top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

‘ดีใจหาย ร้ายสุดขั้ว’ รู้จักกับ Borderline Personality Disorder


ในอดีต คำว่า “Borderline Personality Disorder (BPD)” อาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนไทย แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะคนที่ได้ติดตามข่าวการพิพาทระหว่าง Johnny Depp และอดีตแฟนสาวของเขา Amber Heard อาจจะได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง เนื่องจาก BPD เป็นอาการที่นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา (forensic psychologist) ได้ให้การในศาลว่าจากการทดสอบทางจิตวิทยาพบว่า Amber Heard มีอาการของโรคนี้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า BPD หรือโรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่งจากสื่อต่าง ๆ แต่ก็อาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่ามันมีอาการอย่างไร รวมถึงหลายคนก็มีคำถามว่ามันแตกต่างจากโรคไบโพลาร์อย่างไร เนื่องจากทั้ง BPD และโรคไบโพลาร์ ต่างก็มีอาการเด่นที่คล้ายกันคือ ‘เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย’

Borderline Personality Disorder (BPD) เป็นโรคทางจิตเวชศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อวิธีการคิดที่ผู้ป่วยมีต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยด้วย โดยผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับ Self-image, การควบคุมอารมณ์พฤติกรรมของตนเอง และรูปแบบความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับใครได้ ซึ่งอาการของ BPD ที่ผู้ป่วยต้องเผชิญนั้นสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยเนื่องจากต้องพบปัญหาในชีวิตมากมาย โดยพบว่าผู้ป่วย BPD จำนวนหนึ่งมีการทำร้ายตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือพยายามฆ่าตัวตาย

จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็น Borderline Personality Disorder BPD?

การประเมินว่าใครเป็น BPD นั้น จะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ สำหรับในเมืองไทยหมายถึงจิตแพทย์ โดยจิตแพทย์จะใช้เกณฑ์ของ Diagnostic and statistical manual of mental disorders. 5th edition (DSM 5) เพื่อประเมินอาการ โดยผู้ที่มีแนวโน้มจะมีอาการของ BPD นั้น มักพบอาการพบดังนี้

  • รู้สึกว่างเปล่าอย่างต่อเนื่อง (Chronic feelings of emptiness)

  • อารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ ทุกวัน โดยแต่ละอารมณ์มีความเข้มข้นมาก เช่น เศร้ามาก วิตกกังวลมาก หงุดหงิดฉุนเฉียว แต่จะมีอารมณ์เหล่านั้นอยู่เพียงไม่นาน พบได้น้อยที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ใดอารมณ์เดียวอยู่นานหลายวัน

  • พยายามอย่างมากที่จะทำให้ตัวเองไม่ถูกทอดทิ้ง เนื่องจากผู้ป่วยจะกลัวการถูกทอดทิ้งเป็นอย่างมาก

  • มีการรับรู้เกี่ยวกับตัวเองที่ไม่มั่นคง จึงมีลักษณะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเอาแน่เอานอนไม่ได้

  • หุนหันพลันแล่นขาดการยับยั้งชั่งใจ จึงมักมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อตนเอง เช่น ใช้จ่ายไม่ยั้งคิด มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ใช้สารเสพติด ขับรถเร็วมาก กินไม่หยุด (binge eating)

  • โกรธรุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผล และแสดงอารมณ์โกรธออกมาอย่างควบคุมไม่ได้ เช่น ใช้กำลังทำร้ายคนที่ผู้ป่วยรู้สึกโกรธ

  • รักแรงเกลียดแรง เวลามีความสัมพันธ์กับใครก็จะมีพฤติกรรมที่ไม่คงเส้นคงวา เช่น เวลารู้สึกดีด้วยก็รักมาก แต่ถ้าบุคคลเดียวกันทำอะไรให้ไม่พอใจก็จะเกลียดไปเลย (splitting: all good-all bad)

  • มีการพยายามฆ่าตัวตาย มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ซึ่งผู้ป่วยมักทำซ้ำ ๆ

  • หากมีความเครียดสูง ๆ อาจเกิดความคิดหวาดระแวง หรือมีอาการที่เรียกว่า “dissociative symptoms” เช่น จำอะไรไม่ได้ไปชั่วคราว ตัดขาดตัวเองจากโลกความเป็นจริง

  • ในบางช่วงผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคจิต แต่จะเป็นเพียงระยะสั้น ๆ (short lived psychotic episode)

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการ Borderline Personality Disorder (BPD)

  • พันธุกรรม มีวิจัยที่ศึกษาในฝาแฝดหรือสมาชิกในครอบครัวเดียวกันอยู่หลายงานที่พบว่าคนที่มีสมาชิกในสายเลือดเดียวกันป่วยเป็น BPD จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็น BPD ด้วยเช่นกัน

  • ความผิดปกติของสมอง บุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงของสมองในส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์และการยับยั้งชั่งใจ หรือสารสื่อประสาททำงานผิดปกติไป เช่น serotonin ก็จะส่งผลให้บุคคลมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และการยับยั้งชั่งใจได้

  • ความเครียดรุนแรงในวัยเด็ก หมายถึง บุคคลที่มีประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดรุนแรงในวัยเด็ก เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทอดทิ้ง ต้องแยกจากหรือสูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูใช้สารเสพติดจนมีการปล่อยปละละเลยหรือทำร้าย

จะทำอย่างไรหากสงสัยว่าตนเองมีอาการของ Borderline Personality Disorder (BPD)?

หากคุณเริ่มสังเกตตนเองแล้วพบว่ามีอาการที่ตรงกับอาการในเกณฑ์การประเมินหลายข้อ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการประเมินอาการ เนื่องจาก BPD ค่อนข้างมีความซับซ้อน ผู้ที่จะทำการวินิจฉัยได้จึงต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านจิตเวชศาสตร์ ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจะสามารถใช้เครื่องมือในการวินิจฉัยได้อย่างชำนาญและมีความแม่นยำในการแปลผลจากเครื่องทดสอบ รวมไปถึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์การวินิจฉัยเป็นอย่างดี

การรักษา

  • จิตบำบัด เป็นการรักษาหลัก บางครั้งอาจใช้พฤติกรรมบำบัดร่วมด้วยเพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้ โดยในปัจจุบันมีจิตบำบัดสมัยใหม่ที่มีงานวิจัยรองรับในระดับนานาชาติว่าสามารถรักษาอาการของ BPD ได้ เช่น Schema Therapy (ST), Dialectical behavior therapy (DBT), Mentalization-based therapy (MBT)

  • รักษาด้วยยา โดยจิตแพทย์จะเป็นผู้ให้ยาตามอาการที่ปรากฏ

แม้ว่าอาการของ Borderline Personality Disorder (BPD) จะดูน่ากลัวสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นพฤติกรรมของบุคคลที่มีอาการของ BPD ที่มองเผิน ๆ แล้วดูน่าขยาดไม่อยากเข้าใกล้ แต่ในโลกของผู้ป่วยเองก็มีความทุกข์ทรมานกับอาการที่เกิดขึ้นไม่น้อย ซึ่ง BPD เป็นโรคทางจิตเวชศาสตร์ที่พบว่ามีพฤติกรรมฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้มากโรคหนึ่ง ดังนั้น คงจะเป็นการดีกว่าหากเราสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ BPD เพื่อหาวิธีอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้โดยไม่ไปรังเกียจ ในขณะที่ก็ไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบ หากผู้ป่วยเป็นบุคคลในครอบครัวของคุณเอง คุณสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้ด้วยการติดตามให้ผู้ป่วยไปพบผู้เชี่ยวชาญตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงให้ความเข้าใจผู้ป่วยว่าพฤติกรรมที่ปรากฏนั้นเกิดจากอาการของ BPD โดยให้ความช่วยเหลือเท่าที่คุณรู้สึกไหว หากเกินความสามารถควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงหากคุณต้องเผชิญกับสภาพจิตใจที่ย่ำแย่จากการต้องรับมือกับผู้ป่วย BPD คุณเองก็สามารถรับการปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษาได้เช่นกัน

แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการของ BPD และเกิดความคิดฆ่าตัวตายหรืออยากทำร้ายตนเองขึ้นมา โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ เช่น นักจิตวิทยา นักให้คำปรึกษา เพื่อประคับประคองสภาพจิตใจและลดพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG Mental Health


 

อ้างอิง

[1] Borderline Personality Disorder (BPD) Criteria for Diagnosis. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/borderline-personality-disorder-diagnosis-425174

[3] Amber Heard Has Borderline Personality Disorder, Forensic Psychologist Tells Court. Retrieved from. https://www.thewrap.com/amber-heard-borderline-personality-disorder-forensic-psychologist-testimony/

[4] What Is Dissociation in Borderline Personality Disorder (BPD)?. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/dissociation-in-borderline-personality-disorder-425482

 

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page