top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 วิธีสื่อสารอย่างไรให้ได้ผล 100%



คุณผู้อ่านคะ เคยหรือไม่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาทางการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นพูดไปไม่มีใครฟัง ไลน์ไปหาเพื่อนทีไรกลายเป็นชวนเพื่อนทะเลาะทุกที หรือมีความสามารถพิเศษในการพูดจนคนฟังหลับได้


ปัญหาทางการสื่อสารเหล่านี้ช่างเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดรำคาญใจไม่น้อยเลยทีเดียว ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีการสื่อสาร 3 วิธีด้วยกัน ซึ่งรับรองเลยว่าหากคุณผู้อ่านลองไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน การสื่อสารของผู้อ่านจะประสบความสำเร็จ 100% เลยทีเดียว


อย่างที่คุณผู้อ่านเคยเรียนมาในสมัยเด็กๆ ว่าการสื่อสารมี 2 รูปแบบ คือ

1.แบบที่ใช้ภาษาในการสื่อสาร (วัจนภาษา) ทั้งการพูด และเขียน

2.แบบที่ใช้ภาษากายในการสื่อสาร (อวัจนภาษา)


ซึ่งวันนี้ผู้เขียนจะขอพูดถึงการสื่อสารแบบแรก คือ การสื่อสารแบบใช้ภาษา โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของการสื่อสาร ก็คือ การส่งสารให้ผู้รับฟังเข้าใจถึงความต้องการของผู้พูด โดยมีปัจจัย 2 ประการที่ต้องคำนึงถึงในการสื่อสารก็คือ สื่อสารกับใครและสื่อสารเพื่ออะไร


โดย 2 ปัจจัยนี้เป็นตัวควบคุมสำคัญเลยว่าเราจะใช้คำพูดอย่างไรในการสื่อสาร ใช้น้ำเสียงและวิธีการสื่อสารอย่างไรถึงจะเหมาะสม เช่น การพูดกับใคร? หากผู้ฟังของเราคือเพื่อนสนิท การจะใช้ระดับภาษาอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสบายใจของเราได้เลย เพียงแต่ต้องระวังเรื่องน้ำเสียง และวิธีการพูดไม่ไห้กระทบใจ หรือทำลายมิตรภาพกับผู้ฟัง แต่ถ้าหากผู้ที่เราสื่อสารด้วยคือเจ้านาย การจะใช้ภาษาพ่อขุนก็คงไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง หรือ การพูดเพื่ออะไร? หากเราต้องการให้ผู้อื่นทำดีกับเรา แน่นอนว่าการพูดจาด้วยความนุ่มนวล จริงใจ ไพเราะ ย่อมได้ผลดีกว่าการพูดจากระโชกโฮกฮาก หรือใช้คำพูดหยาบคายอย่างแน่นอน ดังนั้น ก่อนที่เราจะทำการสื่อสารอะไรก็ตามจงมีสติ และพิจารณา 2 ปัจจัยข้างต้นให้ดีก่อนที่จะสื่อสารสนทนา


ทีนี้เมื่อเรารู้แล้วว่าเราจะพูดกับใคร และพูดเพื่ออะไร แล้วผู้เขียนก็ขอพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ 3 วิธีการสื่อสารอย่างได้ผล 100% ดังนี้


1.มีเป้าหมายการสื่อสารที่ชัดเจน

เมื่อคุณผู้อ่านตั้งเป้าหมายในการสื่อสารไว้อย่างไร ขอให้ยึดเป้าหมายนั้นในการสื่อสารให้มั่น และสื่อสารสิ่งนั้นให้คู่สนทนารับฟังด้วยการใช้คำพูดที่ตรงประเด็นแต่นุ่มนวล เช่น หากคุณผู้อ่านต้องการให้เจ้านายเสนอชื่อคูณผู้อ่านในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ในสถานการณ์เช่นนี้คุณผู้อ่านย่อมประหม่าและกังวลใจเป็นธรรมดา แต่เมื่อมีโอกาสได้สื่อสารแล้วขอให้เข้าสู่ประเด็นอย่างรวดเร็ว เพราะทุกนาทีมีค่าทั้งเราและเจ้านาย เมื่อเข้าประเด็นแล้วขอให้คุณผู้อ่านสื่อสารกับเจ้านายเลยว่า คุณผู้อ่านต้องการเลื่อนตำแหน่ง เพราะอะไร และมีความเหมาะสมอย่างไรต่อการเลื่อนตำแหน่ง


ตัวอย่างการสื่อสาร

A : ผ.อ. B คะ ดิฉันขอรบกวนเวลาสักครู่เพื่อปรึกษาเรื่องตำแหน่งงานได้ไหมคะ?

B : ได้สิ! เชิญคุณ A พูดได้เลย

A : ดิฉันได้ทบทวนผลการทำงาน และพฤติกรรมการทำงานของดิฉันเองที่ผ่านมา ดิฉันมีความเห็นว่า ดิฉันเหมาะสมต่อการเลื่อนตำแหน่งในวาระต่อไปค่ะ

B : เพราะอะไร คุณถึงมีความเห็นว่าคุณเหมาะสมมากกว่าคนอื่นละ?

A : เพราะตลอด 5 ปีที่ดิฉันได้ทำงานในตำแหน่งปัจจุบัน ดิฉันไม่เคยมาสายเลย ทำงานส่งตรงเวลา และได้รับการชมเชยบ่อยครั้ง อีกทั้งด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิของดิฉัน ดิฉันเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาองค์กรของเราได้มากกว่าการทำงานในตำแหน่งเดิมของดิฉันค่ะ


2.จริงใจต่อการสื่อสาร

คุณผู้อ่านสังเกตไหมคะ ว่าบ่อยครั้งที่การสื่อสารจะทำให้เราเสียเพื่อน เพราะว่าเราจับได้ว่าคู่สื่อสารของเราไม่จริงใจต่อเรา ซึ่งเราจะสังเกตความรู้สึกของตัวเองได้เลยว่าเราจะรู้สึกว่าการสื่อสารนั้นช่างน่าอึดอัด รำคาญใจ และหากไม่สามารถจบการสนทนาที่เรารู้สึกว่าจอมปลอมนั้นลงได้ จะกลายเป็นการทะเลาะวิวาท และทำลายความสัมพันธ์ทันที แล้วทำอย่างไรละ ที่การสื่อสารจะไม่ไปทำลายความสันพันธ์ คำตอบก็คือ เราก็ต้องจริงใจกับผู้ที่เราสื่อสาร การจริงใจ ณ ที่นี้ ก็คือซื่อตรงต่อข้อมูลที่เรามี ซื่อตรงต่อความรู้สึกของเรา รู้เท่าไหร่ก็พูดเท่านั้น รู้สึกอย่างไรก็สื่อสารออกไปอย่างนั้น


ตัวอย่างการสื่อสาร

B : คุณ C ในฐานะที่คุณเป็นหัวหน้างานคุณ A ผมขอคำปรึกษาเรื่องการเลื่อนตำแหน่งของคุณ A หน่อยสิ

C : ได้เลยค่ะ ผอ.

B : คุณคิดว่าคุณ A เหมาะสมที่จะได้เสนอชื่อเพื่อเลื่อนตำแหน่งครั้งต่อไปไหม?

C : คุณ A ได้ทำงานในตำแหน่งปัจจุบัน 5 ปี แต่ดิฉันเพิ่งเข้ามาเป็นหัวหน้างานคุณ A ได้ 2 ปี ในช่วงเวลาที่ดิฉันได้ทำงานร่วมกับคุณ A คุณ A เป็นคนมีสามารถ อัธยาศัยดี และมีภาวะผู้นำที่ดีค่ะ

B : หากคุณ A ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาจริง คุณคิดว่าองค์กรของเราจะเป็นอย่างไร?

C : สำหรับข้อดี เราก็จะได้คนเก่ง มีความสามารถที่สามารถแสดงศักยภาพได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถพัฒนาองค์กรได้มากยิ่งขึ้นค่ะ แต่สำหรับผลกระทบในอีกทางที่เราอาจจะต้องรับมือก็คือ คุณ A อายุยังน้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่ควรได้รับการเลื่อนตำแหน่งในวาระต่อไป ซึ่งอาจทำให้คนอื่นๆไม่พอใจได้



3.ใช้ภาษาที่เหมาะสม ทั้งภาษาพูด และภาษากาย

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า หากเราต้องการให้ผู้อื่นทำดีกับเรา แน่นอนว่าการพูดจาด้วยความนุ่มนวล จริงใจ ไพเราะ ย่อมได้ผลดีกว่าการพูดจากระโชกโฮกฮาก หรือใช้คำพูดหยาบคายอย่างแน่นอน ดังนั้น หากเรามีเป้าหมายในการสื่อสารอย่างใด ก็ควรใช้คำพูด ระดับภาษา นำเสียง และท่าทางการสื่อสารที่เหมาะสมกับเป้าหมายของเรา เมื่อเราปรับคำพูดและท่าทางให้เหมาะสมกับเป้าหมายของเราแล้ว หากคุณผู้อ่านต้องการเพื่อนก็จะได้เพื่อน หากคุณผู้อ่านต้องการความช่วยเหลือก็จะได้รับการช่วยเหลืออย่างแน่นอน


ตัวอย่างการสื่อสาร

C : คุณ A ผอ. B ได้มาแจ้งดิฉันแล้วละว่าคุณ A ต้องการเลื่อนตำแหน่ง

A : หัวหน้า C คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้คะ

C : ดิฉันเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนคนมีความสามารถและนิสัยดีอย่างคุณ A ค่ะ แต่ดิฉันต้องการถามความคิดเห็นของคุณ A สักข้อหนึ่ง

A : ได้เลยค่ะ หัวหน้า C มีข้อสงสัยอะไร ดิฉันยินดีให้คำตอบเสนอค่ะ

C : หากคุณ A ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจริง แต่ต้องเผชิญกับปัญหาการต่อต้านจากผู้อาวุโสกว่าที่เขาเองก็มีความคิดเห็นว่าเขาก็ควรได้เลื่อนตำแหน่งเช่นเดียวกับคุณ A คุณ A จะมีวิธีการรับมืออย่างไร?

A : หากดิฉันได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ไปสร้างความไม่พอใจให้พี่ๆที่ร่วมงานด้วยกันมา ดิฉันจะขอพูดคุยกับพี่ๆเพื่อนปรับความเข้าใจค่ะ ดิฉันจะพูดคุยด้วยความจริงใจ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ดิฉันยินดีน้อมรับและปรับตัวให้สามารถทำงานในตำแหน่งได้

C : หากเช่นนั้น ดิฉันจะยืนยันเรื่องการเสนอชื่อเพื่อเลื่อนตำแหน่งของคุณ A กับ ผอ. แต่ผลจะเป็นเช่นไรนั้น ดิฉันก็ไม่สามารถยืนยันได้ ณ ตอนนี้

A : เพียงหัวหน้า และ ผอ. เห็นด้วยกับความเหมาะสมในความสามารถของดิฉัน และกรุณาเสนอชื่อดิฉัน ดิฉันก็ซาบซึ้งมากแล้ว และขอขอบพระคุณมากค่ะ

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page