top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ 6 วิธีลดความขัดแย้งในครอบครัวอย่างยั่งยืน


ในช่วงนี้ต้องบอกเลยว่าเมื่อเปิดโทรทัศน์ดูข่าวบ้านเมือง หรือแม้แต่เปิดโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จะพบเจอแต่ข่าวที่ดูน่าเศร้าใจ เพราะนอกจากข่าวสถานการณ์โควิดที่ระบาดอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็เห็นจะมีข่าวความขัดแย้งในครอบครัว ประเด็นที่ขอยกมาเป็นตัวอย่าง นั่นก็คือข่าวความขัดแย้งของอดีตนักร้องดังท่านหนึ่ง


ที่ถึงแม้เรื่องจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ทิ้งบาดแผลในใจให้กับนักร้องท่านนั้นอย่างสาหัสเพราะเธอออกมาบอกเลยว่าเธอป่วยเป็น PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (บทความแนะนำ “8 วิธีเยียวยาผู้ป่วย PTSD ผู้ตกเป็นเหยื่อเหตุการณ์ความรุนแรงตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา” )


เมื่อเรื่องราวถูกบอกเล่าออกมา ก็ยังได้สร้างความปวดร้าวในความรู้สึกของคนอื่น ๆ ในครอบครัว จนพวกเราซึ่งเป็นคนนอกมองเข้าไปยังรับรู้เลยค่ะว่าความขัดแย้งในครอบครัวของเธอมันรุนแรงมาก หากถามว่าเพราอะไรเรื่องราวถึงลุกลามบานปลายมาถึงขนาดนี้ นักจิตวิทยาก็ยากจะตอบคำถามได้ค่ะ


เพราะเชื่อว่าคงมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวขึ้น และเป็นปัญหาที่สะสมมานาน จนกลายเป็นระเบิดเวลาที่วันหนึ่งได้ระเบิดขึ้น และทิ้งเศษซากความเสียหายเอาไว้เช่นที่เราได้รับทราบจากข่าวกัน แต่นักจิตวิทยาสามารถแนะนำได้ว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งในครอบครัวแล้ว ควรจะทำอย่างไรเพื่อไม่ไห้ครอบครัวต้องแตกหัก มีข้อแนะนำอะไรกันบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ


1. รับฟังกันให้มากขึ้น


โดยธรรมชาติของคนเราแล้ว มักจะชอบเป็นผู้พูดมากกว่าผู้ฟัง และเป็นนักพูดที่เก่งมากเวลาพูดเรื่องตัวเอง จนทำให้เราหลงลืมละเลยไม่ได้รับฟังเรื่องของคนใกล้ชิดเรา โดยเฉพาะคนในครอบครัว จนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย หลบหน้าไม่ร่วมกิจกรรมกัน เพราะเจอกันทีไรต่างคนก็ต้องการที่จะแบ่งปันเรื่องของตัวเอง


นั่นทำให้เกิดปัญหาครอบครัว คู่รักนอกใจ เพราะมีคนนอกบ้านที่พร้อมรับฟังมากกว่า หรือลูกติดเพื่อน เพราะเพื่อนรับฟังมากกว่า เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเราต้องการให้คนในบ้านติดบ้าน ผูกพันกัน ก็ขอให้เริ่มเปิดใจรับฟังกันและกันให้มากขึ้นดูนะคะ


เพราะเชื่อแน่ค่ะว่า สมาชิกในครอบครัวที่กลับมาจากที่ทำงานเหนื่อย ๆ หรือวันนั้นเจอเรื่องแย่ ๆ มา เพียงแค่มีคนพร้อมรับฟัง ความเหนื่อย ความรู้สึกแย่จะลดลง และความรู้สึกดีจะเพิ่มมากขึ้นทันตาเลยค่ะ


2. อย่าด่วนตัดสินคนในครอบครัว


ว่าด้วยเรื่องของการนินทา ถือว่ามีความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งนะคะ คือ ถ้าเล่าเรื่องดี ๆ เรื่องมักจะเงียบหายไป แต่ถ้าเล่าเรื่องแย่ ๆ และส่วนใหญ่มักไม่เป็นความจริง เรื่องมันกลับถูกกระพือออกไปไกล แถมใหญ่กว่าเดิมอีกต่างหาก และที่แย่กว่าก็คือ คนเราพร้อมจะเชื่อเรื่องแย่ ๆ ของคนอื่น ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกัน


แต่นั้นก็ไม่เลวร้ายเท่าคนที่เราคิดว่ารู้จักเราดีอย่างคนในครอบครัว ดันไปเชื่อ และตัดสินเราจากเรื่องที่คนอื่นเล่า หรือหนักไปกว่านั้นก็คือเอาเรื่องของเราไปนินทาให้คนอื่นฟัง ซึ่งไม่ว่าด้วยเจตนาของผู้กระทำจะเป็นอะไร แต่ผลที่ได้ก็คือความขัดแย้งในครอบครัวที่ยากจะประสาน


เพราะมันเป็นเรื่องกินใจจนมองหน้ากันไม่ติดเลยละค่ะ ดังนั้น นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า อย่าด่วนตัดสินคนในบ้าน เพียงเพราะได้ยิน “เขาเล่าว่า” และที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง คือ ไม่ควรนำเรื่องไม่ดี หรือเรื่องที่คนในบ้านทำไม่ถูกใจเราไปเล่าให้ใครเขาฟังค่ะ เพราะสุดท้ายผลร้ายมันจะกลับมาทำลายบ้านเราเอง


3. ระลึกไว้ว่าคนในครอบครัวไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์


น่าแปลกใจอย่างหนึ่งว่า คนเรากล้าที่จะแสดงตัวตนด้านแย่ ๆ ต่อหน้าคนที่ตัวเองรัก เช่น ระเบิดอารมณ์ใส่ลูก ใช้คำพูดที่ไม่ดีกับสามี เหวี่ยงใส่พ่อ แม่ นั่นก็เพราะคนเรารู้สึกว่าบ้านเป็น “safe zone” ที่เราสามารถแสดงด้านมืดของเราออกมาได้ โดยลืมไปว่าเรากำลังทำร้ายจิตใจของคนที่เรารัก และรักเราอยู่


บ่อยครั้งที่เวลาเราเห็นข่าวแม่แท้ ๆ ทำร้ายลูกที่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ เด็กน้อยกลับร้องไห้ขอให้ตำรวจปล่อยตัวแม่ เพราะแม่เป็นอันตราย นั่นก็เพราะไม่ว่าเราจะร้ายยังไง เขาก็ยอมเพราะเขามีแต่เรา เขากลัวว่าเราจะไม่รัก แต่เรากลับใช้ “ความกลัวว่าจะไม่รัก” ตรงนี้มาทำร้ายกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะจบไม่สวยเลยค่ะ


เพราะฉะนั้นนักจิตวิทยาจึงมีข้อแนะนำว่า ถ้าใครแคร์เรามาก เราก็ต้องแคร์เขาให้มาก ถ้าใครรักเรามาก เราก็ต้องยิ่งระวังการรกระทำและคำพูดของเราให้มาก ไม่ให้ไปทำร้ายคนที่รักเราค่ะ



4. มีปัญหากันให้รีบพูด


สังคมไทยเป็นสังคมที่มีค่านิยมของ “ความเกรงใจ” สูง ไม่เว้นแม้แต่กับคนในครอบครัว ที่เมื่อเรารู้สึกไม่พอใจ หรือมีปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ เรากลับเก็บไว้คนเดียวเพราะเรา “เกรงใจ” และเมื่อปัญหาถูกสะสม ไม่ได้รับการแก้ไข มันก็หมักหม่มจนไม่สามารถแก้ไขได้ “ความเกรงใจ” ก็จะแปรเปลี่ยนเป็น “ความน้อยใจ” เพราะคิดว่าคนในครอบครัวละเลย ไม่ช่วยแก้ปัญหา


ทั้งที่ตัวเราเองไม่เคยบอกว่ามีปัญหา ซึ่งหากกรณีนี้เกิดขึ้นในคู่รัก ก็มักจะจบด้วยการเลิกรา เพราะฝ่ายหนึ่งคิดว่าอีกคนไม่ใส่ใจ ในขณะที่อีกคนไม่รับรู้ว่าเพราะอะไรถึงต้องจบความสัมพันธ์ หรือในกรณีที่เป็นสมาชิกในครอบครัว ก็จะมีแนวโน้มสูงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า


เพราะหาทางแก้ปัญหา และไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร ดังนั้น หากไม่ต้องการให้ครอบครัวเดินไปถึงทางแยก มีปัญหาให้รีบบอกกันจะดีที่สุดค่ะ


5. หาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน


วิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เป็นวิธีการลดความขัดแย้งในครอบครัวต่อเนื่องจากข้อก่อนหน้าที่นักจิตวิทยาแนะนำ คือ มีปัญหาให้รีบพูด รีบบอกกัน เพราะบ่อยครั้งที่ปัญหามันใหญ่เกินกว่าที่เราคนเดียวจะสามารถแก้ไขได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหามันมีสาเหตุมาจากคนในบ้าน


หรือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงชีวิตคนในบ้าน เช่น ปัญหาการเงินของครอบครัว ปัญหาความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว หรือปัญหาใด ๆ ก็แล้วแต่ หากนำมาปรึกษากับคนในครอบครัว มันยอมจะดีกว่าคิดจนหัวแตกอยู่คนเดียว เพราะเมื่อคนมาช่วยกันแก้ปัญหามากขึ้น ซึ่งเป็นคนที่เราไว้ใจ เราย่อมได้ทางออกที่น่าสนใจและหลากหลาย หรือดีไปกว่านั้น คนในครอบครัวอาจเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้เราได้อย่างง่ายดายเลยละค่ะ


6. ใส่ใจกันให้มากขึ้น


สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ครอบครัวร้าวฉาน ก็คือ ความไม่ใส่ใจกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดในคู่รักหลายคู่ที่หย่าร้างกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “เธอไม่เหมือนเดิม” จากคนที่เคยใส่ใจ จำได้ทุกรายละเอียด ก็หลงลืมละเลยให้ความสำคัญกันไป จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม นั่นก็ทำให้ความรักที่เคยมีให้กันมันจืดจาง จนถึงจุดที่ว่า “ไม่จำเป็นต้องมีเธอ ฉันก็อยู่ได้”


สำหรับกรณีที่สมาชิกครอบครัวใส่ใจกันน้อยลง หรือไม่ใส่ใจกันเลย ก็นำพาไปสู่ปัญหาครอบครัวมากมาย ทั้งเด็กติดเกม คนแก่ติดมือถือ ลูกติดเพื่อน พ่อติดบ้านน้อย (ภรรยาน้อย) และอีกสารพัดสิ่งที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้นเลยสักอย่าง ดังนั้น เพื่อให้ครอบครัวของเรายังคงใช้สิทธิ์ “เรารักกัน” ก็ขอให้ใส่ใจกันให้มากขึ้นนะคะ


ถึงแม้ว่าสาเหตุของความขัดแย้งในครอบครัวจะมีร้อยแปดพันเก้า แต่หากนำ 6 ข้อที่นักจิตวิทยาแนะนำข้างต้นไปใช้ในครอบครัว เชื่อแน่ค่ะว่าสามารถทำให้ความขัดแย้งในครอบครัวลดลงได้อย่างมากเลย และหากครอบครัวไหนที่กำลังเผชิญกับความขัดแย้ง


แต่ถ้ายังไม่สามารถทำให้ครอบครัวกลับมารักกันเหมือนเดิม และไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว มาพูดคุยกับนักจิตวิทยา ของ iSTRONG ได้นะคะ เรามีบริการให้คำปรึกษาด้านครอบครัวและคู่รัก โดยนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านครอบครัวและความสัมพันธ์โดยเฉพาะ ให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการนำความสุขกลับคืนสู่ครอบครัวอีกครั้ง


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA

มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ

ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี




facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page