top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 วิธี ลดความเครียด และความวิตกกังวล สำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงาน และเลี้ยงลูกไปด้วย


แพรเชื่อว่าหลายคนคงเคยรู้สึกเครียด และวิตกกังวล เมื่อเราต้องทำงาน และต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน ในขณะที่ต้องเลี้ยงลูกไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ความพยายามที่จะรักษาสมดุล ระหว่างชีวิตทำงาน และ ชีวิตส่วนตัว สำหรับคนเป็นแม่ที่ต้องทำงาน เป็นเรื่องที่สร้างความเครียด และ ความวิตกกังวลให้กับคุณไม่มากก็น้อย บ่อยครั้งที่เรารู้สึกว่า เราอยากที่จะทำงานต่อ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกผิด ที่ไม่ได้ใช้เวลากับลูก หรือในทางกลับกัน เมื่ออยู่กับลูก ก็นึกถึงงานที่ต้องทำ จิตใจของเราไม่สามารถโฟกัสกับกิจกรรมในปัจจุบันได้เลย ขอให้ทุกคนเข้าใจว่า เราไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหานี้

นักเขียนที่มีชื่อว่า Amy Westervelt ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Forget having it all ได้กล่าวถึงคุณแม่ที่ต้องทำงานไว้ว่า “พวกเราคาดหวังว่า ผู้หญิงทุกคนจะต้องทำงานให้เหมือนไม่มีลูก และเลี้ยงลูกให้เหมือนไม่ต้องทำงาน” ซึ่งด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้ คุณแม่ที่ต้องทำงาน (และอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน) รู้สึกผิด นำไปสู่ความรู้สึกเครียด วิตกกังวล และ burn out

ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเกิดขึ้นกับลูก ที่ไม่ได้ใช้เวลากับเขามากเท่าที่คาดหวังไว้ แต่พวกเขายังรู้สึกผิดกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ที่ไม่สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ รู้สึกผิดกับพ่อแม่ที่อายุมาก ที่ไม่มีเวลาในการดูแลพวกเขาได้ดีเท่าที่ควร รู้สึกผิดกับตัวที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพกาย และ ใจ และแม้แต่รู้สึกผิด ที่มีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น

สิ่งแรกที่คุณแม่ๆ จะต้องทำ ก็คือ การปล่อยวางจากความรู้สึกผิดนี้ ความเครียด และ ความวิตกกังวลที่สะสมเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และ จิตใจของคุณ​ รวมถึงการดำเนินชีวิตในการทำกิจกรรมต่างๆ

นักจิตวิทยาได้แนะนำวิธีที่จะช่วยให้คุณลดความเครียด และความวิตกกังวล จากความพยายามรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และ ชีวิตส่วนตัว เพื่อเป็นคุณแม่ที่ดี ไว้ดังต่อไปนี้

1. ให้อภัยตัวเอง

สิ่งแรกที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นได้ นั่นคือ การให้อภัยตัวเอง การที่จะให้อภัยตัวเองได้ คือ การยอมรับการตัดสินใจของเราในอดีต ว่า เราได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด ด้วยความรู้ ประสบการณ์ที่ดีที่สุด จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกไม่ดี แทนที่จะคิดว่า “เรารู้สึกแย่เพราะ...” ให้แทนที่ด้วย “เราเลือกที่จะทำแบบนั้นในตอนนั้นเพราะ...” จากนั้นปล่อยวาง และเดินหน้าต่อ

2. ทบทวนคุณค่า (value) ที่เราให้ในชีวิต

การที่หลายๆ คนรู้สึกแย่ เป็นทุกข์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตสอดคล้องกับสิ่งที่เราให้ความสำคัญ และ ความหมาย ดังนั้น การกลับมานั่งสำรวจตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่เราให้ความหมาย และ เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตของเรา จะทำให้เราเห็นตัวของเรา และแนวทางในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น บางคน ให้ความสำคัญกับ ครอบครัว แต่การที่เขาทำงาน และ ให้เวลาน้อยกว่าที่เขาต้องการที่จะให้ ขัดแย้งกับคุณค่าในชีวิตของพวกเขา และ เป็นสาเหตุให้เกิดความรู้สึกผิด เป็นทุกข์​ นั่นเอง

ดังนั้น การกลับมาสำรวจว่าเราให้คุณค่า และ ความสำคัญกับเรื่องอะไรในชีวิต และปรับแนวทางการใช้ชีวิตใหม่ จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้

3. ขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว

บ่อยครั้งที่ผู้หญิงเก่งๆ ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน คิดว่า พวกเธอสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวของเธอเอง และการต้องทำอะไรหลายๆ อย่างที่มากเกินไป ส่งผลต่อความเครียด และนำมาซึ่งภาวะ burn out และค้นพบว่า อันที่จริงแล้ว พวกเธอไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวของเธอเองได้

การขอความช่วยเหลือ จาก เพื่อน หรือ ญาติพี่น้อง เป็นสิ่งที่จะช่วยลดความเครียด และ ภาวะ burn out ของคุณได้ ไม่เพียงแต่คุณจะลดภาระจากการทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และโฟกัสกับการทำสิ่งที่สำคัญให้ดีขึ้นได้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบตัวอีกด้วย

4. ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และปล่อยวาง

นักจิตวิทยาชื่อว่า John Bowlby ได้ทำการศึกษา และ พบว่า การอยู่กับปัจจุบันขณะ และทำทุกอย่างอย่างเต็มความสามารถในตอนนั้น เช่น เมื่อเล่นกับลูก ก็ให้เวลากับเขาอย่างเต็มที่ รับรู้ถึงความสนุก ความรู้สึกของเขา และแสดงความรู้สึกร่วม เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณกับลูก และทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงความรัก และการสนับสนุนต่อพวกเขา

เมื่อทำดีที่สุดในปัจจุบันขณะแล้ว ก็ปล่อยวาง เลิกคิดถึงความสมบูรณ์แบบที่เราจะต้องทำอะไรได้ทุกอย่างในเวลาเดียวกันซะ

5. ละทิ้ง และ หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกแย่

บ่อยครั้งที่ความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้นกับเรา มาจากคำพูดของคนอื่น เช่น แม่มันมัวแต่ทำงาน ไม่สนใจลูก (ทั้งๆ ที่เราพยายามอย่างเต็มที่ในรูปแบบของเราที่จะทำทุกอย่างให้ได้ดี) การเห็นแม่บางคนทำกิจกรรมกับลูก ในขณะที่เราต้องทำงาน หรือเพื่อนบางคนที่ได้รับการเลื่อนขั้น หรือ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในขณะที่เราต้องเลี้ยงลูก สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกแย่ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้เวลากับคนท่ีทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ social media ที่ทำให้เราเห็นชีวิตของคนอื่น และนำมาซึ่งการเปรียบเทียบ และรู้สึกแย่ แต่ให้เอาเวลานั้นมาโฟกัสกับการทำงานที่เรารัก และ เวลาคุณภาพที่เราจะให้กับลูกแทน

สิ่งที่สำคัญก็คือ การตระหนักรู้ที่ว่า การที่เรารู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือรู้สึกผิด เกิดจาก ความต้องการที่จะทำดีที่สุด เราแคร์และใส่ใจคนอื่น แต่การที่เราสามารถปล่อยวางความรู้สึกผิดนี้ได้ ไม่ได้หมายความว่า เราไม่แคร์ความรู้สึกของคนอื่นอีกต่อไป หรือ เรายอมรับว่าเราเป็นแม่ที่ไม่ดี แต่เป็นเพราะ เราเข้าใจว่า การที่เรารู้สึกแบบนี้ เกิดขึ้นเพราะเราใส่ใจ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากความรู้สึกเครียด และวิตกกังวลไม่หายไป การขอคำปรึกษา และ พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่แนะนำเช่นกันค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : อังคณา เกิดทองมี

ศึกษาด้านศิลปศาศตรมหาบัณฑิต (M.A.) สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (B.Eng.) สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยศิลปากร, และ Diploma of International E-Business, Hove College, Brighton, UK

มีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งวิศวกรในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขั้นนำของโลกมากกว่า 5 ปี ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทด้าน Data Science และเขียนบทความด้านจิตวิทยาให้กับบริษัท iStrong

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page