top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 สิ่งที่คุณจะได้รับจากการปรึกษานักให้คำปรึกษามืออาชีพ



แม้ว่า “การปรึกษา” จะมีอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันและใคร ๆ ก็สามารถให้คำปรึกษาได้ แต่ปัญหาที่มักพบบ่อย ๆ เมื่อปรึกษากับคนที่ไม่ได้ผ่านการรับรองคุณสมบัติของการเป็นนักให้คำปรึกษามืออาชีพก็คือหลังจากปรึกษาแล้วรู้สึกแย่ลง เนื่องจากธรรมชาติของคนเรามักจะดึงเอาประสบการณ์และความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาปะปนในการให้คำปรึกษา และหลายคนก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า “การให้คำปรึกษา” มันจะต้องเป็นการสอนหรือแนะนำวิธีแก้ปัญหา ซึ่งบ่อยครั้งที่คนมาปรึกษาไม่ได้ต้องการคำแนะนำแต่ต้องการคนที่เข้าใจ หน้าที่หลักของ “นักให้คำปรึกษา (counselor)” จึงไม่ใช่การสอนหรือแนะนำวิธีแก้ปัญหาแต่คือการเป็นใครสักคนที่เข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้า โดยนักให้คำปรึกษาจะถูกฝึกฝนให้มีคุณลักษณะและทักษะของการเป็นนักให้คำปรึกษามากมายหลายอย่าง ในบทความนี้ผู้เขียนได้คัดเลือกทักษะเป็นพื้นฐานขั้นต้นที่นักให้คำปรึกษามืออาชีพจะต้องมี ได้แก่


1.การฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)

หนึ่งในหน้าที่สำคัญของนักให้คำปรึกษาคือการทำให้ผู้รับบริการรู้สึกว่ามีคนที่อยากรับฟังเขา ให้เกียรติเขา และช่วยทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าความหมาย ซึ่งการฟังเพียงผ่าน ๆ ไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งนั้นได้ นักให้คำปรึกษาจึงต้องทั้งฟังและทั้งแสดงออกมาให้อีกฝ่ายรับรู้ได้ว่าทุกความรู้สึกของเขากำลังถูกได้ยิน เช่น สบตา วางมือจากภารกิจอื่น ตอบสนองด้วยภาษากายให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่เขาเล่า ใช้สีหน้าแววตาท่าทางที่ดูเปิดเผยจริงใจและเป็นมิตร ในขณะเดียวกันก็คอยสังเกตภาษากายของอีกฝ่ายไปด้วยซึ่งบางครั้งอีกฝ่ายก็ไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ แต่จะสื่อสารผ่านภาษากาย เช่น กำหมัดแน่น กัดเล็บ ฯลฯ


2. การสะท้อน (Reflection)

การสะท้อนถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ โดยการสะท้อนมักถูกแบ่งเป็น 2 แบบคือ การสะท้อนความรู้สึก และการสะท้อนข้อความ ทั้งนี้ หากไม่ฟังอย่างตั้งใจก็จะไม่สามารถใช้เทคนิคการสะท้อนได้เลย การเป็นผู้ฟังที่ดีจึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญมากต่อการเป็นนักให้คำปรึกษา อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะยังไม่ลงรายละเอียดถึงวิธีการใช้ทักษะการสะท้อนเนื่องจากต้องใช้การบรรยายที่ค่อนข้างยาว และผู้เขียนมีความคิดเห็นส่วนตัวว่าการเข้าร่วม workshop จะช่วยให้เกิดทักษะนี้ได้มากกว่าการอ่านจากตำราเพียงอย่างเดียว


3. การตั้งคำถาม (Questioning)

คำถามที่ถูกต้องจะนำมาซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง คำถามที่ดีในการให้คำปรึกษามักเป็นคำถามปลายเปิด เช่น “คุณรู้สึกอย่างไรในตอนนี้” ซึ่งจะทำให้ได้รับคำตอบที่แตกต่างไปจากคำถามปลายปิดอย่าง “คุณทุกข์ใจใช่ไหม” เพราะคำถามปลายเปิดจะช่วยกระตุ้นให้อีกฝ่ายเล่าเรื่องราวออกมาได้มากกว่าและลึกกว่า นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นให้อีกฝ่ายพยายามที่จะเรียบเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นการทบทวนตัวเองไปในตัว


4. บรรยากาศที่น่าไว้วางใจ (Trustworthiness)

ความไว้วางใจจะเกิดขึ้นได้เมื่อรู้สึกว่าตัวเองอยู่ใน “ที่ปลอดภัย” ซึ่งในที่นี้หมายถึงการไม่ถูกตัดสิน ตำหนิ ซ้ำเติม หรืออับอาย โดยบรรยากาศที่น่าไว้วางใจนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เองแต่นักให้คำปรึกษาจะต้องสร้างสัมพันธภาพ (rapport) กับผู้รับบริการก่อนจึงจะเกิดบรรยากาศนี้ขึ้นมาได้ และสิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานของความไว้วางใจก็คือการช่วยเก็บรักษาเรื่องราวส่วนตัวของผู้รับบริการเอาไว้เป็นความลับ (ยกเว้นบางกรณีที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เช่น มีการตระเตรียมที่จะฆ่าตัวตายเอาไว้แล้ว) โดยสรุปคือนักให้คำปรึกษาจะต้องทำให้บรรยากาศการพูดคุยกันเป็นแบบสบาย ๆ ไม่มีการตัดสิน ตำหนิ ซ้ำเติม แม้ว่าเรื่องราวนั้นจะไม่สอดคล้องกับศีลธรรมที่นักให้คำปรึกษายึดมั่นก็ตาม และต้องไม่นำเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังไปเล่าต่อให้ผู้รับบริการเกิดความเสียหาย


5. การตั้งเป้าหมาย (Goal Setting)

อีกทักษะที่สำคัญของนักให้คำปรึกษาคือ “การตั้งเป้าหมาย” อย่างน้อยก็ต้องมีเป้าหมายร่วมกันระหว่างผู้รับบริการและนักให้คำปรึกษา ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะต้องมีความเป็นรูปธรรมและสามารถทำได้จริง นั่นหมายถึงนักให้คำปรึกษาจะต้องช่วยให้ผู้รับบริการสามารถตั้งเป้าหมายที่มันไม่ยากจนเกินไปและช่วยกันกำหนดขั้นตอนวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ รวมถึงช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับบริการรู้สึกว่าอยากจะทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ โดยนักให้คำปรึกษาจะเป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางที่เกื้อกูลให้ผู้รับบริการสามารถผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาไปได้โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องสู้กับปัญหาอย่างโดดเดี่ยว 


ทักษะในการเป็นนักให้คำปรึกษานั้นดูเหมือนจะไม่ยาก แต่หากได้ลองทำจริงแล้วก็จะพบว่าไม่ง่ายโดยเฉพาะในช่วงที่ยังเป็นมือใหม่ และการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพนั้นก็มักจะต้องอาศัยทั้งคุณลักษณะและทักษะความชำนาญของคนที่จะมาเป็นผู้ให้การปรึกษา ซึ่งก่อนที่แต่ละคนจะเป็นนักให้คำปรึกษามืออาชีพได้ก็ต้องผ่านการศึกษาและฝึกฝนภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญจนกว่าจะมีคุณสมบัติที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน นั่นจึงเป็นที่มาว่าเพราะอะไรคนใกล้ชิด เช่น แฟน คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทหลาย ๆ คนไม่สามารถให้คำปรึกษาในแบบเดียวกับที่นักให้คำปรึกษามืออาชีพทำได้ ดังนั้น หากคุณคาดหวังว่าจะได้รับความเข้าใจและการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขไปพร้อม ๆ กับการค้นพบวิธีในการเผชิญอุปสรรคปัญหาด้วยตนเอง การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญก็น่าจะตอบโจทย์มากกว่า 


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] 9 CORE COUNSELLING SKILLS: DEFINITION & IDENTIFICATION | UCP. Retrieved from https://ucp.ac.uk/news/9-core-counselling-skills-definition-and-identification/

[3] 5 effective counseling skills and techniques. Retrieved from https://asuonline.asu.edu/newsroom/online-learning-tips/effective-counseling-techniques-skills/


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page