ข้อดีของการได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมต่อสุขภาพจิต (Social Support)
จากรายงานด้านสุขภาพจิต พบว่าสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยกำลังมีปัญหา เพราะจากรายงานความสุขโลกเมื่อเดือนตุลาคมปี 2565 ได้รายงานว่า แนวโน้มความสุขคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จากเดิมที่คนไทยมีความสุขอยู่ในลำดับ 32 ของโลก ในปี 2560 แต่ในปี 2565 ตกลงไปอยู่ที่ 61 นอกจากนี้จากข้อมูลประเมินสุขภาพจิตคนไทยเมื่อปี 2564 พบว่า คนไทยมีสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูงถึง 14.5% อยู่ในภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 16.8% และมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 9.5% ซึ่งงานวิจัยทางจิตวิทยาทั้งในประเทศไทย และในระดับสากล พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตได้อย่างดียิ่ง ก็คือ การสนับสนุนทางสังคม หรือ Social Support
ซึ่งการสนับสนุนทางสังคม หรือ Social Support มีความหมายในทางจิตวิทยา ว่า การได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน คนรัก สัตว์เลี้ยง หรือคนที่มีความสำคัญกับเรา ใน 4 ด้าน ได้แก่
1. การสนับสนุนทางด้านอารมณ์ (Emotional Support)
หมายถึง การได้รับการสนับสนุนคนรอบข้างในการให้ความมั่นใจในการแสดงอารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบ เช่น เมื่อเราโกรธ โมโห เศร้า เสียใจ ดีใจ เราก็มีความรู้สึกอยากระบายให้คนรอบข้างรับรู้ เมื่อคนรอบข้างรับรู้ และมีปฏิกิริยาต่อการแสดงอารมณ์ของเราในทางบวก ไม่ว่าจะเป็นร่วมยินดีเมื่อเราดีใจ หรือปลอบใจเมื่อเราเศร้า เราจะรู้สึกดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์
2. การสนับสนุนทางด้านสิ่งของ (Instrumental Support)
คือ การที่เราได้รับความช่วยเหลือ หรือการสนับสนุนจากคนรอบข้างด้านสิ่งของ เครื่องใช้ เงินทอง หรือการกระทำที่ให้ความช่วยเหลือในยามที่เราต้องการ เช่น เพื่อนให้ยืมเงินเมื่อเราเดือดร้อน หรือเพื่อนร่วมงานช่วยเหลือเรื่องงานในยามที่เราหยุดฉุกเฉิน เราจะเกิดความรู้สึกโล่งใจ อบอุ่นใจ และลดความวิตกกังวลลงได้
3. การสนับสนุนทางด้านข้อมูล (Information Support)
เป็นการได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลจากคนรอบข้างในเวลาที่เราต้องการ เช่น คนรักของเราให้คำปรึกษาเราในเวลาที่เราคิดหาทางออกให้กับปัญหาในชีวิต หรือหัวหน้างานให้คำปรึกษาในการทำงานแก้เรา ทำให้เราทำงานได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น ซึ่งหมายความรวมไปถึงการให้ข้อมูล ความรู้ หรือเอกสาร ตำรา ต่าง ๆ ที่ทำให้เราลดปัญหาในชีวิต และใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ
4. การสนับสนุนด้านความเคารพ (Esteem Support)
การสนับสนุนด้านความเคารพ (Esteem Support) เป็นการสนับสนุนทางสังคมที่ส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองอย่างมาก เพราะเป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติ การให้ความเคารพ จากคนรอบข้าง เช่น รับฟังความคิดเห็นของเราโดยไม่ขัด เรารพการตัดสินใจของเรา เป็นต้น
ทั้งนี้ Skarsater และคณะ ได้ทำการศึกษา พบว่า การสนับสนุนทางสังคม (Social Support) ช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหายจากโรคซึมเศร้าได้อย่างรวดเร็ว และยังส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอีกด้วย นั่นเพราะการสนับสนุนทางสังคม (Social Support) มีความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพจิต ดังนี้
1. เห็นความสำคัญของเราเอง
จากงานศึกษาทางจิตวิทยาของนันทภัค ชนะพันธ์ และคณะ พบว่า การสนับสนุนทางสังคม ช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเห็นความสำคัญของตนเองมากขึ้น โดยมีความกล้าตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในสังคม เนื่องจากการสนับสนุนทางสังคมจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่สำคัญอย่างมากต่อผู้ป่วย เช่น พ่อ แม่ คนรัก เพื่อนสนิท พี่ น้อง จะทำให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าตนสำคัญต่อคนรอบข้าง และรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เขาอยู่
2. มีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง
เมื่อเราได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากคนรอบข้าง ทั้งการให้กำลังใจ การอยู่เคียงข้างในเวลาลำบาก การสนับสนุนสิ่งของ หรือเงินทองในยามที่เราลำบาก การช่วยเหลือโดยการให้คำปรึกษา และการแสดงออกว่าคนรอบข้างเห็นคุณค่าในตัวเรา จะทำให้เรามองตนเองในแง่ดี มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง เพราะเรารับรู้ได้ว่าคนรอบข้างมีความรักให้แก่เรา นั่นทำให้เรารักตนเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน
3. เพิ่มความพึงพอใจในชีวิต
ไพศาล แย้มวงศ์ ได้ทำการศึกษาทางจิตวิทยา พบว่า การสนับสนุนทางสังคมจากคนสำคัญในชีวิต เช่น ครู ครอบครัว เพื่อน คนรัก มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับมากกับความพึงพอใจในชีวิต เพราะ การที่เราได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือการได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนรอบข้าง จะทำให้เรามีความสุข และยังกระตุ้นความทรงจำที่มีความสุขในอดีตของเรา ทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเองทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต
4. รู้สึกมั่นคงปลอดภัย
Cohen พบว่า การสนับสนุนทางสังคมทำให้เรารู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางใจ เพราะเราสามารถมั่นใจได้ว่าเมื่อเราลำบาก หรือมีความทุกข์ หรือต้องการความช่วยเหลือ คนรอบข้างของเราจะคอยช่วยเหลือ รับฟัง และไม่ทิ้งไปไหนอย่างแน่นอน อีกทั้งยังทำให้เราลดความวิตกกังวลในการใช้ชีวิต มีความมั่นใจ และมีแรงฮึดในการสู้ชีวิตแม้จะพบอุปสรรคในชีวิตก็ตาม
5. ปรับตัวง่ายขึ้น
งานศึกษาของ จิตติมาพันธุ์ ณ เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า การสนับสนุนทางสังคมช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายมากขึ้น เพราะการได้รับการช่วยเหลือ คำปรึกษา หรือหยิบยืมเงิน ยืมสิ่งของที่จำเป็นจากคนรอบข้างทำให้มีความวิตกกังวลในการใช้ชีวิตลดน้อยลง และสามารถเรียนรู้เพื่อปรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายมากขึ้น
6. สนับสนุนการสร้างประโยชน์แก่สังคมและคนรอบข้าง
พิชามญชุ์ โตโฉมงาม ได้สรุปข้อมูลในงานวิจัยว่า การสนับสนุนทางสังคมทำให้เรามีจิตสำนึกที่จะสร้างประโยชน์แก่สังคมและคนรอบข้างมากขึ้น ทำให้เรามีจิตอาสา มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนมากขึ้น เพราะการที่เราได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากคนรอบข้างทำให้เรารับรู้คุณค่าของเราในสังคม รับรู้ว่าเราเป็นส่วนสำคัญในสังคม และต้องการส่งต่อความช่วยเหลือนั้นให้ผู้อื่นเช่นเดียวกับที่เราได้รับมา
การสนับสนุนทางสังคม หรือ Social Support นั้นเป็นกิจกรรมทางสังคมที่คนรอบข้างสามารถส่งต่อให้กันได้ง่าย ๆ แค่ยิ้ม ทักทาย หรือแสดงความห่วงใย เพราะสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่จริงใจที่เราแสดงต่อกันนั้นนอกจากจะส่งผลความรู้สึกทางบวกในขณะนั้นแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเราเองและคนรอบข้างในระยะยาวอีกด้วย
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ
อ้างอิง
[1] นันทภัค ชนะพันธ์ อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ ประภา ยุทธไตร และ รณชัย คงสกนธ์ . (2556). ความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมและการรู้จักตนเองกับการคืนความสำคัญให้ตนเองของผู้ป่วยหญิงโรคซึมเศร้า. วารสารสภาการพยาบาล ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 เมษายน - มิถุนายน 2556. หน้า 46 – 54.
[2] ไพศาล แย้มวงศ์. (มิถุนายน 2555). การศึกษาการสนับสนุนทางสังคมที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. หน้า 8 -12 และ 49 – 53.
[3] hfocus. (10 ตุลาคม 2565). วันสุขภาพจิตโลก 10 ต.ค. สสส. ชวนคนไทยคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต ภาวะซึมเศร้า. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2566 จาก https://www.hfocus.org/content/2022/10/26160
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์ต่อคนอ่าน
Kommentare