เพิ่มพลังใจในยุค COVID-19 ด้วยเทคนิคจิตวิทยา “คิดบวก”
ในนาทีนี้สถานการณ์ COVID-19 ในบ้านเรารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ต้องบอกเลยว่าการคิดบวกและ “ความเข้มแข็งทางใจ” เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะคนไทยทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กันถ้วนหน้าไม่มากก็น้อย อย่างดิฉันเอง ในการระบาดรอบแรก สามีถูกให้ออกจากงาน แต่ด้วยความที่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน ทำให้เรามีความเข้มแข็งทางใจ พอที่จะวางแผนชีวิตกันว่าจะทำอย่างไร และประคองตัวเองให้ผ่านตอนนั้นมาได้ มาถึงตอนนี้ที่ COVID-19 ระบาดครั้งใหญ่ คุณแม่ของดิฉันซึ่งเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ไม่มีลูกค้าเลย
ดิฉันต้องช่วยเหลือด้านการเงิน และต้องขอบอกเลยค่ะว่า การระบาดรอบล่าสุด ท้าทายความเข้มแข็งทางใจของคนไทยทุกคนมาก ทั้งถูกปิดกิจการ ถูกให้ออกจากงาน เสี่ยงต่อการติด COVID-19 ติดมาก็ไม่มีที่รักษา วัคซีนไม่พอ เอาเป็นว่าในตอนนี้การพึ่งพาตนเอง และอยู่ให้รอดคือทางออกของพวกเราค่ะ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราอยู่รอด ก็คือ “ความเข้มแข็งทางใจ” นั่นเอง ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้ ดิฉันได้รวบรวมเทคนิคการเพิ่มความเข้มแข็งทางใจด้วยเทคนิค “คิดบวก” มาฝากกันค่ะ
1.เพิ่มความทนทานด้านอารมณ์ด้วยการ “คิดบวก”
ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำว่า หากต้องการเพิ่มความเข้มแข็งทางใจ ต้องเริ่มด้วยการเพิ่มความทนทานด้านอารมณ์ คือ มีสติ รู้ทันอารมณ์ตัวเอง ไม่หัวร้อนง่าย หรือไม่สติแตกเมื่อเจอสถานการณ์ขับคัน ซึ่งทุกคนสามารถนำเทคนิค “คิดบวก” มาช่วยในการเพิ่มความทนทานด้านอารมณ์ได้ ดังนี้ค่ะ
[1] ใส่ใจคำพูดคนอื่นให้น้อยลง
ในโลกนี้ไม่มีใครไม่ถูกนินทา เพราะฉะนั้นหากมีคนพูดถึงเราในทางไม่ดี ก็ปล่อยมันไปตามสายลม คิดเสียว่า เรายังเป็นที่สนใจของคนอื่น เพราะจุดประสงค์หลักของการนินทา ก็คือ ความบันเทิงของคนพูด และผลกำไรก็คือ ความทุกข์ใจของคนฟัง เพราะฉะนั้นแล้ว เราก็ทำให้คนที่พูดถึงเราสมหวังครึ่งเดียว ก็คือ เอาแค่ความบันเทิงของพวกเขา แต่เราไม่ใส่ใจ เราจะสบายใจ และใช้ชีวิตของเราได้ตามปกติค่ะ
[2] คิดถึงอนาคต
หากคุณกำลังท้อใจกับสถานการณ์ที่เจอในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำว่า ให้คิดถึงอนาคตของเรา หรืออนาคตของลูกเรา เช่น ถ้าเราท้อใจ หมดกำลังใจ เพราะกิจการที่อุตส่าห์สร้างมากับมือต้องปิดตัวลง ขอให้คิดถึงภาพของร้านเราในอนาคตที่กลับมาเปิดได้ แล้วเราจะมีกำลังใจ กำลังความคิดที่จะวางแผนธุรกิจในอนาคต หาช่องทางสร้างรายได้อื่นเพื่อเก็บเงินสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ เป็นต้น
[3] ดึงตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน
ในอีกทางหนึ่ง หากคุณกำลังกังวลกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การติดเชื้อ COVID-19 การตกงาน ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้แนะนำว่า ขอให้ดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งที่มี อยู่ในตำแหน่งที่ยืน และลองคิดว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตกับสิ่งที่มี ที่เป็นอยู่ให้ปกติสุขที่สุดอย่างไรค่ะ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อดีตเรากลับไปแก้ไม่ได้ มีเพียงปัจจุบันที่เราสามารถควบคุมได้ค่ะ
[4] ไม่เอาความเจ็บปวดในอดีตมาสร้างแผลในปัจจุบัน
หรือหากคุณยังคงติดอยู่กับความคิดถึงชีวิตที่เคยสวยงามในวันวานที่ผ่านมาจนเป็นทุกข์ หรือนำชีวิตในช่วงที่สุขสบายมาเปรียบเทียบกับชีวิตในปัจจุบัน จนเกิดความน้อยใจในชีวิต หรือเฝ้าโทษตัวเองว่า “รู้อย่างนี้ วันนั้นจะ...” ซึ่งเรากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำว่า ขอให้นำความผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ หรือนำความสุขในอดีตมาเป็นกำลังใจให้เราใช้ชีวิตต่อไปเพื่อสร้างอนาคตที่สดใสเช่นวันวานค่ะ
[5] หาที่ระบายอารมณ์
การหาที่ระบายอารมณ์ในที่นี้ หมายถึง การหาคนที่ไว้ใจระบายความทุกข์ หรือหากิจกรรมที่สบายใจทำระบายความเครียด เพื่อไม่ให้ความทุกข์ และความเครียดกัดกินเราจากข้างใน จนจิตใจเรากร่อน ขาดความเข้มแข็งทางใจ ซึ่งสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เราย่อมแพ้ต่ออุปสรรคในชีวิตได้ค่ะ
2. เสริมกำลังใจด้วยการ “คิดบวก”
[1] สร้างความมั่นใจในตัวเอง
คนที่มีความมั่นใจในตนเอง ก็คือ คนที่บอกกับตัวเองว่า “ฉันทำได้ ๆ” ซึ่งเทคนิค “คิดบวก” ที่นำมาใช้ก็ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่เราคิดถึงเหตุการณ์ความยากลำบากในอดีตที่เราเคยผ่านมาแล้วนำมาพูดกับตนเองว่า “ครั้งนั้นเรายังผ่านมาได้ ครั้งนี้จิ๊บ ๆ” แบบนี้เป็นต้น หรือนำประสบการณ์ในอดีตมาช่วยแก้ปัญหาในปัจจุบันก็ช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองที่จะเสริมความเข้มแข็งทางใจได้เช่นกันค่ะ
[2] มีคนที่รักเป็นที่ยึดเหนี่ยว
ในสถานการณ์ที่มีแต่เรื่องเครียด เรื่องกดดัน ทำให้บ่อยครั้งเรามักรู้สึกว่า “ไม่มีใคร” หรือ “โดนทิ้ง” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำว่าให้คิดถึงคนในครอบครัว คนที่รักเรา หรือโทรหาคนที่บ้านเพื่อขอกำลังใจ ก็เป็นการชาร์จแบตให้มีความเข้มแข็งทางใจเพิ่มขึ้นได้อย่างดีเลยค่ะ
[3] ชีวิตต้องมีแผน
การวางแผนชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ย่อมดีกว่าการไปตายเอาดาบหน้า ในทุกสถานการณ์แน่นอน เพราะการมีแผนจะทำให้เราคิดอย่างเป็นระบบ ใช้ชีวิตอย่างเป็นระเบียบ หากเกิดปัญหาก็จะสามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น เพราะเตรียมการมาแล้ว รู้ว่าต้องขอความช่วยเหลือจากใคร หรือต้องทำอย่างไรให้เอาตัวรอดได้ค่ะ
3. เพิ่มเทคนิคการจัดการปัญหาด้วยการ “คิดบวก”
[1] กล้าที่จะชนกับปัญหา
คุณโย่ง เชิญยิ้ม เคยกล่าวบนเวทีทอล์คโชว์ ว่า หากเราหาทางออกของปัญหาไม่ได้ ก็ให้เดินกลับไปที่ทางเข้า ซึ่งฟังเผิน ๆ จะดูเอาฮา แต่แฝงข้อคิดเอาไว้อย่างลึกซึ้งค่ะ นั่นก็คือ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ก็คือการจัดการกับสาเหตุของปัญหา ปัญหาเกิดมาจากอะไรก็ไปแก้ที่ตรงนั้น ถ้าเราไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับต้นเหตุของปัญหา วันหนึ่งปัญหามันจะใหญ่ขึ้นจนทับเราได้ค่ะ
[2] ยึดเหตุผลเป็นหลัก
บ่อยครั้งที่เราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ชวนให้ประสาทเสีย และควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ แต่ถ้าเราจัดการกับปัญหาด้วยอารมณ์ ผลลัพธ์มันมักจะไม่สวยเท่าไหร่ แถมยังเพิ่มปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมมาอีก ดังนั้น เมื่อคุณต้องเจอกับสถานการณ์ยุ่งยากใจ ขอให้หายใจเข้า – ออกช้า ๆ และมองหาเหตุผลเป็นหลักค่ะ
[3] เปิดใจรับฟังผู้อื่น
การเปิดใจรับฟังผู้อื่น นอกจากจะทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้ว ยังช่วยให้เราได้มองปัญหาในมุมที่แตกต่าง รวมถึงได้วิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งวิธีเหล่านั้นมักจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเชียวละค่ะ ด้วยเหตุนี้นักจิตวิทยาองค์กรจึงได้แนะนำว่า หากเกิดปัญหาในองค์กร ควรใช้วิธี Brainstorm จากทุกคน เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมค่ะ
[4] ชีวิตต้องมีแผนสำรองเสมอ
นอกจากชีวิตจะต้องมีแผนแล้ว เราก็ควรจะมีแผนสำรองเอาไว้ป้องกันเวลาที่สถานการณ์มันไม่เป็นไปตามแผน เพื่อให้เรายังคงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเดินไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งใจได้ ในอนาคตค่ะ
ความเข้มแข็งทางใจ นอกจากจะช่วยให้เราอยู่รอดในสถานการณ์ COVID-19 แล้ว ยังสามารถปรับใช้วิธีที่แนะนำมาข้างต้นกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้นะคะ ขอเป็นกำลังใจ กำลังสมอง และเคียงข้างทุกท่านในทุกสถานการณ์ค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต. มปป. แบบประเมินความเข้มแข็งทางใจ. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2564 จาก http://envocc.ddc.moph.go.th
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Kommentare