top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 เหตุผลเมื่อไม่สบายใจทำไมคุณควรคุยกับนักจิตวิทยา


ถ้าจะถามว่าทำไมเราถึงต้องคุยกับนักจิตวิทยาด้วยล่ะครับ เป็นปัญหาที่หลายคนถามผมมาว่า นายคิดว่าเราควรจะต้องคุยกับนักจิตวิทยาไหม แต่เราคิดว่า...จะดีเหรอ เราไปคุยกับนักจิตวิทยา คนอื่นจะมองว่าเราป่วยหรือมีปัญหาทางใจรึเปล่า เรียกได้ว่าเป็นคำถามยอดฮิตที่ทุกคนคิด


เป็นความเข้าใจผิดที่ทุกคนยังมองว่าการคุยกับนักจิตวิทยาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง แต่ว่าผมอยากจะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทัศนคติที่ว่าการคุยกับนักจิตวิทยาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้...ผมถามก่อนว่าถ้าคุณรู้สึกว่าตัวร้อนไม่สบาย อาเจียน ท้องเสียหนักมาก คุณจะทำอย่างไร ไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลใช่ไหมครับ เพราะคุณหมอเชี่ยวชาญเรื่องความเจ็บป่วยทางร่างกาย ในทางกลับกันหากคุณเครียด กระสับกระส่าย นอนหลับแล้วตื่นตอนกลางคืน อยากนอนทั้งวัน อ่อนเพลียไม่มีสาเหตุ ไม่ค่อยมีสมาธิ อยู่ดี ๆ ก็อยากร้องไห้ ไม่อยากอาหาร คิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า หรือคิดจะทำร้ายตัวเอง คุณควรคุยหรือไปพบใครดีครับ แน่นอนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาใช่ไหมครับ เพราะพวกเขาเรียนรู้และฝึกฝนจนเชี่ยวชาญในเรื่องการดูแลและรักษาสุขภาพทางจิตใจ


คนส่วนใหญ่รู้จักจิตแพทย์ดีอยู่แล้ว แต่มีหลายคนที่ยังไม่รู้จักหรือยังไม่ค่อยเข้าใจบทบาทของนักจิตวิทยา ซึ่งพวกเขาคือคนที่เรียนทางด้านจิตใจมาโดยตรง แต่ไม่ได้เรียนแพทย์มา 6 ปีเช่นจิตแพทย์ ดังนั้น บทบาทของนักจิตวิทยากับจิตแพทย์จึงค่อนข้างต่างกัน ตรงที่นักจิตวิทยาจะไม่สามารถสั่งจ่ายยาหรือรักษาในเชิงกายภาพได้แบบหมอ แต่นักจิตวิทยาจะเน้นการจัดการที่ความคิด การปรับอารมณ์ การปรับพฤติกรรม และการพัฒนาวิธีการสื่อสาร ซึ่งคุณจึงมักจะเห็นว่านักจิตวิทยาจะเน้นที่การได้นั่งพูดคุย เพื่อค่อย ๆ ค้นหาสาเหตุ และปรับวิธีคิดกันไป


มาถึงตอนนี้ ผมจะอธิบายให้ฟังเพิ่มเติมนะครับว่า ทำไมเราถึงต้องคุยกับนักจิตวิทยา


1. นักจิตวิทยาพร้อมที่จะรับฟัง พร้อมที่จะให้การ Support ความรู้สึก

เรื่องการฟังเป็นทักษะหนึ่งที่นักจิตวิทยาถูกฝึกมาเพื่อเป็นผู้ฟังที่ดี เรียกได้ว่าเราพร้อมที่จะรับฟังทุกสิ่งที่คุณอยากจะระบายออกมากให้เราฟังครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตั้งแต่สมัยที่คุณยังเป็นเด็ก หรือเรื่องเลิกกับแฟนเก่าแล้วยังก้าวต่อไปไม่ได้ หรือจะเป็นปัญหาความเครียดเรื่องงาน สรุปคือถ้าอึดอัดไม่รู้ว่าจะพูดคุยระบายกับใครล่ะก็ มาครับ มาคุยกับนักจิตวิทยากันครับ ที่สำคัญคือเรารักษาเรื่องที่เราสนทนากันไว้เป็นความลับตามจรรยาบรรณของวิชาชีพนักจิตวิทยาครับผม


2. นักจิตวิทยาไม่ตัดสิน

ในฐานะที่เป็นนักจิตวิทยาเรามีความเชื่อเรื่องมนุษยนิยมครับ ว่า “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน มนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน มนุษย์ทุกคนมีคุณค่า” ดังนั้นเราจึงพร้อมที่จะเข้าใจในจุดยืนของทุกคน เราเห็นในมุมที่คุณเสนอให้เราเห็นผ่านทางบทสนทนาและภาษากายที่คุณแสดงออกมา ดังนั้นเมื่อเราได้ฟังและพิจารณาข้อมูลจากฝั่งของคุณแล้ว เราก็จะ “ใส่รองเท้าคู่เดียวกันกับคุณ หรือมองผ่านเลนส์แบบเดียวกับคุณ” ทำให้เรามีจุดร่วมกันในข้อมูลครับ และที่สำคัญมากๆ เลยคือนักจิตวิทยาจะสังเคราะห์ข้อมูลออกมาเพื่อช่วยให้คุณเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างเข้าใจครับ


3. นักจิตวิทยามีความเชี่ยวชาญในการทำความเข้าใจจิตใจของคนอื่น

หากเราจะเปรียบหัวใจว่าเป็นบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งมีห้องมากมายหลายห้อง บางห้องเปิด บางห้องปิด บางห้องล็อคเอาไว้...ผมบอกเลยนะครับว่า ในฐานะของนักจิตวิทยาเราคือช่างกุญแจที่เชี่ยวชาญการเปิดประตูห้องในหัวใจครับ และเราก็เชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยวไปในความคิดและทัศนคติของผู้คนซะด้วยสิครับ ผมเข้าใจนะครับว่าทุกคนมีเรื่องที่เราเจ็บปวดเก็บไว้ใจส่วนลึก ๆ ของความทรงจำ แต่ว่าจะดีกว่าไหมหากเราเปิดใจออกและให้นักจิตวิทยาเข้ามาช่วยเหลือในส่วนที่เราเองก็ไม่สามารถเข้าใจได้จริง ๆ หรือเราก็ยังไม่ทราบว่าจะหาทางออกอย่างไรจากปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านน่าจะพอนึกภาพออกนะครับ ว่าเราไม่ได้แข็งแรง หรือ เข้มแข็งได้ตลอดเวลาจริงไหมครับ ดังนั้นแค่เรารู้สึกว่าเริ่มมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับความคิดหรือความรู้สึกของเรา ผมว่าก็น่าจะถึงเวลาแล้วไหมครับ ที่จะใช้บริการของนักจิตวิทยา


4. นักจิตวิทยาจะสะท้อนให้คุณเห็นแง่มุมต่างๆ ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ผมถามนิดนึงนะครับ ว่า ก่อนที่คุณผู้อ่านจะออกจากบ้านไปข้างนอก ได้ส่องกระจกเพื่อเช็กความเรียบร้อยของตัวเองก่อนที่จะออกไปนอกบ้านกันบ้างรึเปล่าครับ ถ้าทุกคนตอบว่าเคย แล้วทำไมเวลาที่เรามีปัญหาใจจิตใจเราจึงไม่อยากส่องกระจกที่สามารถสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เราเห็นว่าจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเรากันแน่ เพื่อที่จะเห็นว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นแล้วอย่างไรบ้างกับความคิดหรือความรู้สึกของเรา ผมอยากจะบอกว่าเนื่องจากนักจิตวิทยามีความสามารถในการฟังที่ละเอียดอ่อน เราฟังทั้งเนื้อหาและอารมณ์ รวมถึงอ่านภาษากายที่แสดงออกมาด้วยครับ อีกทั้งนักจิตวิทยายังสามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะส่วนต่าง ๆ ของข้อมูลเพื่อสะท้อนในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อคุณผู้รับคำปรึกษาให้มากที่สุดครับ ส่วนตัวผมเคยคุยกับผู้รับคำปรึกษาที่จองการสนทนาเข้ามาครึ่งชั่วโมง คุยกัน 15 นาที ก็พบ “ยูเรก้า” ของเขา


5. นักจิตวิทยาไม่ชี้นำแต่เสนอทางเลือกให้

ในระหว่างการสนทนากันเรียกได้ว่าเป็นช่วงการคิดวิเคราะห์แยกแยะหนักมากๆ เพื่อจะสะท้อนและนำเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับคุณผู้มารับคำปรึกษาครับ ผมว่าการที่เรามีใครอีกคนหนึ่งที่เป็นคนนอกวงของปัญหา มาช่วยมอง ช่วยคิดวิเคราะห์ ช่วยเสนอความเป็นไปได้ให้กับเราเพื่ออย่างน้อยที่สุดเราก็เห็นปัญหาได้ในมุมที่แตกต่างจากมุมมองของเราครับ และทางเลือกที่นักจิตวิทยานำเสนอให้นั้นก็ล้วนกลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ผ่านมา รวมถึงการวิเคราะห์ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาครับ


จริงๆ แล้วเรานักจิตวิทยาเริ่มต้นอาชีพตั้งแต่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาเลยก็ว่าได้ครับ พอคนทราบว่าเราเรียนจิตวิทยาก็จะสอบถาม มาปรึกษาตั้งแต่เราปี 1 เลยครับ ตั้งแต่ปัญหาอกหัก ปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาความรู้สึกหรือปัญหาเรื่องความคิดก็มีครับ แล้วถ้าจะถามว่าเรานักจิตวิทยามองตัวเองว่าเป็นอะไร ผมมองว่าตัวเองเป็น “กระจกสะท้อน” ที่สามารถสะท้อนความจริงและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ที่มาใช้บริการได้ครับ


เป็นอย่างไรบ้างครับ สุดท้ายลองตัดสินใจคุยกับนักจิตวิทยาดูไหมครับ เราไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิดหรอกนะครับ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัตินักเขียน

สิทธิเดช คุ้มมณี นักจิตวิทยาพัฒนาการและศิลปะบำบัด ผู้เชี่ยวชาญการอ่านและวิเคราะห์ภาษากาย ผู้เชี่ยวชาญการตรวจและกระตุ้นพัฒนาการในเด็กและการบำบัดแบบครอบครัว การใช้ศิลปะบำบัดเพื่อการเข้าใจตนเอง


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page