8 วิธี Move on จากความสัมพันธ์เป็นพิษ ‘อกหักดีกว่าทนกับความรักแย่ ๆ’
ท่ามกลางสถานการณ์ COVID – 19 ที่ร้อนแรง ก็ได้มีข่าวสะเทือนขวัญเกี่ยวกับการฆาตกรรม คนรักโดยดาราชายคนหนึ่ง เหตุการณ์นี้ทำให้คิดว่า “อกหัก น่าจะดีกว่าทนอยู่กับความรักแย่ ๆ” เพราะเมื่อมาดูสถิติการทำร้ายร่างกายในครอบครัว ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID – 19 แล้ว จะเห็นเลยค่ะว่า ตัวเลขน่ากลัวไม่แพ้ยอดผู้ติดเชื้อ COVID – 19 เลยค่ะ โดยสถิติจากศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 -2563 พบว่า มีจำนวนเฉลี่ย 1,400 ราย/ปี และความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิง ทั้งนี้จากผลการสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2562 - เมษายน 2563 พบว่า 87% เป็นความรุนแรงทางร่างกาย 9% เป็นความรุนแรงทางเพศ และ 4% เป็นความรุนแรงทางจิตใจ หากดูกันเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของ COVID - 19 พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรื่องความเครียดทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้ในครอบครัว และการใช้สารเสพติด
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า สถิติความรุนแรงในครอบครัว ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 – พฤษภาคม 2564 มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 1,492 ราย เป็นเพศหญิง 81% โดยมีความสัมพันธ์แบบสามี-ภรรยา 39% เมื่อดูถึงช่วงวัยของผู้ถูกกระทำความรุนแรง พบว่า อยู่ในวัยกลางคน 32.4% และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 32.1% และที่น่าตกใจ คือ ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเลือกที่จะไม่ดำเนินคดีสูงถึง 78%
และจากการรวบรวมสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 - 2563 ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข่าวความรุนแรงในครอบครัว แบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่ การฆ่ากัน การฆ่าตัวตาย การทำร้ายกัน การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในครอบครัวอื่น ๆ โดยความรุนแรงในครอบครัวที่พบมากที่สุด คือ “การฆ่ากัน” จากการคำนวณค่าเฉลี่ยรวมระหว่างปี พ.ศ. 2555 - 2563 พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงถึง 57.82% และสถานที่ก่อเหตุยอดฮิต ก็คือ ภายในบ้านของตนเอง
เมื่อมองตัวเลขสถิติการถูกทำร้ายจากคนที่รักด้านบนแล้ว ต้องขอย้ำอีกครั้งเลยค่ะว่า “อกหัก ดีกว่าทนอยู่กับความรักแย่ ๆ” เพราะจากสถิติทางจิตวิทยา พบว่าผลร้ายแรงที่สุดของการอกหัก คือ การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่เมื่อดูจากข้อมูลที่นำมาเสนอ จะเห็นว่า ผลร้ายแรงที่สุดของการทนอยู่กับความรักแย่ ๆ คือ การไม่มีชีวิตอยู่บนโลก ซึ่งรุนแรงกว่ามากเลยค่ะ ด้วยความห่วงใย เราจึงขอแนะนำวิธี Move on จากความสัมพันธ์เป็นพิษ ตามเทคนิคทางจิตวิทยา Reality Therapy มาฝากกันค่ะ
ก่อนอื่นขอแนะนำเทคนิคจิตวิทยา Reality Therapy กันก่อน เพราะหลายคนอาจจะไม่คุ้นหู เทคนิค Reality Therapy นั้น เป็นแนวทางการบำบัดทางจิตวิทยาตามแนวคิดของ William Glasser โดยมีหลักคิดสำคัญ ว่า “จงรับผิดชอบและควบคุมวิถีชีวิตของเราเอง และเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา” นั่นก็คือ การเน้นให้ผู้รับการบำบัดมีความรับผิดชอบในชีวิตมากขึ้น มีความกล้าที่จะยอมรับและเผชิญหน้ากับผลของการกระทำของตนเอง ซึ่งจะทำให้เรามีความกล้าที่จะอกหัก และ Move on ออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษได้อย่างกล้าหาญค่ะ โดยเทคนิค 8 ข้อ มีดังนี้ค่ะ
1. ตั้งเป้าหมายในชีวิต
ก่อนจะกล้าอกหัก ต้องกล้าที่จะรักตัวเองก่อน โดยเริ่มจากมาตั้งเป้าหมายในชีวิตกัน ว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการอะไร อยากทำอะไร มีความฝันอะไร แล้วมาวางแผนชีวิตที่ละขั้นกันค่ะว่าต้องทำอย่างไร ถึงจะไปให้ถึงเป้าหมายชีวิตของเรา และค่อยทำตามฝันให้สำเร็จต่อไปค่ะ
2. อยู่กับปัจจุบัน
หากคุณกำลังมองสถานการณ์ความรักแย่ ๆ ของคุณ แล้วนำไปวาดฝันเหมือนนิยายว่าถึงเขาจะร้าย สุดท้ายก็จะรักเรา ตื่นก่อนค่ะทุกคน ความรักมันแย่ ก็คือแย่ค่ะ คนเจ้าชู้ ก็คือเจ้าชู้ คนที่ร้ายกับเรา ยากค่ะที่ปุ๊บปั๊บจะมาใจดี รักเราขึ้นมา อยู่กับปัจจุบันมองสถานการณ์ตามความเป็นจริง แล้วก็วางแผนที่จะก้าวออกมาดีกว่าค่ะ
3. เชื่อในตัวเอง
มีคนรู้จักของเราหลาย ๆ คน ที่คบกับคนรักมานานกว่า 10 ปี แล้ววันหนึ่งคนรักเปลี่ยนไป แต่หลายคนก็เลือกที่จะทนอยู่ในความสัมพันธ์แย่ ๆ เพราะไม่เชื่อมั่นในการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เพราะเคยชินกับการใช้ชีวิตที่เคยมีเขา หากต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ขอให้ตั้งสติ แล้วย้ายไปอยู่กับครอบครัวของเรา ก่อนจะค่อย ๆ ปรับการใช้ชีวิตให้อยู่ได้ด้วยตนเองนะคะ
4. ค้นหาจุดเด่นของเราเอง
วิธีการหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำว่า จะสามารถช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง ก็คือ การค้นหาจุดเด่นของเรา ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปร่างหน้าตา แต่ยังรวมไปถึงความสามารถ ความรู้ และทักษะที่เราถนัดค่ะ เช่น ฝีมือการทำอาหารเป็นเลิศ เป็นนักเลี้ยงแคคตัสมืออาชีพ เป็นยอดนักเต้น cover แบบนี้ เป็นต้นค่ะ
5. กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา
ปัญหาใหญ่ที่ทำให้หลายคนไม่กล้า Move on ออกจากความสัมพันธ์เป็นพิษ เพราะคนรักทำร้ายร่างกาย และเราก็เคยเห็นข่าวบ่อยครั้งที่รุนแรงถึงการฆาตกรรม หากเป็นแบบนี้ขอแนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และนำหลักฐานขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วใช้วิธีการทางกฎหมายในการซื้ออิสรภาพให้ตัวเรา จะปลอดภัยที่สุดนะคะ
6. หมั่นให้กำลังใจตนเอง
การกล้าที่จะ “อกหัก” เป็นเรื่องที่ยาก นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า การให้กำลังใจตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเดียวที่เคียงข้างเราตลอดเวลา คือ ตัวเราเอง ดังนั้น หากเรากล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าที่จะยืนหยัด เพื่อออกมาจากความสัมพันธ์ เราต้องหมั่นให้กำลังใจตัวเราเอง เช่น ชื่นชมตัวเอง เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ตัวเองให้สดใส เป็นต้น
7. ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
ในความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน การสื่อสารระหว่างคนรักที่ไม่รักกันแล้ว มักจะเต็มไปด้วยอารมณ์ทางลบ ที่ยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้น หากคุณกำลังจะ Move on จากความสัมพันธ์ ขอให้มีการสื่อสารกับอดีตคนรักด้วยเหตุผลเป็นหลัก เพื่อลดความรุนแรงของอารมณ์ลงค่ะ
8. ยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง
บางทีการเลือกคนรักก็เหมือนการซื้อของสุ่ม คือ เราไม่รู้หรอกว่าคนนั้นจะเป็นคนที่เราต้องการจริง ๆ หรือเป็นแค่คนที่มีดีแค่หน้าตา ดังนั้นการที่เราพบเจอความรักแย่ ๆ จึงเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของชีวิตที่เราสามารถพบเจอได้ แต่อย่าได้โทษตัวเองค่ะ เพราะไม่มีใครที่ตั้งใจทำให้ตัวเองเจ็บปวด ขอให้เรียนรู้จากความผิดพลาด และใช้ชีวิตต่อด้วยความไม่ประมาทนะคะ
บทความแนะนำ
เราในฐานะคุณแม่ที่มีลูกสาว ภรรยาคนหนึ่ง และลูกสาวของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านความรักร้าย ๆ ได้สำเร็จ และ หากพบเห็นความรุนแรงในครอบครัว ขอให้แจ้งเหตุไปยังหน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกทำร้ายโดยเร็วที่สุด เช่น สายด่วน 191 หรือสายด่วน 1300 ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม (One Stop Crisis Center ; OSCC) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นะคะ เพื่อปกป้อง ช่วยเหลือ และต่อต้านความรุนแรงที่มาจากความรักแย่ ๆ ค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] กรมสุขภาพจิต. 27 เมษายน 2564. จะทำอย่างไร เมื่อความรุนแรงไม่ใช่เรื่องไกลตัว และบ้านไม่ใช่ Safe Zone ของทุกคน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2564 จาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30715
[2] สำนักข่าวอิศรา. 24 มิถุนายน 2564. 'วิกฤติโควิด'ปัจจัยเสี่ยงความรุนแรงในครอบครัว ทำสถิติปี 64 พุ่งกว่า 1.4 พันราย. ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2564 จาก https://www.isranews.org
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 3 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
留言