top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

วิทยาศาสตร์ของพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ทำไมบางคนชอบแต่บางคนไม่แตะเลย



อย่างที่เราเข้าใจกันดีว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน โดยความแตกต่างที่ว่านี้รวมไปถึงระดับความชื่นชอบในการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย หากคุณลองสังเกตก็จะพบว่าตั้งแต่สมัยเรียนไปจนถึงวัยทำงานจะมีเพื่อนบางคนที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ไปจนถึงเสพติดสุรา


แต่บางคนก็ไม่ชอบดื่มไปจนถึงไม่แตะแอลกอฮอล์เลย ซึ่งความแตกต่างในเรื่องนี้ในบางครั้งก็ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้อยู่เหมือนกันถ้าหากต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจกัน ในบทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของการดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้เขียนได้นำข้อมูลมาจากหนังสือ “ยินดีที่ได้รู้จักฉัน (Pleased to meet me)” ในบทที่ 4 พบกับการเสพติดของคุณ ที่พอจะสรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้


1. ยีนบางตัวมีผลให้เป็นคนที่ชอบความเสี่ยง

คนบางคนชอบทำอะไรเสี่ยง ๆ เพื่อกระตุ้นการหลั่งอะดรีนาลินอย่างพรั่งพรู ซึ่งมักจะเป็นพฤติกรรมปฐมบทก่อนที่คนกลุ่มนี้จะเข้าไปติดแอลกอฮอล์และยาเสพติด สาเหตุเกิดจากการที่บางคนมียีนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมชอบความเสี่ยงคือ DRD4 ที่จะเข้ารหัสตัวรับโดปามีนที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจในการมีความสุขและการได้รับสิ่งตอบแทน


ทำให้บางคนไม่สามารถรู้สึกมีความสุขได้หากไม่ทำอะไรเสี่ยง ๆ โดยเป็นผลมาจากการแปรผันของยีน DRD4 ในร่างกาย นอกจากนี้การแปรผันของยีน DRD4 ยังเกี่ยวข้องกับโรคพิษสุราเรื้อรัง การเสพติดยากลุ่มที่ทำจากฝิ่น การมีเซ็กส์ที่ไม่ปลอดภัย และการพนัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือในขณะที่คนทั่วไปแค่อ่านหนังสือเรื่องสัตว์ทะเลก็มีความสุขได้ แต่บางคนจะมีความสุขได้ก็ต้องลงไปปล้ำกับปลาฉลามในทะเล


2. ร่างกายของบางคนแตกต่างไปจากคนอื่น

ออสซี่ ออสบอร์น เป็นตัวอย่างของบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่กับแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกวัน โดยบางช่วงของชีวิตเขาเสพยาวิโคดิน 25 เม็ดต่อวัน ซึ่งหากเป็นคนทั่วไปมาใช้ชีวิตเช่นนี้ก็อาจจะตายภายใน 1 สัปดาห์ ด้วยความสงสัยนักวิทยาศาสตร์จึงทำการศึกษาประวัติดีเอ็นเอของเขาและพบว่าดีเอ็นเอของเขาเกิดการกลายพันธุ์ในบริเวณใกล้กับยีน ADH4


ทำให้เขาสามารถดื่มเหล้าทั้งร้านได้ใน 1 วัน ซึ่ง ADH4 จะผลิตโปรตีนที่เรียกว่าแอลกอฮอล์ดีไฮจีเนส-4 ซึ่งย่อยสลายแอลกอฮอล์ การกลายพันธุ์ในบริเวณที่ใกล้กับ ADH4 ทำให้ร่างกายสามารถผลิตโปรตีนย่อยแอลกอฮอล์ได้เป็นจำนวนมากจึงทำให้ตับสามารถขับแอลกอฮอล์ออกไปได้อย่างรวดเร็ว


3. บางคนค้นพบว่าแอลกอฮอล์มีฤทธิ์คล้ายยากล่อมประสาท

ก่อนที่ยาจิตเวชจะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มนุษย์ที่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับความเครียดความกังวลของตัวเองและได้ค้นพบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันแล้วก็จะใช้สุราในการบำบัดตนเองจากความรู้สึกเครียดกังวล เนื่องจากแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติเป็นยากล่อมประสาท มันจึงช่วยผ่อนคลายเส้นประสาทที่ตื่นตัวมากเกินไป ซึ่งมีการค้นพบว่ายีนชื่อ GABRB3 มีความเชื่อมโยงกับโรคพิศสุราเรื้อรัง


โดยยีนนี้เป็นหน่วยย่อยของตัวรับในเซลล์สมองที่รับกรดแกมมาแอมิโนบิวทีริก (GABA) ที่เป็นสารสื่อประสาทยับยั้งและทำให้สมองสงบลง นอกจากนั้น ยังมีการค้นพบว่า GABRB3 เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ในทางที่ผิด ผู้คนที่สมองตื่นตัวมากเกินไปจึงมักเชื่อมโยงแอลกอฮอล์เข้ากับความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ ซึ่งเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะคนที่มีอาการติดสุราตั้งแต่ในช่วงวัยยี่สิบต้น ๆ


4. ทำไมบางคนก็แค่ไม่ดื่ม

เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายจะถูกตับย่อยสลายเป็นแอซีทัลดีไฮด์ซึ่งยังมีความเป็นพิษอยู่ แต่หลังจากนั้นก็จะมีการย่อยสลายอีกครั้งให้เป็นแอซีเตตซึ่งไม่เป็นพิษ สำหรับคนบางกลุ่มโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกจะหน้าแดงและมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นเมื่อดื่มแอลกอฮอล์เรียกว่าอาการ “Asian Flush”


คือปฏิบัติกิริยาหน้าแดงหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol Flush Reaction: AFR) โดยคนที่มีอาการ AFR มักมีการแปรผันของยีนที่ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นในกระบวนการผลิตเอนไซม์ที่ช่วยย่อยสลายแอลกอฮอล์ ทำให้กระบวนการเปลี่ยนแอซีทัลดีไฮด์เป็นแอซีเตตทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ คนที่มีอาการ AFR จึงรู้สึกไม่สบายตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ทำให้บางคนตัดสินใจไม่ดื่มเหล้าเลย


จากข้อมูลข้างต้นก็จะเห็นได้ว่าคนแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันทั้งภายนอกและภายใน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนจึงเหมือนเราแต่บางคนก็แตกต่างจากเรา การทำความเข้าใจคนอื่นจะช่วยสร้างความสุขให้กับเราได้ เพราะจะช่วยลดความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับคนที่แตกต่าง ยกตัวอย่างสถานการณ์ในที่ทำงาน


ถ้าหากเข้าใจความแตกต่างของยีนในร่างกายที่มีผลต่อพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ เวลาที่ไปปาร์ตี้ด้วยกัน คนที่เป็นสายดื่มก็จะไม่บังคับให้คนไม่ดื่มต้องดื่ม และคนที่ไม่ดื่มก็จะไม่ไปติเตียนคนที่เป็นสายดื่มว่าจะดื่มทำไม ซึ่งองค์กรที่พนักงานมีความเข้าอกเข้าใจกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มักจะมีบรรยากาศการทำงานที่ดีกว่าองค์กรที่พนักงานตั้งแง่ใส่กันเพราะความไม่เข้าอกเข้าใจกัน


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] ยินดีที่ได้รู้จักฉัน โดย บิล ซัลลิแวน แปลโดย K.D.


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page