top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ 3 วิธีจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหัก


ถ้าย้อนกลับไปสมัยที่เรามีรักครั้งแรก ตอนเราอกหักมันเกิดความรู้สึกเหมือนโลกแตกเลยใช่ไหมคะ ทั้งเสียใจ เสียศูนย์ กันเป็นเดือน ๆ บางคนหากมีความคาดหวังกับความรักครั้งแรกมาก ก็อาจต้องใช้เวลาเป็นปีเลยทีเดียวค่ะ กว่าชีวิต และสภาพจิตใจจะกลับมาเข้าที่เข้าทาง แต่พอเราอกหักในครั้งต่อ ๆ มา เราก็สามารถใช้เวลาน้อยลงในการ Move on หรือใช้เวลาน้อยลงในการจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหัก แต่เป็นเรื่องยากมากค่ะที่เมื่อเราอกหักแล้วเราจะไม่เกิดความรู้สึกทางลบขึ้นมาเลย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเศร้า เสียใจ โกรธ หรือท้อแท้ในการใช้ชีวิต ด้วยความห่วงใยจาก iSTRONG ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอเสนอข้อแนะนำของนักจิตวิทยา 3 วิธี ในการจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหัก เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ทุกคน ในการจัดการความรู้สึกหลังจากการอกหัก อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ คือ จัดการความรู้สึกได้ไวมากขึ้น เยียวยาจิตใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และสามารถกลับมามีความสุขในการใช้ชีวิตได้เร็วมากขึ้นค่ะ

ก่อนอื่นเรามาคุยกันถึงปัญหาหรือความคิด ความรู้สึกที่ตามมาจากการอกหักกันก่อนนะคะ ในเวที Ted Talk เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2015 Guy Winch นักจิตวิทยาผู้เป็นทั้งนักพูด และนักเขียนชื่อดัง ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อเราอกหัก เราจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ ๆ 3 ข้อ คือ


1. ความเหงาทำให้เราท้อ


เมื่อเราอกหัก นอกจากความเศร้าแล้ว ความเหงาก็เป็นอีกความรู้สึกที่เราต้องเจอ และบอกเลยค่ะว่าจัดการความรู้สึกยากมาก เพราะเผลอ ๆ เหม่อ ๆ เราก็เหงาแล้ว พอเหงาเราก็กลับไปคิดถึงวันชื่นคืนสุข ที่เคยมีอดีตคนรักอยู่ในชีวิต และเมื่อเราเกิดเผลอคิดถึงวันเก่า ๆ เราก็รู้สึกเศร้า เสียใจ รู้สึกผิด โทษตัวเองตามมา และในที่สุด เราก็เกิดความท้อใจที่จะเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตต่อไปตามเดิมได้


2. เกิดความคิดว่า “อยู่คนเดียวไม่ได้”


ในกรณีที่เรารักใครมาเป็นเวลานานมากกว่า 5 ปี แต่แล้ววันหนึ่งเราก๊อกหักจากคนรัก ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานานมาก เรามักจะเกิดอาการเคว้งคว้าง เพราะเรามีคนรักมานานจนลืมไปแล้วว่าการใช้ชีวิตอยู่คนเดียวเป็นอย่างไร และการเคว้งคว้างนั่นเองที่ทำให้เราเกิดความคิดที่ว่า “ฉันไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้” ซึ่งความคิดดังกล่าวทำให้เราขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต และทำให้เราหยุดความพยายามที่จะ Move on ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในวงจรอุบาทว์ของคนอกหัก คือ เศร้า เหงา คิดถึงคนรักเก่า ฟูมฟาย ปิดกั้นตัวเองจากคนอื่น ๆ แล้วก็วนไปเศร้าใหม่ เช่นนี้เรื่อยไป

3. เชื่อว่าการใช้ชีวิตต่อไปโดยลำพังเป็นเรื่องยาก


ปัญหาจากการอกหักในข้อต่อมาที่ Winch นักจิตวิทยาชื่อดัง กล่าวว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ก็คือ ทำให้เกิด “ความเชื่อที่ผิดจากความเป็นจริง” หรือทำให้คนที่อกหักเกิดความเชื่อว่า “การใช้ชีวิตด้วยตนเองเป็นเรื่องลำบาก” จึงทำให้คนที่แกหักอยู่ในสภาวะอ่อนแอทั้งทางจิตใจ และสังคม เพราะไม่ออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ครอบครัวก็ไม่ไปเจอ เพื่อนสนิทก็ไม่ไปพบ ทำอะไรง่าย ๆ ด้วยตนเอง ก็ขาดความมั่นใจ เช่น ทานข้าวคนเดียว ดูภาพยนตร์คนเดียว ไปเที่ยวคนเดียว และเมื่อความเชื่อนั้นฝังรากลึก ก็ทำให้คนที่อกหักกลายเป็นโรคซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล เครียด หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ตามมา รวมถึงอาจทำร้ายร่างกายตนเองด้วยค่ะ


ซึ่ง Winch ได้ให้ข้อแนะนำในการจัดการกับปัญหา หรือการจัดการความรู้สึกจากอาการอกหัก เอาไว้ 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้ค่ะ


1. ทำกิจกรรมที่พาออกจากความเศร้า


เมื่อความเศร้าจากการอกหักนำพาความเหงา รวมถึงความคิด ความเชื่อที่บั่นทอนกำลังใจในการใช้ชีวิตของเรา ดังนั้นวิธีแรกในการจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหัก ก็คือ การไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเศร้าเป็นเวลานานค่ะ โดยการพยายามไม่อยู่คนเดียว หากย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน หรือหากไม่สามารถย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านได้ ก็ลองติดต่อชักชวนเพื่อนสนิทให้มาอยู่ด้วยสักพัก เพื่อให้เราสามารถลืมความเศร้า และมีสภาพจิตใจเข้มแข็งพอที่จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองค่ะ


2. ไม่พยายามคิดหาเหตุผล


เป็นปกติที่เมื่อเราอกหักเราจะเกิดความรู้สึกวนเวียนอยู่ที่ความเศร้า ความเหงา เสียใจ ความโกรธ และโทษตัวเองว่าเพราะเราดีไม่พอเขาถึงไม่รักเรา ทั้งที่ในความเป็นจริง คนไม่รักก็เพราะไม่รักเท่านั้นเลยค่ะ ไม่มีเหตุผลใด ๆ คนจะไปก็ปล่อยเขาไป ส่วนเราที่ยังอยู่ก็พยายามอย่าซ้ำเติมตัวเอง แต่ให้เสริมกำลังใจให้ตัวเราด้วยการมองหามุมบวกของตัวเราเอง เช่น รูปลักษณ์ภายนอก ลักษณะนิสัยใจคอ ความสามารถที่เรามี เป็นต้น หรือถ้าเราเห็นแต่ข้อเสียของเราเต็มไปหมด ก็ใช้วิธีเสริมข้อดีของเราด้วยการเข้าคอร์สต่าง ๆ อบรมออนไลน์ หรือไปเรียนต่อ เป็นต้น เพื่อให้เราลืมความเศร้า ลดการโทษตัวเอง และเพิ่มความรู้สึกทางบวกให้แก่ตัวเองด้วยค่ะ


3. เปลี่ยนโฟกัส หาอะไรทำ


ถ้าการอยู่ว่าง ๆ จะทำให้เราเหงา ก็พาตัวเองไปเหนื่อย หรือทำตัวให้ยุ่งจนไม่มีเวลาเหงากันค่ะ เช่น ไปเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก เพิ่ม หรือลงเรียนออนไลน์กับเพื่อน กับคนในครอบครัว หรือไปเป็นอาสาสมัครต่าง ๆ เช่น ดูแลเด็ก ดูแลผู้สูงอายุ ดูแลสัตว์ป่วย เป็นต้น ซึ่งนอกจากคุณจะไม่มีเวลาให้ว่างแล้ว ยังเป็นการ up skill ให้เราเก่งขึ้น แกร่งขึ้น และยังสามารถทำเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างและสังคมได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ


การอกหัก เป็นประสบการณ์สามัญประจำชีวิตที่เราต้องพบเจอ เพราะฉะนั้นแล้วการเรียนรู้เทคนิคการจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหักไว้จึงเป็นเรื่องจำเป็นค่ะ เพราะถึงแม้คุณผู้อ่านจะไม่ได้นำมาใช้กับตัวเอง ก็ยังสามารถนำไปช่วยเยียวยาจิตใจเพื่อน หรือคนในครอบครัวที่กำลังอกหักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เขาสามารถกลับมามีความสุขในชีวิตโดยเร็วที่สุดค่ะ แล้วพบกันใหม่บทความจิตวิทยาหน้านะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page