พลังของการเปลี่ยนความคิด วิธีปลดล็อกศักยภาพด้วยศาสตร์แห่ง CBT
- iStrong team
- Feb 27
- 2 min read
Updated: Mar 3

เมื่อคุณได้ยิน CBT หรือ Cognitive Behavioral Therapy หรือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม คุณนึกถึงอะไร หลายคนมักเชื่อมโยงมันกับการบำบัดโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า แต่ในความจริงอีกด้าน CBT ยังเป็นแนวคิดที่ทรงพลังและใช้ได้จริงสำหรับการพัฒนาตนเอง ความสำเร็จ และภาวะผู้นำอีกด้วย
CBT ไม่ได้เกี่ยวกับการบำบัดหรือแก้ปัญหาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับ การสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจ (Resilience) การพัฒนาการตัดสินใจ และการส่งเสริม Growth Mindset
ไม่ว่าคุณต้องการพัฒนาตัวเองหรือช่วยให้คนอื่นเติบโต CBT เป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงเพื่อ ปรับเปลี่ยนความคิด เสริมสร้างความมั่นใจ และผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางบวกได้อย่างดี
CBT กับการพัฒนาตนเอง
หลักสำคัญของ CBT คือความเชื่อที่ว่า ความคิดของเราเป็นตัวกำหนดอารมณ์และพฤติกรรม ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนวิธีคิดได้ คุณก็สามารถเปลี่ยนความรู้สึกและการกระทำได้ หลักการนี้ไม่เพียงแต่ใช้เพื่อเอาชนะความท้าทายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ คุณบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเอง
วิธีที่คุณสามารถนำ CBT มาใช้ในการพัฒนาตนเอง
1. เปลี่ยนความเชื่อที่จำกัดตัวเองให้เป็นกรอบความคิดที่เสริมพลัง
หลายคนมักจำกัดตัวเองเพราะ ความเชื่อที่จำกัดศักยภาพ เช่น
❌ "ฉันไม่ฉลาดพอ"
❌ "ฉันไม่มีทางประสบความสำเร็จ"
❌ "ฉันไม่ใช่ผู้นำ"
CBT ช่วยให้คุณ ตั้งคำถามกับสมมติฐานเหล่านี้ และแทนที่ด้วย ความเชื่อที่สร้างสรรค์และเสริมพลังมากขึ้น
วิธีนำไปใช้
ระบุความเชื่อที่จำกัดตัวเอง ที่ฉุดรั้งคุณไว้
ท้าทายมัน: ถามตัวเองว่า "สิ่งที่ฉันคิดเป็นเรื่องจริงเหรอ?" "ฉันมีหลักฐานอะไรที่คิดแบบนั้น?" "มีหลักฐานที่พิสูจน์ว่าฉันไม่ได้เป็นแบบนั้นมั้ย?"
ปรับเปลี่ยนความคิด ให้เป็นความเชื่อที่มุ่งเน้นการก้าวไปข้างหน้า (เช่น "ฉันสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ด้วยความพยายาม" จาก Fixed mindset เป็น Growth mindset แทน)
ตัวอย่าง: เนยหวานอยากเป็นนักพูดมาตลอด แต่เธอบอกตัวเองว่า "ฉันไม่ใช่นักพูดโดยธรรมชาติ ฉันจะทำให้ตัวเองขายขี้หน้าเปล่า ๆ"
จากการใช้ CBT เธอท้าทายความคิดนี้
ตรวจสอบความจริง: นักพูดเก่งๆ หลายคนก็ไม่ได้ "เกิดมาก็พูดเก่งเลย" แต่พัฒนาขึ้นด้วยการฝึกฝน
ปรับมุมมอง: "ฉันสามารถพัฒนาทักษะการพูดได้ด้วยการเตรียมตัวและประสบการณ์"
การลงมือทำ: เธอเริ่มฝึกพูดในกลุ่มเล็กๆ และค่อยๆ สร้างความมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ
ผลลัพธ์ที่ได้คือเนยหวานเปลี่ยนความกลัวของเธอให้กลายเป็น การลงมือทำ การก้าวหน้า และความสำเร็จ
2. เอาชนะการผัดวันประกันพรุ่งและสร้างวินัย
การผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้เกี่ยวกับความขี้เกียจเท่านั้น แต่มักถูกขับเคลื่อนโดย ความบิดเบือนทางความคิด เช่น:
❌ "งานนี้ยากเกินไป"
❌ "ตอนนี้ฉันไม่มีแรงจูงใจ"
CBT ช่วยทำลาย วงจรความคิดเชิงลบ ที่นำไปสู่การหลีกเลี่ยงและแทนที่ด้วย การคิดที่มุ่งเน้นการลงมือทำ
วิธีนำไปใช้
แบ่งงานเป็นขั้นตอนเล็กๆ เพื่อให้น่ากลัวน้อยลง
ใช้ "กฎห้าวินาที" (The 5 Second Rule) Mel Robbins โค้ช นักพูด และนักเขียน ได้แบ่งปันเทคนิคว่า แค่นับถอยหลัง 5-4-3-2-1 แล้วลุกขึ้นไปทำสิ่งนั้นเลย จะทำให้คุณทำสิ่งที่เคยกลัวหรือผัดวันประกันพรุ่งได้มากขึ้น
เพิกเฉยอารมณ์ความรู้สึกบ้าง ไม่ต้องสนใจว่าอยากทำรึเปล่า แค่ลงมือทำเลยเท่านั้น
ตัวอย่าง: ทอยอยากเขียนหนังสือแต่คิดอยู่เสมอว่า "มันดูยากเกินไป เราไม่มีเวลาทำอะไรแบบนั้นหรอก"
จากการใช้ CBT เขาเปลี่ยนวิธีคิด
ความคิดใหม่: "เราไม่จำเป็นต้องเขียนให้เสร็จวันนี้ แต่ขอแค่เขียนวันละ 10 นาทีก็พอ"
การลงมือทำ: เขาเริ่มเขียนเล็กๆ น้อยๆ ทุกวัน
ผลลัพธ์: ขั้นตอนเล็กๆ ของเขากลายเป็นความก้าวหน้า และในที่สุดเขาก็เขียนหนังสือเสร็จ
บทเรียน: การลงมือทำเกิดก่อนแรงจูงใจ
3. จัดการกับความเครียดและสร้าง Emotional Resilience (ความยืดหยุ่นทางอารมณ์)
ความเครียดและอุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่วิธีที่คุณตีความสิ่งเหล่านั้น จะเป็นตัวกำหนดว่าคุณจะเติบโตหรือรู้สึกพ่ายแพ้ CBT ช่วยให้คุณ มองความท้าทายเป็นโอกาส แทนที่จะเป็นภัยคุกคาม
วิธีนำไปใช้
แทนที่จะคิดว่า "มันยากเกินไป" ให้ถามว่า "ฉันจะเริ่มศึกษาจากไหนได้บ้าง?"
แทนที่จะคิดว่า "ฉันรับมือกับเรื่องนี้ไม่ได้" ให้เตือนตัวเองว่า "ฉันจะค่อยๆ แก้ไปทีละเปลาะ"
ใช้ การทดลองความคิด: "ถ้าเพื่อนของฉันอยู่ในสถานการณ์เดียวกับฉัน ฉันจะให้คำแนะนำอะไรให้เพื่อนคนนั้น?"
ตัวอย่าง: แอมเผชิญกับอุปสรรคในอาชีพและคิดว่า "ฉันล้มเหลว ฉันไม่มีทางกลับมาสำเร็จได้หรอก"
จากการใช้ CBT เธอปรับมุมมอง
ตรวจสอบความจริง: อุปสรรคเกิดขึ้นกับทุกคน
ความคิดใหม่: "นี่เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้และกลับมาแข็งแกร่งขึ้น"
การลงมือทำ: เธอปรับเปลี่ยนวิธีการ พัฒนาทักษะ และหางานที่ดีกว่าได้
ข้อสรุปคือ Resilience เกี่ยวข้องกับ วิธีที่คุณมองปัญหา ไม่ใช่ตัวปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณ
CBT ในการช่วยพัฒนาคนอื่น
CBT ไม่ได้เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้างาน นักให้คำปรึกษา หรือพี่เลี้ยง คุณสามารถนำหลักการ CBT มาใช้เพื่อช่วยให้ผู้อื่นพัฒนาศักยภาพของพวกเขา อย่างเช่น
1. การช่วยให้ผู้อื่นก้าวข้ามความไม่มั่นใจในตนเอง
คนมักจำกัดตัวเองด้วยการรับรู้เชิงลบเกี่ยวกับตนเอง ในฐานะนักให้คำปรึกษาหรือหัวหน้างาน คุณสามารถช่วยให้พวกเขา ท้าทายและปรับเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ได้
วิธีนำไปใช้
เมื่อใครบางคนพูดว่า "ฉันทำสิ่งนี้ไม่ได้" ให้ถามว่า "อะไรทำให้คุณคิดแบบนั้น?"
ช่วยให้พวกเขาพบ หลักฐานความสำเร็จในอดีต เพื่อสร้างความมั่นใจ
ส่งเสริม ความสำเร็จเล็กๆ (Small Wins) เพื่อเสริมความเชื่อเชิงบวก
ตัวอย่าง: ธนาเป็นผู้จัดการ สังเกตเห็นว่าพนักงานคนหนึ่งของเขา ชื่ออิ๊งค์ ขาดความมั่นใจในการนำเสนอ เธอพูดว่า "หนูไม่เก่งเรื่องการพรีเซนต์งาน"
ธนาใช้เทคนิค CBT ช่วยอิ๊งค์ ดังนี้
ระบุหลักฐาน: "พี่เห็นอิ๊งค์พูดอธิบายความคิดได้ดีในที่ประชุมนะ"
ปรับเปลี่ยนความเชื่อ: "น้องไม่ได้พูดไม่เก่ง แต่แค่อยู่ระหว่างการฝึกฝนตัวเอง"
สนับสนุนการลงมือทำ: เขาให้เธอเริ่มนำเสนอในกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่กดดันก่อน
จากนั้นความมั่นใจของอิ๊งค์ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ และกล้านำเสนองานต่อหน้าคนอื่นมากขึ้น ซึ่งพิสูจน์ว่า ความคิดสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้
2. การช่วยให้คนรอบตัวพัฒนา Resilience
คนที่มีความสุขหรือประสบความสำเร็จ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เคยล้มเหลวหรือผิดพลาด แต่พวกเขาเรียนรู้แล้วทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป นักให้คำปรึกษาหรือผู้นำที่ใช้เทคนิค CBT สามารถช่วยผู้คนรอบตัวให้สามารถปรับเปลี่ยนมุมมองจากอุปสรรคให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้
วิธีนำไปใช้
ทำให้ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ: "คนเราก็ผิดพลาดได้ ครั้งนี้คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?"
ท้าทายความคิดเชิงลบ: "นี่เป็นความล้มเหลวจริงๆ หรือเป็นเพียงอุปสรรคชั่วคราว?"
ส่งเสริมการคิดแบบปรับตัว: "เราจะปรับและพัฒนาเรื่องนี้อย่างไรดี?"
ตัวอย่าง: ทีมในบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งเผชิญกับความล้มเหลวของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่โดนใจตลาด และรู้สึกพ่ายแพ้เพราะทำงานกันมาหนัก แทนที่จะมองว่าเป็นจุดจบ หัวหน้าทีมของพวกเขาได้ปรับเปลี่ยนมุมมอง
มุมมองใหม่: "นี่ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าแบบไหนที่ไม่ตอบโจทย์ตลาด"
มุ่งเน้นที่ทางออก: "ครั้งนี้อะไรใช้ได้ผล? อะไรไม่ได้ผล? ก้าวต่อไปของเราคืออะไร?"
ผลลัพธ์คือทีม ระดมสมองกันคิดใหม่ ปรับปรุง และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น
บทเรียนคือทีมที่มีความยืดหยุ่นไม่ยึดติดกับความล้มเหลว พวกเขาจะปรับตัวและเติบโต
จากที่กล่าวมาในบทความนี้ คุณจะเห็นได้ว่า CBT ไม่ได้มีไว้สำหรับการบำบัดเท่านั้น แต่มันเป็นกรอบความคิดที่เป็นรูปธรรมสำหรับการความสำเร็จ การพัฒนาตนเอง และภาวะผู้นำ ด้วยการประยุกต์ใช้หลักการของ CBT อย่างน้อยคุณสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายพื้นที่ เช่น
✅ ปลดปล่อยตัวเองจากความไม่มั่นใจและความเชื่อที่จำกัดศักยภาพตนเอง
✅ ลงมือทำแทนที่จะผัดวันประกันพรุ่ง
✅ ปรับมุมมองความเครียดและอุปสรรคให้เป็นโอกาส
✅ ให้คำปรึกษาและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นพัฒนาศักยภาพของพวกเขา
ถ้าคุณต้องการเติบโต ประสบความสำเร็จ และช่วยให้ผู้อื่นเติบโตไปด้วย เทคนิค CBT ถือได้ว่าเป็นเทคนิคที่เห็นผลดีเยี่ยมเทคนิคหนึ่ง เพราะ CBT มีงานวิจัยรองรับจำนวนมากเกี่ยวกับประสิทธิผลทั้งในการนำไปบำบัด การปรับความคิด การพัฒนาศักยภาพ และการปรับพฤติกรรมของคน ดังนั้นจึงเป็นแนวคิดที่ยอมรับและใช้กันทั่วโลก
ในหลักสูตรการฝึกอบรมนักให้คำปรึกษา ระดับ Advanced ที่ iSTRONG จึงมีการบรรจุหลักการและแนวคิดของ CBT เพื่อให้นักให้คำปรึกษาสามารถนำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้อื่นได้ และปูทางไปสู่การเป็นผู้ที่ช่วยให้ผู้คนทั่วไปได้เพิ่มศักยภาพมากขึ้น คิดบวกมากขึ้น ปล่อยวางความทุกข์และมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น รวมทั้งปรับนิสัยที่พึงปรารถนาได้ หากคุณมี passion ในการช่วยเหลือผู้อื่นผ่านการให้คำปรึกษา คุณสามารถลงทะเบียนเรียนหลักสูตรดังกล่าวได้เลย
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong