top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 ขั้นตอนง่าย ๆ ก่อนตัดสินใจไปปรึกษาจิตแพทย์


หากใครที่ติดตามข่าวสารจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ หรือวิทยุ ก็คงจะเห็นได้ว่าสภาพสังคมในตอนนี้เต็มไปด้วยความเครียดความกดดัน ในแต่ละวันเต็มไปด้วยเรื่องที่ชวนให้หดหู่ใจ ส่งผลให้คนในยุคปัจจุบันมีความเครียดในระดับที่สูง และพบว่ามีผู้คนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า ในช่วงเวลาแบบนี้ จิตแพทย์คือวิชาชีพที่เข้ามามีบทบาทกับผู้คนในสังคมมากขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากทัศนคติต่อการปรึกษาจิตแพทย์ค่อนข้างเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ผู้คนเริ่มมีความเข้าใจกันมากขึ้นว่าการปรึกษาจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไปปรึกษาจะต้องเป็นคนป่วยเหมือนอย่างในหนังสมัยก่อนที่ต้องถูกมัดติดไว้กับเตียงหรือฉีดยาให้สลบอะไรแบบนั้น แต่ถึงจะมีทัศนคติที่ดีขึ้น หลายคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงหากต้องการไปปรึกษาจิตแพทย์ บทความนี้จึงอยากจะแนะนำขั้นตอนง่าย ๆ หากต้องการไปพบจิตแพทย์ ดังนี้

1. ทำความรู้จักกับอาชีพจิตแพทย์ก่อนตัดสินใจไปพบ


จิตแพทย์ (Psychiatrist) ในประเทศไทยจะต้องเรียนจบในสาขาแพทยศาสตร์ก่อนและไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ โดยต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภากำหนดอีกด้วย แตกต่างจากนักจิตวิทยา (Psychologist) ที่จะไม่ใช่แพทย์แต่จะเป็นผู้ที่เรียนจบในสาขาจิตวิทยาและใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะเป็นนักจิตวิทยาคลินิก และแตกต่างจากนักให้คำปรึกษา (Counselor) ที่จะเป็นผู้ที่เรียนจบในสาขาจิตวิทยาหรือมีการฝึกฝนประสบการณ์ด้านการให้การปรึกษา (Counseling) จนได้รับการรับรองว่าสามารถให้การปรึกษาได้ โดยผู้ที่จะสามารถทำการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชได้จะมีเพียงจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกเท่านั้น


ส่วนผู้ที่จะสามารถให้การรักษาด้วยยาก็จะมีเพียงจิตแพทย์เท่านั้น แต่การเยียวยาด้วยการพูดคุยนั้น ทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักให้คำปรึกษา ล้วนสามารถทำได้ แต่ในด้านของความลึกนั้นอาจจะไม่เท่ากัน เนื่องจากการให้การปรึกษามักจะไม่ได้เป็นการพูดคุยอย่างเจาะลึกลงไปในสภาวะการทำงานของจิตใจเท่าการทำจิตบำบัด รวมถึงการให้การปรึกษามักจะใช้กับผู้ที่ไม่มีอาการทางจิตเวชหรือมีแต่อยู่ในช่วงที่อาการเริ่มสงบลง เช่น เคยได้รับการรักษาไปสักระยะหนึ่งจนอาการดีขึ้นแล้ว หรือได้รับการรักษาด้วยยาจนไม่พบอาการรบกวนที่เกิดจากปัจจัยด้านชีววิทยาแล้ว

2. ประเมินค่าใช้จ่ายในการพบจิตแพทย์


การพบจิตแพทย์ในแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายเสมอ แต่คุณสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้โดยการตรวจสอบสิทธิการรักษาของตนเอง ในกรณีที่คุณมีบัตรประกันสังคมหรือบัตรทองก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการพบจิตแพทย์ได้ โดยเริ่มต้นเหมือนกับเวลาที่คุณเป็นหวัดเป็นไข้แล้วไปหาหมอ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลจะแนะนำขั้นตอนในการพบจิตแพทย์ให้กับคุณเอง

ส่วนในกรณีที่ไม่ใช้สิทธิประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทอง คุณก็สามารถไปโรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีจิตแพทย์ได้ตามความต้องการของคุณเอง เพียงแต่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง

3. ทบทวนความคาดหวังในการไปพบจิตแพทย์

ในการเยียวยาจิตใจ จำเป็นต้องมีเป้าหมายในการเยียวยา ซึ่งมีทั้งเป้าหมายของฝ่ายผู้ให้การรักษาและเป้าหมายของผู้รับการรักษา เพื่อให้การเยียวยาเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องรวมถึงได้ผลดี ดังนั้น ก่อนที่คุณจะไปปรึกษาจิตแพทย์ก็อาจจะลองทบทวนความคาดหวังของตนเองเอาไว้ก่อนคร่าว ๆ เพื่อจะได้สามารถนำความคาดหวังของตนเองไปตั้งเป็นเป้าหมายในการรับการรักษา รวมถึง เพื่อจะได้เลือกรับบริการที่เหมาะสมกับความคาดหวังของตนเอง เช่น อยากได้คนที่รู้จริงเรื่องโรคจิตเวชมาช่วยวินิจฉัยว่าคุณมีอาการอะไรตามเกณฑ์การวินิจฉัยใน DSM (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) เพื่อรับการรักษาให้อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ลดลง จิตแพทย์ก็จะเป็นคนที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของคุณมาก ๆ แต่หากคุณต้องการเพียงแค่อยากระบายหรือพูดคุยกับใครสักคน โดยต้องการที่จะมีเวลาคุยกันนานสักหน่อย เช่น 45 – 60 นาที จิตแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐก็อาจจะไม่ค่อยตอบโจทย์ของคุณเท่าไหร่ เว้นเสียแต่ว่าจิตแพทย์ท่านนั้นเน้นการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด

4. ทำความเข้าใจคร่าว ๆ เกี่ยวกับกระบวนการรักษา

การรักษาเยียวยาด้านจิตใจ มักจะไม่เห็นผลทันที ต่างกับเวลาเป็นหวัดเป็นไข้ที่หากรับประทานยาไปสัก 2 – 3 วันก็จะเริ่มเห็นว่าอาการดีขึ้น แต่การรักษาอาการด้านจิตใจจะไม่ได้เห็นผลไวขนาดนั้น และหากได้รับยาไปแล้วแม้อาการจะดีขึ้นก็จะยังไม่สามารถหยุดรับประทานยาได้เอง แต่จะต้องปฏิบัติตามที่จิตแพทย์แนะนำเอาไว้ นอกจากนั้น “การให้ความร่วมมือ” ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการรักษาอาจจะไม่ได้ผลเลยหากผู้รับการรักษาไม่ให้ความร่วมมือ ตัวอย่างของการให้ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมก็คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของจิตแพทย์ เช่น รับประทานยาตามเวลาที่ระบุไว้บนซองยา ไปพบจิตแพทย์ตามนัดหมาย หรือหากมีการบ้านที่จิตแพทย์ให้เอากลับมาฝึกทำก็ทำตามที่เคยตกลงกันไว้ใน session ทั้งนี้ เพื่อให้การรักษาดำเนินไปด้วยดีและได้ผล


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง


 

ประวัติผู้เขียน : นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น)

จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ

ระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page