คุณกำลังเป็นโรคกลัวการตกกระแส (FOMO) อยู่หรือไม่?
"The fear of missing out - FOMO” เป็นภาษาทางจิตวิทยา ที่ใช้เรียกอาการที่เกิดขึ้นจากความกลัวในการที่จะเสียโอกาส มนุษย์เรามีเวลาเท่ากันคือ 24 ชั่วโมงต่อวัน และแน่นอนด้วยเวลาเท่านี้ เราไม่สามารถที่จะทำทุกอย่างที่เราต้องการได้ บ่อยครั้งเรารู้สึกหงุดหงิด กังวล กระวนกระวาย หรือไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า เราจะเลือกทำหรือไม่ทำอะไร เพราะเรากลัวว่า ถ้าเราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะเสียโอกาสในการทำกิจกรรมอย่างอื่นไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน ที่ข้อมูลข่าวสารอยู่ในฝ่ามือของเรา เรื่องราวต่างๆ ของเพื่อน และคนรู้จักที่ถูกแชร์ในโซเชียลมีเดีย ยิ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการกระตุ้น FOMO ของเรา เรารู้สึกว่า เราพลาดกิจกรรมหรือสิ่งที่เราจะได้ทำกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว เมื่อเราเห็นพวกเขาเหล่านั้นโพสต์ภาพความสุข หรือสนุกสนานในการทำกิจกรรมนั้นๆ โดยปราศจากเรา
มีการศึกษาทางจิตวิทยาของ Carleton และ McGill University ในประเทศ Canada เกี่ยวกับ FOMO โดยการเก็บข้อมูลจากบันทึกประจำวันของนักศึกษาปีหนึ่งซึ่งมอบหมายให้พวกเขาเขียนบันทึกประจำวันติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน
นักจิตวิทยาต้องการที่จะศึกษาว่าบุคลิกภาพแบบไหนมีผลต่อ FOMO บ้าง และมีเดียมีผลมากน้อยแค่ไหนกับ FOMO ผลที่ได้จากการศึกษาก็คือ
1. อาการของ FOMO มีค่าสูงในช่วงสิ้นสุดของวัน และช่วงปลายสัปดาห์ และนักศึกษาที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มีอาการของ FOMO สูงกว่านักศึกษาคนอื่นๆ
2. นักศึกษาที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ร่าเริงแจ่มใส ไม่มีอาการของ FOMO
3. นักศึกษาที่มีอาการ FOMO จะมีอาการเหนื่อยล้า เครียด และนอนไม่หลับร่วมด้วย
4. การได้รู้สิ่งที่พวกเขาพลาดข้อมูลข่าวสารจากเพื่อน หรือโซเชียลมีเดียมีผลต่อ FOMO ไม่ต่างกัน แต่ในโลกยุคปัจจุบัน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดียมีมากกว่า และมีผลอย่างมากต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่านักศึกษาจะเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองวางแผน แต่ด้วยโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้พวกเขามีอาการ FOMO กับกิจกรรมอื่นๆ ที่พวกเขารู้สึกว่าพลาดโอกาสเสมอๆ
5. อาการของ FOMO มีอยู่ แม้ว่าเราจะทำกิจกรรมอื่นแทนและสนุกกับมันก็ตาม
นอกจากการศึกษาข้างต้น ก็ยังมีการศึกษาทางจิตวิทยาของ University of British Comlumbia ที่พบว่า 48% ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีอาการ FOMO สูง เนื่องจากความคาดหวังของพวกเขาที่จะเก็บประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด
FOMO มีผลทำให้เรารู้สึกไม่พอใจกับชีวิตของเราเอง เพราะเราเปรียบเทียบกับคนรอบข้างตลอดเวลา FOMO ทำให้เรารู้สึกเหงา หรือเบื่อง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพจิตทั้งสิ้น
Eric Barker ได้เขียนบทความในนิตยสาร TIME โดยมีใจความว่า คนที่รู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ (Insecure) มีแนวโน้มที่จะมีอาการ FOMO มากกว่าคนทั่วไป ตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นคนอื่นโพสต์เรื่องราวชีวิตของพวกเขาบนโซเชียลมีเดีย เช่น Instagram หรือ Facebook คนที่มีความ insecure ก็มักที่จะรู้สึกว่า ตัวเองพลาดโอกาสต่างๆ หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเพื่อน หรือครอบครัวของพวกเขา
เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกแบบนั้น เราก็จะเลิกให้ความสนใจกับปัจจุบันขณะ ในโลกของความเป็นจริง และใช้ชีวิตอยู่บนโซเชียลมีเดีย โพสต์เรื่องราวต่างๆ ที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข ชีวิตของพวกเขาดีไม่แพ้คนอื่นๆ และในชีวิตจริงพวกเขาไม่ได้ขาดอะไรเลย
นักจิตวิทยาชื่อว่า NIck Hobson ได้แนะนำว่า การต่อสู้กับ FOMO สามารถทำได้โดย ให้เราให้ความสนใจกับสิ่งที่เราได้จากการทำกิจกรรมหนึ่งๆ แทนที่จะนั่งคิดว่า เราพลาดอะไรในการไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งแพรคิดว่าเป็นคำแนะนำที่ดีและง่ายมากในการที่เราจะจัดการกับ FOMO เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองความคิดของเราเท่านั้น สิ่งที่ยากและมีความท้าทายที่จะทำให้สำเร็จก็คือ การมีสติรู้เท่าทันว่าเรากำลังคิดอย่างไร และรู้สึกอย่างไรอยู่
การเลือกทำอะไรสักอย่าง และทำมันอย่างเต็มที่ด้วยศักยภาพที่เรามี ในเวลาที่เราเลือกที่จะทำสิ่งนั้น เมื่อเราตัดสินใจทำสิ่งนั้นๆ แล้วก็โฟกัสในการทำมันให้ดีที่สุดจนสำเร็จ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราจะได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากสิ่งที่เราทำเสมอ เราจะไม่รู้สึกพลาดอะไร หรือ regret กับมันเลย ถ้าเราได้ทำมันอย่างเต็มที่แล้วจริงๆ ค่ะ
____________________________________________________
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
Kommentare