาติไม่เหลียวแล การทำการุณยฆาตมีช่องโหว่อยู่มากและมีโอกาสถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุตายแล้วเอาอวัยวะไปขาย หรือญาติให้ฆ่าเพื่อเอามรดก เป็นต้น สังคมจึงต้องเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องระหว่างแพทย์กับคนไข้เท่านั้น เพราะมันอาจจะเอื้อให้แพทย์ทำสิ่งผิดได้ เหมือนกับการวิสามัญฆาตกรรม ตำรวจเป็นผู้ที่ถืออาวุธมีสิทธิทำให้คนตายในขณะถูกจับกุมโดยที่ไม่มีใครเอาผิดได้ ในทำนองเดียวกัน แพทย์ก็เป็นผู้ที่ถือเข็มฉีดยาจะทำให้ผู้ป่วยตายเมื่อไหร่ก็ได้ Active Euthanasia เท่ากับ เป็นการวิสามัญฆาตกรรม หรือการฆ่าในอีกรูปแบบหนึ่ง"

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรมีกฎหมายการุณยฆาต



เมื่อพิจารณาผลของการทำการุณยฆาตในประเทศที่มีกฎหมายรับรองพบว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกกฎหมายรองรับการุณยฆาต ตั้งแต่ปี 2539 เป็นประเทศแรกในโลกและพบว่าสถิติการตายประมาณ 9.1% ของการตายทั้งหมดต่อปี เกิดจากการุณยฆาตโดย 2,300 ราย สมัครใจตายและ 400 ราย ตายเพราะแพทย์ลงมือเอง ส่วนอีก 1,040 ราย ถูกการุณยฆาตโดยผู้ป่วยไม่มีส่วนรับรู้หรือให้ความยินยอม นอกจากนี้กฎหมายยังเปิดกว้างให้ผู้ป่วยอายุ 12 - 16 ปี มีสิทธิร้องขอการุณยฆาตได้โดยพ่อแม่หรือญาติให้คำยินยอม



ประเทศเบลเยียม ประกาศออกกฎหมาย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 มีผลบังคับใช้วันที่ 23 กันยายน 2545 อนุญาตเฉพาะผู้ป่วยผู้ใหญ่และให้มีผลบังคับใช้กับผู้ป่วยเด็กในอีก 2 ปีต่อมา แต่ยังมีข้อโต้แย้งว่า แพทย์จะมีสิทธิ์กระทำการุณยฆาตทารกที่มีอาการสมองตายได้หรือไม่ และในปี พ.ศ. 2548 มีกฎหมายรองรับให้เภสัชกรและแพทย์สามารถจำหน่ายและใช้อุปกรณ์การทำการุณยฆาตได้ซึ่ง “การุณยฆาตสำเร็จรูป” ประกอบด้วย ยากล่อมประสาท เช่น Barbiturate และยาประเภทดมให้หมดสติ เป็นต้น



ประเทศลักเซมเบิร์ก ช่วงปลายปี 2551 ใช้อำนาจตามที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้กฎหมายนี้ โดยอนุญาตให้การการุณยฆาตแบบ Passive Euthanasia เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเดือนเมษายน ปี 2552 และต้องได้รับการวินิจฉัยและผ่านความเห็นชอบจากแพทย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป



แพทย์ให้ความยินยอมในการทำการุณยฆาต

ประเทศแคนาดา อนุญาตให้ใช้วิธีการฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ ในรัฐควิเบกโดยสภาผ่านร่างกฎหมายและประกาศใช้เมื่อ 2559 ซึ่งผู้ป่วยต้องอยู่ในขั้นโคม่า อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ไม่มีอาการป่วยทางจิตและจะต้องถูกเขียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมพยานยืนยันอย่างน้อย 2 คน




ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศในบางรัฐ คือ รัฐออริกอนรัฐแรก ตามด้วย มอนแทนา เวอร์มอนต์ วอชิงตัน แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด ฮาวาย และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ป่วย ระยะสุดท้ายเท่านั้น



ประเทศออสเตรเลีย เดิมเมืองนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี มีกฎหมายรองรับให้แพทย์สามารถกระทำการุณยฆาตได้ ทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยเองและญาติผู้ป่วยร้องขอ (Passive Euthanasia) หรือกรณีที่แพทย์ มีส่วนช่วยเหลือในการเตรียมอุปกรณ์เพื่อปลิดชีพตามความต้องการของผู้ป่วย และกระทำด้วย “น้ำมือ” ของผู้ป่วยเอง (Active Euthanasia) แต่ภายหลังที่มีเหตุการณ์ผู้ป่วย 4 ราย ปลิดชีพตนเองด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งโดยแพทย์ (Passive Euthanasia) รัฐบาลกลางจึงได้สั่งยกเลิกกฎหมายทันทีในปี พ.ศ. 2540 ต่อมา รัฐวิกตอเรียทางตอนใต้ของประเทศจึงเป็นเพียงรัฐเดียวที่ประกาศใช้กฎหมาย Voluntary Assisted Dying Act 2017 ซึ่งอนุญาตให้ทำ Passive Euthanasia เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย



แต่สำหรับประเทศไทยนั้น หากแพทย์ท่านใดประทำการุณยฆาตให้ผู้ป่วย แม้ผู้ป่วยจะยินยอมหรือร้องขอเองก็ตาม ก็จะเข้าข่ายเป็นการกระทำฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามมาตรา 288 หรือ 289 แล้วแต่กรณี ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี จึงไม่มีแพทย์ท่านใดยินยอมกระทำการุณยฆาตแม้จะเห็นชัดเจนว่าผู้ป่วยมีความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสก็ตาม


จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การกระทำการุณยฆาตนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด อีกทั้งยังเป็นการพิจารณาค่าของการ “การุณยฆาต” ตามคติ ความเชื่อส่วนบุคคล หากถามว่าการมีกฎหมายที่รองรับการการุณยฆาตนั้นจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจากเหตุการณ์ของ ชายหนุ่มชาวไทยผู้นี้และเรื่องราวของคุณตากู๊ดดอล ต่างก็ชี้ชัดว่าทั้งสองไม่ได้ทำร้ายตัวเอง แต่ร่างกายของทั้งสองกำลังทำร้ายเขา กัดกินเขา กัดกร่อนจิตวิญญาณของเขาจนรู้สึกเหมือนว่า “ตกนรกทั้งเป็น” การการุณยฆาตจึงเป็นทางเลือกที่กล้าหาญ กล้าหาญที่ตัดสินใจจะเดินทางก่อนเวลาไปยังดินแดนหนึ่ง ที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร มีความพยายามที่จะเดินทางไกลไปยังต่างประเทศที่แน่นอนว่าใช้ทุนมหาศาล ทั้งแรงกาย เงินทุน และแรงใจเพราะต้องเดินทางตามลำพังในการไปเพื่อเลือกเส้นทางนี้ ดังนั้นแล้ว จะดีกว่าหรือไม่ที่ผู้ป่วยจะมีสิทธิเลือกการจบชีวิตในบ้านเกิดของตนเอง จะรู้สึกเป็นสุขกว่าหรือไม่ที่ได้อยู่ท่ามกลางคนที่รักก่อนจากไป และมันจะดีกว่าหรือไม่ที่การ “การุณยฆาต” ได้จบการ “ทารุณยฆาต” ที่สร้างความบอบช้ำให้ร่างกายไปเรื่อยๆ จนตายไปเอง


คนสิ้นหวัง คิดทำการุณยฆาต

เช่นเดียวกับความเห็นของคุณสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ให้ความเห็นในเรื่องการุณยฆาต ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 บัญญัติไว้ว่า ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงเกิดความคิดว่า ควรจะให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวัง ไม่สามารถรักษาได้แล้ว รอวันจบชีวิตอย่างทนทุกข์ทรมาน มีสิทธิในการตัดสินใจว่าจะมีชีวิตอยู่หรือจบชีวิตลง เพราะการเลือกที่จะตายหรือมีชีวิตอยู่นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคลแต่ในกรณีที่เขาตัดสินใจเองไม่ได้ เช่น ภาวะจิตใจไม่สมบูรณ์ สมองไม่ทำงาน หรือเป็นผู้เยาว์ ก็ต้องมาพิจารณากันว่า ใครจะเป็นคนตัดสินใจแทน ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการตัดสิน และควรจะรับผิดอย่างไรในกรณีที่ตัดสินใจผิดพลาด เราต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วย เพราะว่าเขาอยู่อย่างทุกข์ทรมาน แต่การุณยฆาต ต้องใช้กับผู้ป่วยที่สิ้นหวังจริง ๆ ไม่สามารถรักษาได้แล้ว หรืออยู่ไปก็ทรมานมากเท่านั้น ถ้ายังมีโอกาสหายแม้เพียงน้อยนิดก็ไม่ควรทำ



แพทย์และนักกฎหมายบางคนคิดว่ากฎหมายน่าจะเปิดโอกาส ให้ทำการุณยฆาตได้ คือ อนุญาต ให้ผู้ป่วยมีสิทธิตัดสินใจเมื่อเขาเห็นว่าตัวเองไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ทุกข์ทรมานมากเกินไป ไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นคนอยู่แล้ว และบางทีการไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาจริงๆ ถ้าเราเปิดโอกาสให้ทำการุณยฆาตได้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์"

 

เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา iStrong


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า


 

อ้างอิง :

1.https://www.facebook.com/notes/vis-arshanakh/%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87/1158425800858376/?fbclid=IwAR0vrII8PVxfZC3ilfVCDNbkbKf881gnyWjNNHaivIwgoaRI881gIkI9p0M

2. ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ. 9 สิงหาคม 2018. ที่ไหนบ้างที่คุณจะสามารถเลือก “วาระสุดท้าย ของชีวิต” ด้วยตัวเองได้. [ออนไลน์]. จาก https://thestandard.co/euthanasia-laws-around-the-world/

3. ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส. 2554. “หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต” บทความในหนังสือ ก่อนวันผลัดใบ. พิมพ์ครั้งที่ 4.

4. กุลธิดา สามะพุทธิ. 2543. การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา. สารคดี. [ออนไลน์]. จาก http://www.sarakadee.com/feature/2000/04/vote.shtml

5. สันต์ หัตถีรัตน์. 2521. การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์.หน้า 112 -118.

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page