นักจิตวิทยาแนะ 4 สิ่งที่ต้องเปิด เพื่อให้สังคมยอมรับ LGBTQ+

ดิฉันได้เขียนบทความจิตวิทยาเกี่ยวกับการสร้างการยอมรับในครอบครัว เมื่อสมาชิกครอบครัว โดยเฉพาะลูกเปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ ไปเมื่อ Pride Month หรือเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานี่เองค่ะ แต่เมื่อไม่นานมานี้ไปเจอข้อมูลสถิติที่น่าตกใจเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นที่เป็น LGBTQ+ จนทำให้ต้องมาเขียนบทความจิตวิทยาเกี่ยวกับการสร้างการยอมรับบุคคลที่เป็น LGBTQ+ กันอีกครั้ง
ซึ่งครั้งนี้ขอส่งเสียงให้สั่นสะเทือนในระดับสังคม โดยสถิติที่ว่านั้นก็คือ สถิติความเครียดของเด็กและเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่เปิดเผยโดยกรมสุขภาพจิตค่ะ ซึ่งข้อมูลระบุว่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนไทยมีความเครียดสูงมาก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง โดยความเครียดหลัก ๆ ก็คือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน ปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสังคม และภาวะซึมเศร้า
จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างข้างต้นในเชิงลึก พบว่า เด็กและเยาวชนที่เป็น LGBTQ+ ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในสังคมเนื่องจากการไม่ยอมรับเพศสภาพที่เขาเป็น โดยเด็กและเยาวชนถึง 75.80% ถูกล้อเลียนเรื่องเพศสภาพ และอีก 42.40% ถูกบังคับให้แสดงออกตามเพศกำเนิด ไม่ใช่เพศสภาพ ซึ่งเป็นการบังคับและลดทอนคุณค่าในตนของเขาอย่างมาก
ซึ่งการถูกคนในสังคมแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมรับตัวบุคคลในประเด็นเรื่อง LGBTQ+ เป็นสิ่งที่ชาว LGBTQ+ ทุกเพศ ทุกวัยต่างต้องรับแรงกดดันจากสังคม โดยเฉพาะครอบครัว และถูกบังคับให้เผชิญหน้ากับแรงต้านนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสร้างความเครียดมหาศาลให้กับพวกเขาอย่างมาก จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และการลดทอนคุณค่าในตนเอง
โดยคุณเขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ หรือน้องหมวยผู้น่ารัก ที่เสริมพลังบวกให้กับทุกคนด้วยรอยยิ้มสดใส และการมองโลกด้วยทัศนคติในแง่บวก ก็ยังถูกชาวเน็ตบางคน Cyberbullying ที่น่าตกใจก็คือ คนที่มา Bully คุณเขื่อนเป็นวัยผู้ใหญ่ที่อายุไม่น่าถึง 45 ปี และน่าจะอยู่ Generation เดียวกันด้วยซ้ำไป
ซึ่งคุณเขื่อนได้ให้ข้อคิดเรื่องนี้ไว้ว่า “เขื่อนก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการโดน Bully ตั้งแต่เริ่มมีอินเตอร์เน็ตเลย จนมาถึงในปัจจุบัน อยากจะบอกทุกคนว่า ให้คิดก่อนแชร์ ว่าสิ่งที่เราแชร์ออกไปมันทำร้ายใครหรือเปล่า และสิ่งที่เรามองข้ามอาจจะส่งผลทำให้ใครรู้สึกไม่ดีบ้างหรือเปล่า”
และเพื่อให้เกิดการยอมรับ LGBTQ+ ในสังคมมากขึ้น ดิฉันจึงขอส่งเสียงผ่านเทคนิคจิตวิทยา 4 สิ่งที่ต้องเปิด เพื่อให้สังคมยอมรับ LGBTQ+ ดังนี้ค่ะ
1. เปิดใจ
สิ่งแรกที่นักจิตวิทยาแนะนำว่าให้เปิดเพื่อสร้างการยอมรับในสังคม ก็คือ “การเปิดใจ” ค่ะ โดยการไม่ตัดสินผู้อื่นจากสิ่งที่เราเห็น ไม่เอาเราเป็นบรรทัดฐานในการวัดคนอื่น พยายามมองทุกเรื่องอย่างเป็นกลาง และเมื่อเราเปิดใจแล้ว เราจะมองข้ามความแตกต่างระหว่างบุคคล จะมองข้ามเรื่องเพศสภาพ ที่ไม่ได้มีแค่ 2 เพศอีกต่อไปแล้ว จะไม่ยัดเยียดความคิด ความคาดหวังที่เรามีต่อผู้อื่น
จะไม่บังคับให้ผู้อื่นเป็นไปอย่างใจเรา เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่ใจเราต้องการ 100% หรอกค่ะ ขนาดเราเองเรายังทำไม่ถูกใจตัวเองเลย และเมื่อเราเปิดใจ เราจะพร้อมรับสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในชีวิต แม้ว่าบางสิ่งจะแตกต่างจากประสบการณ์เดิมที่เรามี หรือบางสิ่งจะใหม่มากสำหรับเราก็ตาม
2. เปิดโลก
การเปิดโลกนั้น สามารถทำได้ทั้งออกไปผจญภัย หรือเดินทางไปใช้ชีวิตในโลกกว้างด้วยตนเองจริง ๆ หรือรับฟังข่าวสารต่าง ๆ ที่ทันสมัย เป็นปัจจุบัน จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แล้วเราจะได้เห็นว่าคนทุกเพศเท่าเทียมกัน คนทุกเพศสามารถประกอบอาชีพอะไรก็ได้ที่ตนต้องการและมีความสามารถที่จะทำได้ คนทุกเพศสามารถเป็นแม่ เป็นพ่อ เป็นผู้สร้างชีวิตใหม่ได้โดยไม่จำกัดเพศ
เมื่อเราได้เห็นโลกมากขึ้น เห็นโลกที่กว้างขึ้น อคติที่เรามีต่อ LGBTQ+ หรือเพศใด ๆ ก็ตามจะลดน้อยลง และเราจะเคารพกันที่ความดี ความสามารถ ศักยภาพ มากกว่าเรื่องเพศ ให้คุณค่ากันจากตัวตนของแต่ละบุคคลจริง ๆ โดยไม่นำเรื่องเพศสภาพมาตัดสินค่ะ
3. เปิดหู
เมื่อเราเปิดใจ เปิดโลก ให้ทัศนคติกว้างไกลมากขึ้นแล้ว สิ่งต่อไปที่นักจิตวิทยาแนะนำว่าควรจะ “เปิด” ก็คือ การเปิดหูรับฟังเสียงของคนข้างตัวค่ะ โดยเฉพาะคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทของเราที่เป็น LGBTQ+ เพราะหลาย ๆ ครั้งปัญหาบ้านแตก หรือปัญหาความสัมพันธ์ ก็มาจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง
แต่ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่อย่างการมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิด ซึ่งดิฉันเองก็ได้เคยเห็นเพื่อนที่เคยรักกันมาก สนิทกันมาก แต่เลิกคบกันเพราะอีกคนเปิดเผยว่าเป็น LGBTQ+ หรือพ่อ แม่ ที่ตัดขาดจากลูกเพราะลูกเปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ ทั้ง ๆ ที่บุคคลเหล่านั้นก็ยังเป็นคนเดิม ปฏิบัติต่อเพื่อน หรือครอบครัวเหมือนเดิม แต่คนที่เขารักต่างหากที่ไม่เหมือนเดิม เพราะไม่เปิดหูรับฟังเสียงของพวกเขาค่ะ
4. เปิดตา
เมื่อเราได้เปิดใจ เปิดโลก เปิดหูแล้ว ก็อย่าลืมที่จะเปิดตาเพื่อมองดูเนื้อแท้ของคนข้างตัวเราที่เขาอุตส่าห์ไว้ใจเราแล้วเปิดเผยว่าเขาเป็น LGBTQ+ หรือรวบรวมความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่พบก็คือ เรามักจะมองคนข้างตัวของเราเปลี่ยนไป ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้แตกต่างจากเดิมเลย
นั่นก็เพราะเรามองเขาด้วยอคติ เรามองเขาด้วยความคาดหวังว่าเขาต้องเป็นอย่างที่เราคิด แต่ถ้าเรามองเขาถึงตัวตนของเขา ถึงเนื้อแท้ของเขา ที่เขายังเป็นลูก เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง สายตาที่เรามองเขาจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงค่ะ
ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนจะไม่เข้าใจเรื่องเพศสภาพ หรือ Gender ไม่เข้าใจเรื่อง LGBTQ+ แต่เราไม่จำเป็นต้องเกลียดกัน เราทุกคนอยู่ในสังคมเดียวกัน อยู่ในโลกใบเดียวกัน มีชีวิต มีจิตใจ มีความรู้สึก และมีคุณค่าไม่ต่างกัน หากไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น ก็ขอให้มองที่ความเป็นมนุษย์ สร้างการยอมรับ และปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพและให้เกียรตินะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
[1] Amarin TV. (6 พฤศจิกายน 2565). กรมสุขภาพจิตเผย เด็กและเยาวชน LGBTQ+ เสี่ยงซึมเศร้า – คิดสั้น จากค่านิยมที่สังคมคาดหวัง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2565 จาก https://today.line.me/th/v2/article/wJgnmRa?utm_source=fbshare&fbclid=IwAR0wlEVRvsmXbPtzytr_bLTLU_RyTCkt5BMNw-bQhEv8jfB1ReFDK98BF2A
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน