top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

8 เทคนิคทางจิตวิทยา เลี้ยงลูกน้อยช่วงวัยทองสองขวบให้เป็นเรื่องง่ายๆ

แพรเชื่อว่าทุกคนอยากเป็นพ่อแม่ที่ดี และอยากที่จะเลี้ยงลูกของตัวเองให้เติบโตเป็นคนดี คนเก่งด้วยกันทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นเด็กดี มีความสุข สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และประสบความสำเร็จในชีวิตในรูปแบบของเขานั้น ก็ไม่ได้มีสูตรที่ตายตัว เนื่องจากเด็กทุกคนเกิดมาโดยมีอุปนิสัย และความชอบที่แตกต่างกันไป แม้จะเป็นพี่น้องฝาแฝดก็ตาม



ข้อมูลจาก The National Academy of Science ได้ให้ไว้ว่า หน้าที่หลักๆ ของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกมีด้วยกัน 4 อย่าง นั่นคือ

1) การให้ความปลอดภัย และ ดูแลให้พวกเขามีสุขภาพที่ดี

2) รักษาสุขภาพจิตใจของพวกเขาให้สมบูรณ์แข็งแรง

3) พัฒนาทักษะการเข้าสังคมให้กับลูก

4) ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองให้กับลูก ซึ่งหน้าที่หลักๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยให้พวกเขาเติบโต และ ใช้ชีวิตของเขาเองได้อย่างประสบความสำเร็จ





วัยทองสองขวบ


อย่างไรก็ตาม ทุกช่วงวัยของการเลี้ยงลูกมีบททดสอบเพื่อให้เราได้รับมือกับมันอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะในช่วงวัย 2 ขวบ หรือที่เราเคยได้คนพูดถึงคำว่า “terrible twos” หรือ “วัยทองสองขวบ” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กน้อยต้องการที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เด็กน้อยเหล่านี้มีความรู้สึกเกิดขึ้นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น โกรธ เสียใจ ดีใจ กลัว และความต้องการ ซึ่งพวกเขายังไม่สามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ดีเท่าไรนัก และไม่เข้าใจเมื่อเราหยุดไม่ให้เขาทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการทำ จึงส่งผลให้เห็นในพฤติกรรมเชิงลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ฉุนเฉียว กรีดร้องและร้องไห้ หรือแม้แต่ทำร้าย ขว้างปาสิ่งของ





ซึ่งถ้าหากพ่อแม่ไม่สามารถรับมือกับอารมณ์ที่แปรปรวนของลูกน้อยในช่วงวัยทองสองขวบ ได้อย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกในอนาคต เช่น มีการศึกษาของ Yan, Ansari และ Wang ในปี 2019 พบว่า การที่ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ยอมเชื่อฟัง ทำให้พ่อแม่หลายคนจัดการโดยเข้มงวดกับลูก ไม่ให้ลูกทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการทำ จัดการกับชีวิตของลูกมากจนเกินไป ไม่ให้โอกาสลูกในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ ในแบบของพวกเขาเอง ซึ่งจะมีผลต่อพวกเขา คือ ลูก low self-esteem และ ขาดความมั่นใจในตัวเอง เป็นต้น หรือพ่อแม่บางคนที่เครียด และหงุดหงิดกับพฤติกรรมในด้านลบของลูก ทำให้ใช้วิธีการจัดการ โดยการลงโทษ และตะโกนใส่ ใช้อารมณ์กับลูก แทนที่จะจัดการด้วยการใช้เหตุผล ทำให้ลูก ได้รับการถ่ายทอดพฤติกรรมความรุนแรงเมื่อพวกเขาโตขึ้น เป็นต้น



terrible twos


วิธีการเลี้ยงดูและจัดการพฤติกรรมของลูกน้อยช่วงวัยทองสองขวบ ซึ่งแนะนำโดย The American Academy of Pediatrics สามารถทำได้ดังต่อไปนี้


1.ให้ลูกได้รับประทานอาหารและนอนเป็นเวลา เพื่อช่วยให้พวกเขามีอารมณ์ที่ดี ไม่รู้สึกง่วงนอน หรือหิว ซึ่งอาจส่งผลให้แสดงพฤติกรรมในด้านลบออกมาได้


2.ชื่นชมเมื่อพวกเขาทำหรือแสดงออกในพฤติกรรมที่ถูกต้อง และเพิกเฉยเมื่อพวกเขาทำในสิ่งที่ไม่สมควร หรือถูกต้อง


3.ไม่ตีลูก และหลีกเลี่ยงการขึ้นเสียงใช้อารมณ์ เพราะนั่นหมายถึงเรากำลังป็นตัวอย่างพฤติกรรม ที่ไม่ดีให้กับพวกเขา


4.เบี่ยงเบนความสนใจเมื่อเขาเริ่มแสดงพฤติกรรมในด้านลบ เช่น ชี้ชวนให้ดูสิ่งที่น่าสนใจ เป็นต้น


5.จัดกฎระเบียบที่ไม่ซับซ้อน และอธิบายให้พวกเขาฟังถึงเหตุผลที่ไม่ควรทำ เมื่อพวกเขามีพฤติกรรมในด้านลบ ตัวอย่างเช่น บอกลูกว่าต้องจับมือเมื่อจะข้ามถนน เพราะเราไม่อยากให้รถชนพวกเขา


6. เสนอทางเลือกให้กับลูก เช่น หนูจะปิดทีวี แล้วไปนอนฟังนิทาน หรือว่าจะดูต่อได้อีก 5 นาที แต่งดนิทานคืนนี้ และพรุ่งนี้ก็จะถูกลดเวลาดูทีวีลง 5 นาทีด้วย


7. รักษากฎที่ตั้งไว้อย่างเคร่ดครัด เพื่อให้พวกเขารู้ว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำ และจะไม่ได้รับการยกเว้น


8.ใจเย็น พูดกับลูกด้วยน้ำเสียงสุภาพ มั่นคง ห้าม และบอกเหตุผลกับพวกเขา



นี่แหละคะ บทความจิตวิทยาในการเลี้ยงลูกโดยเฉพาะในช่วงวัยที่เด็กกำลังเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง แพรหวังว่า จะเป็นประโยชน์ให้คุณพ่อคุณแม่ หลายๆ ท่าน ไม่มากก็น้อยนะคะ อย่างไรก็ดี หากมีข้อสงสัย อยากปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยาเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ก็สามารถทำได้เช่นกัน การเลี้ยงลูกน้อยให้มีสุขภาพจิตที่ดี (เราเองก็ต้องมีสุขภาพจิตที่ดี) เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะสร้างคนๆ หนึ่งที่จะสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความสุข และจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดในขีวิตของพวกเขาได้ในอนาคตนะคะ

 

iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page