แก่นของการสนทนา
- นิรันดร์ อนุรักษ์พงศธร
- Nov 23, 2017
- 1 min read
แก่น ในความหมายแรกคือเนื้อไม้แข็งและมีสีเข้ม อยู่ถัดกระพี้เข้าไป ในความหมายที่สอง แก่น ยังหมายถึงเนื้อแท้ หลักสําคัญ หากแก่นช่วยให้ไม้ยืนลำต้นแข็งแรง และค้ำชูกิ่งก้านสาขาได้แล้ว แก่นยังช่วยให้การสื่อสารของเราแข็งแรงขึ้นด้วยเช่นกัน
ปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างบุคคล เกิดจากการไม่พูดอย่างตรงไปตรงมา พูดจาวกวน ไม่มีการเชื่อมโยงที่ดี มีการสื่อสารไม่ชัดเจน ทำให้ผู้รับสารตีความผิดพลาด หรือนัยหนึ่งก็คือไม่มีแก่น (สาระสำคัญ) ที่ชัดเจนนั่นเอง
Chris Anderson ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ TED และถ่ายทอดประสบการณ์ไว้ในหนังสือ TED Talks: The Official TED Guide to Public Speaking ได้เปรียบเทียบแก่นของการสนทนา เป็นลำต้นของต้นไม้ และส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น การอธิบายเพิ่มเติม การอุปมาอุปไมย เรื่องเล่า เปรียบเป็นกิ่งก้านสาขาที่แตกย่อยไปจากแก่นอีกที หากไม่มีแก่นลำต้นที่แข็งแรงแล้ว ต้นไม้นั้นก็อยู่ไม่ได้ ต่อให้เบื้องนอกเรามีบุคลิกที่ดี พูดจามีหลักการ แต่หากผู้รับสารไม่เข้าใจแก่นที่เราสื่อออกไปแล้ว บทสนทนาที่ดีก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน
การหาคำตอบว่า เราต้องการสื่อสารอะไรออกไป สื่อสารกับใคร เพื่ออะไรนั้น นับเป็นแก่น และเป็นเรื่องแรกที่ควรวางก่อนรายละเอียดอื่นใดเลยทีเดียว บทสนทนา ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรืองานเขียน การมีแก่นจะทำให้คนรับสารรู้ว่าเราต้องการสื่อสารอะไรออกไป ทำให้ไม่หลงทางขณะสนทนา ทำให้บทสนทนามีพลังในการสื่อสาร
ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เช่น การแต่งตัว ภาษากาย คำอธิบาย คำอุปมาอุปไมย เรื่องเล่า และเทคนิคการสื่อสารต่าง ๆ จะช่วยให้การสื่อสารมีเสน่ห์ขึ้น หรือเปรียบดังกิ่งก้าน ใบ ดอกของต้นไม้นั่นเองครับ
