top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

10 สัญญาณเตือนภัย ว่าผู้สูงวัยในบ้านอาจกำลังเป็นโรคอัลไซเมอร์



เมื่อสูงวัย อะไร ๆ ในร่างกายก็เสื่อม โดยเฉพาะ “สมอง” และโรคสมองเสื่อมในผู้สูงวัยที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด ก็คือ “โรคอัลไซเมอร์” โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ให้ข้อมูลว่า ในทุกปีจะมีผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 10 ล้านคนทั่วโลก อีกทั้งโรคอัลไซเมอร์ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 7 ในสหรัฐอเมริกาตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ จากการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประจำปี 2564 หรือ Alzheimer's Association International Conference(R) (AAIC(R)) 2021 ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ยังให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 57.4 ล้านคนทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2019 เป็น 152.8 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2050


เมื่อมาดูข้อมูลในบ้านเราบ้าง พบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ถึง 89% ของประเทศไทย อยู่ในช่วงอายุ 80 – 84 ปี โดยผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงสูงมักจะเป็นผู้สูงวัยที่ไม่มีกิจกรรมทางด้านร่างกาย เช่น ออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ทำสวน และผลการศึกษายังพบอีกว่าผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ จะเสียชีวิตหลังพบอาการป่วย เฉลี่ย 7 - 10 ปี ซึ่งเพศหญิงเสียบชีวิตช้ากว่าเพศชาย ทางด้านยาที่ให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในปัจจุบันไม่ได้รักษาอาการให้หายไป เพียงแต่ยืดเวลาชีวิตของผู้ป่วยให้ยาวนานขึ้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี รู้ตัวเร็ว รักษาเร็ว ดีกว่ารู้ตัวช้า แล้วอาการหนัก กลายเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคทางจิตเวชทั้งที่เกิดกับผู้สูงวัยเองก็ตาม หรือผู้ดูแลก็ดี ซึ่งนักจิตวิทยามีความกังวลในข้อนี้มาก ด้วยความห่วงใยในบทความจิตวิทยานี้ จึงขอนำ 10 สัญญาณที่บ่งบอกว่า ผู้สูงวัยในบ้านเราอาจกำลังเป็นโรคอัลไซเมอร์ มาฝากค่ะ เพื่อมาคอยสังเกตผู้สูงวัยในบ้านกันนะคะ


1. ลืมง่าย ลืมไว ลืมแม้กระทิ้งสิ่งที่ไม่ควรลืม

การลืมในข้อนี้ เป็นการลืมชนิดที่ไวกว่า The Flash คือพูดกันเมื่อครู่นี้ ก็ลืมเลย ลืมเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ลืมทั้งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และเรื่องใหญ่ ๆ อย่างวันสำคัญ นัดประชุม ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนไม่ใส่ใจ แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ตั้งใจ แต่สมองของเขาไม่ไหวแล้วจริง ๆ


2. ไม่สามารถทำตามขั้นตอนการใช้ชีวิตประจำวันได้

เช่น ลืมวิธีการทำอาหาร ลืมวิธีขับรถ ลืมวิธีใช้งานวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เคยใช้เป็นประจำ และหากไม่รีบรักษาจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแม้แต่กิจวัตรประจำวันก็จะจำไม่ได้ ลืมวิธีอาบน้ำ แปรงฟัน ลืมวิธีทานอาหารเลยก็มีค่ะ


3. มีความยากลำบากในการทำกิจกรรมเดิม ๆ

จากการลืมในข้อ 1 และ 2 ส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตอย่างมาก เพราะจะใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ นานมากขึ้น มีความสับสนมากยิ่งขึ้น และที่นักจิตวิทยากังวล ก็คือ ผู้สูงวัยจะมีความหงุดหงิด และความเครียดในการใช้ชีวิตสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าได้


4. มีความสับสนกับเวลาหรือสถานที่

ผู้สูงวัยจะมีความสับสนว่าตอนนี้เวลากลางวันหรือกลางคืน โดยสังเกตได้ว่ามีการนำกิจกรรมที่ควรทำกลางวันไปทำกลางคืน และนำกิจกรรมที่ควรทำกลางคืนมาทำกลางวัน เช่น นอนทั้งวัน แต่กลางคืนขยันจังเลย ไม่หลับไม่นอน หรือสับสนเรื่องสถานที่ ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน และจะทำอะไร


5. มีความยากลำบากในการตีความภาพที่เห็น

เช่น กะระยะทางยากมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การขับรถ หรือการเดิน การวิ่งมีปัญหา เมื่อทำอาหารทำมีดบาดมือบ่อย เพราะไม่สามารถกะระยะห่างของนิ้วกับมีดได้ หรือทำของหล่นบ่อยครั้ง อ่านหนังสือไม่เข้าใจ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้อาจแยกยากระกว่างอาการทางสายตา กับอาการทางสมอง ผู้ดูแลจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยค่ะ


6. มีปัญหาในการใช้คำให้เหมาะสม

ผู้สูงวัยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มักจะมีปัญหาในการสื่อสาร ไม่ว่าจะทางการพูด หรือการเขียน เพราะมักจะนึกคำไม่ออก แม้จะเป็นคำง่าย ๆ ที่ใช้บ่อยก็ตาม หรือใช้คำไม่ตรงกับความหมายที่ต้องการจะสื่อ ทำให้มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่นตามมา


7. ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรลืม

ในข้อนี้ เราจะพบได้บ่อยว่าผู้สูงวัยที่บ้านมักจะลืมว่าวางแว่นตาไว้ที่ไหน วางกุญแจตรงไหน หานาฬิกาไม่เจอ หรือจำไม่ได้ว่าวางโทรศัพท์มือถือที่ไหน แล้วพอหาเจอมักจะไปเจอในที่แปลก ๆ เช่น ตู้เย็น ตู้ไปรษณีย์ ในไมโครเวฟ เป็นต้น


8. มีปัญหาในการตัดสินใจ

ปัญหาที่พบมีทั้งตัดสินใจเรื่องง่าย ๆ ไม่ได้ว่าจะแต่งตัวอย่างไร จะรับประทานอะไร ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่เราเองก็เป็น แต่กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะหนัก และเห็นชัดอย่างมากถึงความไม่ปกติ เช่น เมื่อป่วย ไม่ไปหาหมอ แต่เก็บสมุนไพรมาต้นทานเอง กลัวอุบัติเหตุรถชนจึงเดินเท้าแทน เป็นต้น


9. แยกตัวออกจากสังคม

จากความผิดปกติที่เราสามารถสังเกตได้ในข้อ 1 – 8 ส่งผลให้ผู้ป่วยมักจะแยกตัวเองออกมาจากสังคม จากที่เคยออกไปเที่ยว ออกไปสังสรรค์ ก็ไม่กล้าออก ไม่กล้าพบหน้าคนรู้จัก หรือแม้แต่การใช้ชีวิตในบ้านเอง ก็มักจะเก็บตัวอยู่ในห้อง เพราะมีความกังวลในการใช้ชีวิตภายใต้ความไม่ปกติของสมองนั่นเอง


10. มีอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

“โรคอัลไซเมอร์” เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง ดังนั้นนอกจากความทรงจำที่เสียไปแล้ว การควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมบางอย่างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยอารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว ขี้น้อยใจ ซึ่งแตกต่างจากอารมณ์และพฤติกรรมเดิมอย่างเห็นได้ชัด


สำหรับในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา โรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์นั้น มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตทั้งตัวผู้สูงวัยเอง และผู้ดูแล เพราะอัลไซเมอร์ทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลมีความเครียดสูงมาก เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภาวการณ์ควบคุมอารมณ์ไม่ปกติ มีการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล เมื่ออาการหนักขึ้นจะจำไม่ได้แม้แต่ชื่อตนเอง ดังนั้น 10 ข้อสังเกตข้างตนจะช่วยในการรู้ตัวว่าผู้สูงวัยในบ้านป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ ยิ่งรู้เร็ว และเข้ารับการรักษาไว จะยิ่งช่วยลดความเครียด และรักษาสุขภาพจิตของทั้งผู้สูงวัยและผู้ดูแลได้มากค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


บทความแนะนำ :



อ้างอิง :

[1] ฐานเศรษฐกิจ. (16 พฤษภาคม 2565). ผลวิจัยชี้ คนไทยป่วยเป็น "โรคสมองเสื่อม" เพิ่มขึ้นปีละ 10%. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2565 จาก https://www.thansettakij.com/general-news/525092

[2] สมิติเวช. (มปป.). 10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์ถามหา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2565 จาก https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/Alzheimer-Signs

[3] Emma Nichols, MPH, et al. The estimation of the global prevalence of dementia from 1990-2019 and forecasted prevalence through 2050: An analysis for the Global Burden of Disease (GBD) study 2019.

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page