top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จากข่าวฆาตกรไซยาไนด์ สู่ 8 สัญญาณที่บ่งชี้ว่าคนสนิทมีอาการเจ็บป่วยทางจิต



จากกรณีข่าวดังเรื่องการฆาตกรต่อเนื่องโดยใช้ไซยาไนด์ (Cyanide) ทำให้หลาย ๆ คนหวาดผวาการไปรับประทานอาหารกับเพื่อน หรือการไปเที่ยวกับคนรู้จักกันเลยทีเดียว เพราะฆาตกรในข่าวมีพฤติกรรมเข้าไปตีสนิทกับเหยื่อเพื่อทำความรู้จัก แล้วมีการหยิบยืมเงิน หรือมีเรื่องเงินจำนวนหลักหมื่น หลักแสนมาเกี่ยวข้อง เมื่อได้เงินแล้วจะชักชวนเหยื่อออกไปทำธุระ ก่อนหาเครื่องดื่มให้ดื่ม และต่อมาพบว่าเหยื่อเสียชีวิตโดยไม่มีสาเหตุ เช่น เป็นลม หัวใจหยุดเต้น หัวใจวาย ซึ่งในขณะนี้ (28 เมษายน 2566) พบเหยื่อของฆาตกรไซยาไนด์ แล้ว 13 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าตกใจมาก และเมื่อเราติดตาม Timeline ของการก่อเหตุพบว่าฆาตกรค่อนข้างจะย่ามใจ คือก่อเหตุในระยะเวลาไล่เลี่ยกันโดยไม่กลัวว่าจะถูกจับได้ และปฏิเสธความผิดโดยไม่มีความรู้สึกใด ๆ ซึ่งมีหลายแหล่งข่าวให้ข้อมูลว่าตัวฆาตกรไซยาไนด์มีประวัติเจ็บป่วยทางจิต หรือเป็นโรคทางจิตเวช แต่ขาดการรักษามาเป็นระยะเวลานาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนะคะ ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนมายืนยันว่าข่าวนี้เป็นจริงแต่อย่างไร แต่นั้นก็ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเกิดความตระหนกว่า แล้วคนใกล้ตัวที่เราคบหาในทุกวันนี้มีอาการเจ็บป่วยทางจิตหรือไม่ จะก่อเหตุเช่นนี้กับเราหรือไม่


ดังนั้นเพื่อให้เกิดความตระหนักมากกว่าตระหนก ดิฉันจึงไปค้นหาข้อมูลทางจิตวิทยามาให้คำตอบกับทุกท่านค่ะ ว่าสัญญาณที่บ่งชี้ว่าคนสนิทมีอาการเจ็บป่วยทางจิตนั้นมีอะไรบ้าง และขอแถมด้วยเทคนิคจูงใจให้เขาเข้ารับการรักษามาฝากกันค่ะ


1. มีความเครียดสูง

หากคนใกล้ตัวของคุณมีความเครียดสูงจนแสดงออกมาทางสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง หรือคำพูด ขอให้คุณคอยสังเกตว่าเขามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหรือไม่ เช่น นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ฝันร้าย ดูอ่อนเพลียเพราะนอนไม่พอ หรือมีบุคลิกเปลี่ยนไป เช่น จากคนร่าเริงกลายเป็นเงียบขรึม พูดน้อย ดูกังวลตลอดเวลา นั่นเป็นสัญญาณว่าเขาต้องการความช่วยเหลือแล้วค่ะ เพราะความเครียดของเขากำลังจะพัฒนากลายเป็นโรคเครียด และโรควิตกกังวล ซึ่งจะนำไปสู่โรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้


2. ไม่เป็นตัวของตัวเอง มีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม

ในวันใดวันหนึ่ง หากคุณพบว่าคนรักของคุณ เพื่อนสนิทของคุณ คนในครอบครัวคุณ หรือคนที่คุณรู้จักดูผิดแปลกไปจากเดิม หรือมีพฤติกรรม “ประหลาด” หรือมีความเชื่อที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เช่น คิดว่าตัวเองถูกผีเข้า มีบุคลิกเป็นคนอื่น พูดจาวกวน สับสน ความคิดไม่ปะติดปะต่อ มีความเชื่อเรื่องผี หรือเทพเจ้าจนสุดโต่ง ขอให้รีบพาเขามาพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยด่วน


3. มีอาการหวาดกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรง

หรือคุณสังเกตเห็นว่าคนใกล้ตัวของคุณมีอาการหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรง จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ เช่น กลัวการลงบันได จนไม่สามารถลงจากบันได้ชั้นสูง ๆ ได้ หรือกลัวเชื้อโรคจนไม่กล้าออกจากบ้าน กลัวสัตว์บ้างชนิดจนเมื่อแค่เห็น หรือได้ยินชื่อสัตว์ประเภทนั้นก็สติแตก ควบคุมตัวเองไม่อยู่ นั่นบ่งบอกค่ะว่าเขาต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อเยียวยาจิตใจแล้ว


4. มักหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน

หากคุณสังเกตเห็นว่าคนสนิทของคุณมีพฤติกรรมหมกมุ่นแปลก ๆ ที่ดูไม่ปกติ ดูอันตราย หรือมีของสะสมที่ดูประหลาด เช่น เก็บซากสัตว์ที่พบมาสตาฟ ชอบทำร้ายสัตว์ สะสมชุดชั้นในใช้แล้วของเพศตรงข้าม สะสมขยะ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คุณคิดว่ามันไม่ปกติ ขอให้ชวนเขามาพบผู้เชี่ยวชาญ หรือลองชวนเขามารับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญดูนะคะ


5. ได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง

ในกรณีที่คนรู้จักของคุณต้องผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต แล้วมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ซึมเศร้า เบื่ออาหาร ไม่รับประทานอาหาร ไม่ดูแลตัวเอง ไม่อาบน้ำ ขังตัว เก็บตัว ทำร้ายตัวเอง หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมอย่างมาก และคุณประเมินแล้วว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเขา หรือคนรอบข้างได้ นั่นเป็นเพราะเขาได้รับการกรระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง และต้องได้รับการเยียวยาโดยเร่งด่วนค่ะ


6. โมโหร้าย อารมณ์รุนแรง ต่อต้านสังคม

หากจู่ ๆ คนที่คุณรู้จัก ซึ่งเคยใจดี ใจเย็น หรือมีอารมณ์มั่นคง เปลี่ยนมาเป็นคนที่โมโหร้าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ควบคุมตัวเองไม่อยู่ นั่นเป็นสัญญาณอันตรายที่บอกว่าเขาต้องได้รับการรักษาค่ะ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ใช่เพียงสิ่งของเท่านั้นที่เขาทำร้าย


7. มีการใช้สารเสพติด

ในกรณีที่พบว่าคนในครอบครัว หรือคนรู้จักใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมาย หรือเสพสารติดมากจนติด ขอให้รีบติดต่อโรงพยาบาล หรือสถานบำบัดโดยเร็วที่สุดนะคะ เพราะสารเสพติดทั้งหลายย่อมให้โทษ และมีผลต่อสารสื่อประสาท ซึ่งจะทำให้เกิดอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด และทำร้ายตนเอง และผู้อื่นตามมา


8. มีปัญหาเรื่องความจำอย่างเห็นได้ชัด

จากคนที่มีความจำปกติ คือ จำเรื่องสำคัญได้ ลืมเรื่องที่ไม่ได้ทำเป็นประจำบ้าง หรือเป็นคนที่มีความจำดีสุด ๆ แต่กลับกลายเป็นคนขี้ลืม ลืมง่าย ลืมแม้แต่เรื่องที่ไม่ควรลืม เช่น ทางกลับบ้าน ชื่อตัวเอง ชื่อคนในครอบครัว นี่เป็นสัญญาณอันตรายที่บอกว่าสมองของเขากำลังมีปัญหา ควรพามาพบผู้เชี่ยวชาญก่อนจะกลายเป็นโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์นะคะ


และหากคุณพบว่าคนสนิทของคุณมีสัญญาณของอาการเจ็บป่วยทางจิตข้างต้นตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป หรือเห็นว่าเขาจะทำอันตรายต่อตัวเอง หรือคนอื่น ๆ ได้ ดิฉันก็มีเทคนิคจูงใจให้เขาเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามานำเสนอค่ะ


1. เลือกช่วงเวลาในการพูดคุยเรื่องการรักษาที่เหมาะสม

การที่จะชวน หรือบอกให้ใครสักคนหนึ่งที่เรารู้จักไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ในทุกวันนี้เป็นเรื่องค่อนข้างปกติธรรมดาสำหรับคนวัยทำงาน หรือวัยรุ่น เพราะมีแนวคิดว่าการไปพบจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ก็เหมือนการพบหมอทางกาย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีมุมมองเช่นนี้ ดังนั้นจึงควรเลือกเวลาที่เหมาะสมในการพูดคุย เช่น ช่วงที่เขาดูอารมณ์ดี ช่วงที่อยู่กันสองคนเ เป็นต้นค่ะ


2. ให้คนที่เขาไว้วางใจที่สุดเป็นคนพูด

การพูดว่า “เธอควรหาจิตแพทย์นะ” ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็สามารถพูดได้ เพราะถ้าไม่รู้จักกันดีแล้วอยู่ ๆ พูดเช่นนี้ คนฟังอาจแปลเจตนาผิดแล้วคิดไปทางลบได้ ดังนั้นคนที่เอ่ยปากพูดควรเป็นคนที่เขาไว้ใจ เชื่อใจ สนิทใจ และควรใช่น้ำเสียงที่นุ่มนวล คำพูดที่สื่อถึงเจตนาที่ดี


3. ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการรับการรักษา

เคล็ดลับสำคัญของการจูงใจ ก็คือ การชี้ให้เขาเห็นข้อดีของสิ่งที่เราต้องการให้เขาทำค่ะ อย่างในกรณีนี้ก็จะเป็นโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตปกติ การหายขาดจากความรู้สึกทางลบที่แสนทรมาน และการยืนยันว่าเราจะอยู่เคียงข้างเขาในทุกขั้นตอนการรักษา และทุกสถานการณ์


4. ชี้ให้เห็นข้อเสีย หรือผลที่อาจเกิดขึ้นหากไม่รับการรักษา

และเทคนิคการจูงใจข้อสุดท้าย ก็คือ การชี้ให้เขาเห็นข้อเสียของการไม่เข้ารับการรักษาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น อาการที่แย่ลง โอกาสที่จะทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายคนอื่น หากเราค่อย ๆ พูดให้เขาตระหนักว่าชีวิตเขามีค่าเกินกว่าจะมาเสียไปเพราะอาการเจ็บป่วยทางจิตแล้วละก็ เชื่อแน่ว่า เขาจะเข้ารับการรักษาอย่างเต็มใจแน่นอนค่ะ


นอกจากกรณีฆาตกรไซยาไนด์รายนี้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ศึกษาพบว่า ฆาตกรต่อเนื่องโดยส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตด้วยโรคไซโคพาธ (Psychopaths) หรือโรคขาดความสำนึกผิด ขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) ดังนั้นแล้วหากเราสามารถสังเกตได้ว่าคนสนิทของเรามีอาการเจ็บป่วยทางจิตหรือไม่ และสามารถจูงใจให้เขาเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ เราก็สามารถรักษาชีวิตของเราเอง รวมถึงรักษาชีวิตของผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ ไปพร้อม ๆ กับรักษาตัวเขาให้หายจากอาการเจ็บป่วยทางจิตได้ค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง : สถานีสุขภาพ. (2566, 27 เมษายน). รู้จัก “ไซโคพาธ” โรคผิดปกติต่อต้านสังคม ที่มักพบในฆาตกรต่อเนื่อง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2566 จาก https://www.pptvhd36.com/health/how-to/2010

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page