top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

อย่าปล่อยให้ลูกเสพติดความรุนแรง


เลี้ยงลูกให้ไกลจากความรุนแรง

จากข่าวสะเทือนใจที่ดีเจสาวผู้หนึ่งได้รับลูกแมวจรจัดจากเพจแมวหาบ้านไปทรมานจนลูกแมวตาย และนำคลิปวิดีโอที่ถ่ายการทรมานลูกแมวไว้ไปลงในเว็บไซต์ใต้ดินที่รวมวิดีโอรุนแรงไว้ เพื่อให้ผู้ที่มีรสนิยมชอบความรุนแรงเข้ามารับชม และดีเจสาวผู้นั้นก็จะได้เงินคริปโตเคอเรนซี่ เช่น bitcoin เป็นค่าตอบแทน สิ่งที่น่าตกใจจากข่าวนี้นอกจากการทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีความผิดอะไรอย่างทรมานแล้ว ยังพบว่านี้ไม่ใช่การกระทำครั้งแรกของดีเจสาวผู้นี้ อีกทั้งมีความเป็นไปได้สูงว่ามีเรื่องยาเสพติดรวมถึงความบกพร่องทางจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองคงทราบดีว่าข่าวในลักษณะนี้มีอยู่เนืองๆและนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอายุของผู้กระทำความรุนแรงยังมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ หรือกล่าวอีกอย่าง คือ ผู้กระทำความผิดเด็กลงไปเรื่อยๆและทำความรุนแรงที่ส่งผลร้ายในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนคุณพ่อ คุณแม่ผู้ปกครองเกิดความกังวลใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ จะปกป้องเด็กๆจากความรุนแรงอย่างไร ? และจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เด็กๆของเราเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง ?

ทรมานลูกแมว

ในประเด็นของการปกป้องเด็กๆจากความรุนแรง ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้วในบทความเรื่อง “สอนลูกให้รับมือกับการถูกแกล้งได้อย่างไร ?” ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอพูดถึงประเด็นของวิธีป้องกันไม่ให้เด็กๆ เป็นผู้ก่อความรุนแรงแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งเรื่องสาเหตุ วิธีป้องกัน และวิธีแก้ไข โดยมีรายละเอียด ดังนี้

บ่อเกิดความรุนแรง

จากการที่ได้ศึกษางานวิชาการ พบว่า สาเหตุของความรุนแรงมี 2 สาเหตุสำคัญ ได้แก่

1. โรคทางจิตเวช

โรคทางจิตเวชที่มีผลให้ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงนั้น มักจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจาก 3 โรค คือ Oppositional Defiant Disorder หรือโรคดื้อและต่อต้าน พบในเด็กอายุ 3 – 12 ปี โดยจะพบมากในวัย 8 ขวบ เด็กที่เป็นโรคดื้อต่อต้าน จะมีพฤติกรรมต่อต้านคำสั่งของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง โมโหร้าย จงใจต่อต้านขัดขืน เมื่อเด็กโตขึ้นและอาการดังกล่าวยังไม่ได้รับการรักษา มีแนวโน้มสูงที่โรคจะพัฒนาเป็น Conduct Disorder ซึ่งเป็นอาการที่พบในเด็กตั้งแต่ก่อน 7 ขวบ ไปจนถึงอายุ 16 ปี อาการเด่น คือ ก้าวร้าวรุนแรง ชอบใช้ความรุนแรงในทุกสถานที่และทุกสถานการณ์ที่สามารถทำได้ เป็นต้นเหตุของอาชญากรรมเด็ก เช่น ต่อยตี ขโมยของ เสพยา ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย วางเพลิง และสามารถฆ่าคนได้เลยทีเดียว และหากอาการข้างต้นยังคงไม่ได้รับการรักษา ก็สามารถพัฒนาโรคไปสู่ Antisocial Personality Disorder ในวัยผู้ใหญ่ คือ ตั้งแต่อายุ 16 ปี ขึ้นไปได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้พฤติกรรมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและรักษายากมากยิ่งขึ้น

2. การเลี้ยงดู

คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คงคุ้นเคยกับสุภาษิตคำพังเพยที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ความรุนแรง ก็เช่นเดียวกัน หากเด็กๆเติบโตมากับ “แม่พิมพ์” แบบไหนเขาก็จะมีรูปทรงแบบนั้น หากเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่เลี้ยงดูดี ให้ความใส่ใจอบรมสั่งสอน เด้กๆก็จะเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ แต่หากเด็กๆ ถูกเลี้ยงดูมาจากครอบครัวที่มีการทะเลาะตบตี ใช้คำหยาบ ผู้ใหญ่ในบ้านเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เช่น ติดยาเสพติด เล่นการพนัน ดื่มเหล้าหนัก ลักขโมย แน่นอนเลยว่าเด็กส่วนมากที่โตมาในครอบครัวเช่นนี้ย่อมเติบโตมาเหมือนผู้ใหญ่ในบ้านที่เด็กๆเห็น และเป็นปัญหาให้แก่สังคมต่อไป

ความรุนแรง

วิธีกำจัดเมล็ดพันธุ์ความรุนแรง

1. กรณีที่สาเหตุเกิดจากโรคทางจิตเวช

หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองสังเกตเห็นพฤติกรรมผิดปกตอในตัวลูกๆหลานๆ เช่น ก้าวร้าวผิดปกติ จงใจยั่วโมโหบ่อยครั้ง ก่อความรุนแรงในบ้าน ควรรีบพาเด็กๆพบนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เด็กโดยเร็ว เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตเด็กได้วิเคราะห์ วินิจฉัย และให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ซึ่งวิธีการรักษาของผู้เชี่ยวชาญก็จะมี 2 ประเภท คือ การปรับพฤติกรรม (ทั้งตัวน้องคนเดียว และบำบัดแบบครอบครัว) และการรักษาโดยใช้ยา แต่ส่วนมากแล้วจะรักษาทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไป

2. กรณีที่สาเหตุเกิดจากการเลี้ยงดู

หากสาเหตุความรุนแรงเกิดมาจากการเลี้ยงดู สิ่งที่ต้องปรับอย่างเร่งด่วนเลยก็คือตัวของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองเอง โดยการลด ละ เลิกพฤติกรรมรุนแรงเหล่านั้น และชักชวน สนันสนุนให้เด็กๆทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกัน ให้เวลาแก่เด็กๆมากขึ้น และใส่ใจความรู้สึกของเด็กๆให้มากขึ้น ความรุนแรงก็จะลดน้อยลงได้

วิธีลดความก้าวร้าวรุนแรงของเด็กๆ

แต่หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกๆหลานๆที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ในระหว่าง การแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องการที่จะลดความก้าวร้าวเฉพาะหน้า ผู้เขียนก็มีวิธีลดความก้าวร้าวฉบับเร่งด่วนมานำเสนอ 3 วิธี ดังนี้

1. พาเด็กออกจากสถานการณ์โดยเร็วที่สุด เช่น หากเด็กทะเลาะกับเพื่อน และมีแนวโน้ม ที่จะใช้ความรุนแรง คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองต้องรีบกันเด็กออกจากเพื่อนโดยเร็วที่สุด และเมื่อเด็กออกจากสถานการณ์แล้วคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจกับเพื่อน หรือผู้ปกครองของเพื่อนลูก แล้วจึงทำความเข้าใจกับลูกว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม

2. นิ่ง สงบ สยบทุกความเคลื่อนไหว หากลูกโวยวายเสียงดัง พังข้าวของแล้วคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองตอบโต้ด้วยวิธีรุนแรงเช่นเดียวกัน วงจรความก้าวร้าวก็จะไม่จบไม่สิ้น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือนิ่ง สงบ และปล่อยให้เด็กหมดแรงไปเอง เมื่อเด็กอ่อนกำลังลงคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจึงค่อยๆเข้าไปทำความเข้าใจ และอธิบายให้เด็กฟังว่าเด็กต้องรับผิดชอบกับผลการกระทำของเขาอย่างไร เช่น เก็บกวาดบ้าน ในบริเวณที่เขาทำลายข้าวของไว้ หรือหักค่าขนมเพื่อนำมาซื้อของทดแทนสิ่งของที่เด็กทำพัง เป็นต้น

3. กอดชนะทุกอย่าง หากเด็กแสดงความก้าวร้าวในสถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อเด็กเอง หรือต่อผู้อื่น แนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองกอดเด็กไว้ แต่อย่ารัดแน่น ตามแรงเด็ก ขอให้คงความอ่อนโยนไว้ และกอดเด็กเอาไว้โดยไม่ต้องพูดอะไร เมื่อเด็กสงบ เด็กจะบอกความรู้สึกกับเราเอง

ในบทความนี้ เนื้อหาจะหนักไปเสียหน่อย แต่รับรองเลยว่าหากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองได้อ่าน จะเป็นประโยชน์ต่อท่านอย่างมาก หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองมีเรื่องราวสอบถาม หรือต้องการแชร์เรื่องราวอย่างไร สามารถเข้ามาพูดคุยกันได้เสมอ สำหรับในบทความหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น โปรดติดตามนะจ้ะ

 

อ้างอิง :

1. Oppositional Defiant Disorder (ODD). http://www.mayoclinic.com/health/oppositional-defiant-disorder/DS00630 [2018, October 22]

2.วรรณภร สมุทรอัษฎงค์. โรคดื้อ (Oppositional Defiant Disorder). สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2561 จาก http://taamkru.com/th/

3. Conduct Disorder. http://www.mentalhealthamerica.net/conditions/conduct-disorder [2018, October 22]

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page