วัยรุ่น-โลกโซเชียล-โรคซึมเศร้า เมื่อสังคมเปลี่ยนไปควรทำความเข้าใจอะไรบ้าง?
- นิลุบล สุขวณิช
- Apr 22
- 2 min read

จากข้อมูลทางสถิติของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย จะเห็นได้ว่าอัตราของวัยรุ่นที่กำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิตและเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้านั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
โดยการสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 18 ปี ผ่านทาง Mental Health Check-in ช่วงวันที่ 12 ก.พ. 65 - 14 ต.ค. 67 พบเสี่ยงซึมเศร้าถึง 51,789 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.28 เสี่ยงทำร้ายตนเอง จำนวน 87,718 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.4
ซึ่งหลายคนคงจะมีข้อสงสัยว่าเพราะอะไรวัยรุ่นในยุคนี้ถึงมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าและทำร้ายตัวเองกันมากขึ้น แต่คำตอบของคำถามนั้นก็ยังคงไม่มีความชัดเจนแบบฟันธง มีเพียงข้อสันนิษฐานที่หลายฝ่ายเริ่มทำการศึกษาและสังเกตว่ามันมีแนวโน้มเข้ามาเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นก็คือ “โลกโซเชียล” แต่ก่อนที่จะไปเรียนรู้ด้วยกันว่าโลกโซเชียลมาเกี่ยวข้องยังไง ผู้เขียนอยากจะหยิบยกข้อมูลคร่าว ๆ ของโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นมาฝากกันก่อน ดังนี้
อาการของโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น
วัยรุ่นแต่ละคนอาจแสดงอาการของโรคซึมเศร้าแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง แต่ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าวัยรุ่นที่เป็นจะมีความเปลี่ยนแปลงในด้านอารมณ์และพฤติกรรม ได้แก่
รู้สึกเศร้า รวมถึงอารมณ์เสียหรือสะเทือนใจจนเกิดการร้องไห้อย่างหนักโดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด
คับข้องใจหรือโกรธแม้แต่กับเรื่องเล็ก ๆ
รู้สึกสิ้นหวังหรือว่างเปล่า
มีความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ
สูญเสียความสนใจหรือเพลิดเพลินแม้แต่กับกิจกรรมที่ตัวเองชอบ
ไม่สนใจหรือรู้สึกห่างเหินจากครอบครัวและเพื่อน หรือเกิดความไม่ลงรอยกัน
ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem)
รู้สึกผิดหรือรู้สึกตัวเองไร้ค่า
ติดอยู่กับความล้มเหลวในอดีตหรือตำหนิโทษตัวเองเป็นอย่างมาก
อ่อนไหวอย่างมากกับการถูกปฏิเสธ มีข้อผิดพลาด และต้องการการยืนยันจากคนอื่นมากเกินจำเป็น
มีปัญหาเกี่ยวกับการคิด การตั้งสมาธิ การตัดสินใจ และการจดจำสิ่งต่าง ๆ
มีความรู้สึกอยู่เรื่อย ๆ ว่าอนาคตดูไม่มีความหวังและชีวิตเต็มไปด้วยความเศร้าหรือความยากลำบาก
เหนื่อยล้าหมดพลัง
นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป
ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงจนส่งผลต่อการเพิ่ม/ลดของน้ำหนักตัว
มีการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด
ไม่สามารถอยู่นิ่งได้
คิดหรือเคลื่อนไหวช้า
มักบ่นว่ามีอาการปวดตามร่างกายบ่อย ๆ เช่น ปวดหัว
แยกตัวออกจากสังคม
ผลการเรียนแย่ลง หรือขาดเรียนบ่อย
ไม่ค่อยสนใจเรื่องความสะอาดหรือภาพลักษณ์ของตัวเอง
ระเบิดอารมณ์ มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือแสดงออกแบบรุนแรง (act-out)
ทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดข้อมือ เผาผิวหนังของตัวเอง
มีแผนที่จะฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
วัยรุ่น-โลกโซเชียล-โรคซึมเศร้า
จากข้อมูลของ Pew Research Center พบว่าวัยรุ่น 95% ใช้ Social Media และวัยรุ่น 45% “ออนไลน์” อยู่เกือบตลอดเวลา เช่น Instagram, Snap Chat, Tik Tok ซึ่งการใช้ Social Media ที่ต่อเนื่องยาวนานเกินไปนั้นส่งผลทำให้เกิดความวิตกกังวล รู้สึกซึมเศร้า และเหงา
อันมาจากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เกิดการกดดันว่าตัวเองจะต้องสมบูรณ์แบบ และกลัวว่าตัวเองจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่คนอื่นกำลังทำกันอยู่ (fear of missing out: FOMO)
โลกโซเชียล กับ Self-esteem ของวัยรุ่น
ฟิลเตอร์แต่งรูปในโลกโซเชียลส่งผลทำให้วัยรุ่นต้องอยู่กับ “มาตรฐานความงามที่ไม่เป็นจริง” อย่างต่อเนื่อง แต่ละภาพที่ลงโซเชียลก็จะต้องผ่านการคัดเลือกมาแล้วอย่างพิถีพิถัน ซึ่งมันอาจนำไปสู่ความรู้สึกว่าตัวเอง “ดีไม่พอ” หรือมีมุมมองต่อตัวเองที่บิดเบี้ยวไป
นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนผ่านจำนวนยอดไลค์และเกิดความรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
โลกโซเชียล กับ ความวิตกกังวล
มีการศึกษาที่พบว่าวัยรุ่นที่ใช้งาน Social Media เป็นเวลานานจะมีความวิตกกังวลเกิดขึ้นและเสี่ยงต่อการเป็นโรควิตกกังวล (anxiety disorder) นอกจากนั้น Social Media สามารถนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ (cyberbullying)
ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่น โดยการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์สามารถทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ และรวมไปถึงโรคซึมเศร้า
ผู้ใหญ่จะมีส่วนช่วยวัยรุ่นในเรื่องนี้ได้ยังไงบ้าง?
วางขอบเขต (Set Boundary) เช่น จำกัดเวลาในการอยู่กับหน้าจอ หมั่นสังเกตพฤติกรรมการใช้ Social Media ของวัยรุ่น และพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้ Social Media เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานและความสำคัญของการมีเวลาพักตัวเองไปจากหน้าจอ
ส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์แบบ face-to-face เพื่อลดการพึ่งพา Social Media ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งจะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาวะในภาพรวมตามไปด้วย
หมั่นสังเกตสุขภาพจิตของวัยรุ่น ใส่ใจต่อสัญญาณของโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ หากสังเกตพบว่าวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าเป็นห่วงก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับวัยรุ่น เช่น ใช้ Social Media อย่างมีสติ ทำให้วัยรุ่นเห็นว่าการพักจากการใช้หน้าจอแล้วไปมีปฏิสัมพันธ์กันแบบจริง ๆ มันดีอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เห็นว่าสภาพสังคมยุคใหม่นั้นทั้งเร่งรีบและมีความกดดันแข่งขันกันสูงขึ้น และแม้ว่า Social Media จะช่วยย่อโลกให้ผู้คนติดต่อเข้าถึงกันง่ายขึ้นแต่มันกลับทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงามากขึ้นอย่างแปลก ๆ สิ่งสำคัญที่ควรพัฒนาให้มีในโลกอนาคตจึงไม่ควรเป็นไปแค่ในทางวัตถุแต่ควรมีนวัตกรรมสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับผู้คนเพื่อรับมือกับภัยเงียบที่เกิดจากการใช้ชีวิตอยู่ในโลกโซเชียลมากจนเกินไป
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
สธ.เผยผลสำรวจสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นปี 65-67 เสี่ยงซึมเศร้า 51,789 ราย.
Retrieved from https://www.hfocus.org/content/2024/10/32003
Teen depression.
Retrieved from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/teen-depression/symptoms-causes/syc-20350985
Teens and Social Media: What Parents Should Know.
Retrieved from https://granitehillshospital.com/blog/teens-and-social-media-what-parents-should-know/
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) เคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นนักเขียนบทความให้กับ ISTRONG และเป็นทาสแมวคนหนึ่ง
Nilubon Sukawanich (Fern) have had experience working as a counseling psychologist at a university and as a speaker on mental health issues and self-development for students for 11 years. Currently, I am a writer for ISTRONG and a cat slave.