top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Dead Inside : มีวิธีฟื้นฟูอย่างไรจากภาวะหัวใจไร้ความรู้สึก



Dead Inside หรือ ภาวะหัวใจไร้ความรู้สึก กำลังเป็นคำค้นหาที่อยู่ในลำดับ “ดาวรุ่งพุ่งแรง” ใน Google Trend ซึ่งผู้คนที่ค้นหาเรื่องเกี่ยวกับ Dead Inside โดยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยที่คนหลั่งไหลเข้ามาทำงาน จนเป็นจังหวัดที่มีประชากรแฝงจำนวนมาก


แต่จากข้อมูลการค้นหา Dead Inside หรือ ภาวะหัวใจไร้ความรู้สึก ของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ทำสถิติค้นหาคำดังกล่าวสูงถึง 100 ครั้ง/วัน นั่นกำลังบอกเราว่าปัญหาความอบอุ่นในสังคมไทยแย่แล้วละค่ะ นั่นก็เพราะภาวะหัวใจไร้ความรู้สึก หรือ Dead Inside คือ ความรู้สึกด้านชา ที่ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่มีความหวัง ไม่มีแรงจูงใจ ใช้ชีวิตตามหน้าที่ให้มันหมดไปวันต่อวัน


ซึ่งสภาวะ Dead Inside แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ตรงที่เขายังทำหน้าที่ของตนเองได้ดี ยังมาทำงานตามปกติ ยังเข้าสังคมได้ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ แต่ไม่มีความรู้สึก


หากถามว่าภาวะ Dead Inside อันตรายหรือไม่ ในมุมมองผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาถือว่าอันตรายต่อสุขภาพจิตมากค่ะ เพราะคนที่มีภาวะหัวใจไร้ความรู้สึกมีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตนเองจนถึงแก่ชีวิตได้ เพราะเขาไม่มีที่ยึดเหนี่ยวในชีวิต ไม่มีเป้าหมาย


และที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ เขาไม่มีความหวัง ใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย การเข้าสู่ภาวะ Dead Inside นั้นจะค่อยเป็นค่อยไป จนเราไม่รู้ตัว รู้อีกทีเราก็กลายเป็นคนไม่มีหัวใจไปเสียแล้ว ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้ให้ข้อสังเกตของผู้ที่มีภาวะ Dead Inside ไว้ 5 ข้อ ดังนี้ค่ะ


1. ไม่มีเป้าหมายในชีวิต

ผู้ที่อยู่ในภาวะหัวใจไร้ความรู้สึก มักจะใช้ชีวิตล่องลอย ไม่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต ไม่อยากเติบโตในหน้าที่การงาน ไม่แสวงหาความสุขในชีวิต ใช้ชีวิตตามวัฏจักรเดิม ๆ ตื่น กิน ทำงาน นอน ให้หมดไปวัน ๆ โดยไม่มีการวางแผน


2. เหนื่อยหน่ายกับการใช้ชีวิต

ผู้ที่เกิดภาวะ Dead Inside จะรู้สึกเบื่อมากกับทุกอย่างในชีวิต เบื่อเพื่อนร่วมงาน เบื่อคนในครอบครัว เบื่องาน เบื่อการเดินทาง รวมไปถึงเบื่อที่จะมีชีวิต เพราะรู้สึกเหนื่อยหน่ายใจอย่างมากกับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา และทุกอย่างที่ผ่านออกไป


3. ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับสิ่งใด ๆ ทั้งนั้น

ข้อสังเกตสำคัญที่สุดของผู้ที่มีภาวะ Dead Inside ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาย้ำหนักหนาว่านี้คือข้อสังเกตหลัก ก็คือ การไม่มีความรู้สึกใด ๆ เกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง และบุคคล หรือสิ่งรอบข้าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะแตกต่างจากเดิม น่าตื่นเต้น น่าตกใจ ก็ไม่เกิดความรู้สึกใด ๆ ขึ้นมา


4. เก็บตัว

เมื่อตกอยู่ในภาวะหัวใจไร้ความรู้สึก บุคคลนั้นก็จะไม่ตื่นเต้นกับการพบปะผู้คน แต่กลับเกิดความเบื่อคนรอบข้าง ไม่ต้องการพูดคุยกับใคร ไม่ต้องการพบหน้าใคร แต่ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกโกรธ หรือเกลียด เนื่องจากผู้ที่มีภาวะ Dead Inside ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรกับผู้คนรอบข้าง จึงไม่เห็นประโยชน์ที่จะเข้าสังคม และมักจะอยู่ตัวคนเดียวเสียส่วนใหญ่


5. เกิดความรู้สึกว่าตัวเอง “ว่างเปล่า”

และข้อสังเกตที่อันตรายต่อสุขภาพจิตและความปลอดภัยในชีวิตของผู้มีภาวะ Dead Inside มากที่สุด ก็คือ การเกิดความรู้สึก “ว่างเปล่า” เกิดความ “กลวงโบ๋” ขึ้นมาในจิตใจ ไม่รู้จะอยู่ทำไม ไม่รู้จะอยู่เพื่อใคร และนำไปสู่การทำร้ายตนเองได้ในอนาคต


ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้อธิบายสาเหตุของการเกิดภาวะ Dead Inside ไว้ว่า เป็นผลมาจากความผิดหวังในชีวิตซ้ำ ๆ การที่ต้องต่อสู้ชีวิตกับอุปสรรคที่เข้ามาไม่หยุดหย่อน จนเกิดความรู้สึกปลงตกว่า “สู้ไปก็เท่านั้น” เพราะเขาเกิดความเชื่อขึ้นมาว่า การที่พยายามวิ่งหาจุดหมายในชีวิต ไม่ได้ช่วยให้เขามีความสุข


กลับพบความทุกข์ ความทรมานใจ สู้อยู่ไปวัน ๆ เสียยังดีกว่า และความเชื่อเหล่านี้ก็ได้ส่งผลให้เขาเกิดภาวะหัวใจไร้ความรู้สึก และเกิดพฤติกรรมเบื่อโลก เฉยชาต่อโลก และนำไปสู่โรคทางจิตเวชในที่สุด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้แนะนำวิธีฟื้นฟูจิตใจไว้ ดังนี้ค่ะ


1. ดูแลสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจให้เข้มแข็ง แข็งอยู่เสมอ

การดูแลสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการดูแลตัวเอง เพราะเมื่อร่างกายเราแข็งแรง เราไม่เจ็บป่วย พักผ่อนเต็มที่ จิตใจเราก็สดใส เมื่อจิตใจเราแจ่มใส เราก็มีพลังบวกในการมองโลก


ส่งผลให้จิตใจของเราเข้มแข็ง สามารถมองหาแง่มุมที่ดีงามได้แม้ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ และเมื่อเรามีทัศนคติต่อสิ่งต่าง ๆ ในแง่ดี เราก็มีความเข้มแข็งมากพอที่จะเผชิญอุปสรรค ไปพร้อม ๆ กับการดูแลจิตใจตัวเอง


2. ไปหาความตื่นเต้นให้ชีวิต

หากชีวิตมันน่าเบื่อ แนะนำให้ออกไปหาความตื่นเต้นค่ะ โดยวิธีที่นิยมกันมากและได้ผลดีอย่างแน่นอน ก็คือ การออกไปท่องเที่ยว เพื่อชาร์ตแบตเติมพลังใจ ปลีกตัวห่างออกมาจากสิ่งบั่นทอนจิตใจเพื่อให้สมองและความรู้สึกได้พักผ่อน


นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังทำให้เราได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ได้ฟังเสียงผู้คนที่หลากหลาย และสามารถก่อเกิดเป็นแนวความคิดใหม่ ๆ ที่เราสามารถนำมาสร้างสรรค์ให้ชีวิตมีสีสันและสดใสเพิ่มขึ้นได้


3. หาแรงบันดาลใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น

ถ้าคุณกำลังเป็นเหนื่อยกับงาน เป็นท้อกับการสู้ชีวิต ขอให้ค้นหาแรงบันดาลใจจากบุคคลรอบข้าง หรือหาไอดอลจากกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อให้เขาเหล่านั้นเป็นต้นแบบ (Role Model) ในการใช้ชีวิต หรืออย่างน้อย ๆ การที่เราเป็นด้อม เป็นติ่งใครสักคน


ก็ยังทำให้เรามีเป้าหมายในการติดตามชื่นชมชีวิตเขา มีความตื่นตเนในการได้อยู่ใกล้ชิดเขา และเหนืออื่นใด หากเราได้รับแรงบันดาลใจมากพอ เราจะสามารถสร้างสรรคืสิ่งใหม่ ๆ และใช้ชีวิตให้เป็นแรงบันดาลใจต่อคนอื่น ๆ ได้ต่อไป


4. เมื่อมีความทุกข์ ต้องระบายออกมา

ที่สำคัญที่สุด ที่ดิฉันย้ำในเกือบจะทุกบทความ ก็คือ หากมีความทุกข์ใจเมื่อใดอย่าเก็บไว้คนเดียวค่ะ ระบายมันออกมา หาคนพูดคุย หาคนรับฟัง และพูดความทุกข์ในใจ เชื่อเถอะค่ะว่าถึงแม้คนที่เราคุยด้วยจะไม่ได้ให้คำแนะนำอะไร


เพียงเขารับฟังเรา เราก็มีความสบายใจขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ และเมื่อจิตใจเราปลอดโปร่งขึ้น สมองเราก็จะโล่งพอที่จะคิดหาทางออกให้กับปัญหาได้อย่างมีสติ และเหมาะสม


ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย แต่กลับประหลาดที่บ่อยครั้งเรามักจะเกิดความรู้สึก “ตัวคนเดียว” หากคุณเกิดความรู้สึกไม่มีใครเมื่อไร ขอให้กลับไปหาครอบครัว กลับไปหาคนที่รัก แล้วคุณจะได้รับความอบอุ่นใจ จะได้รับพลังบวกมากมายในการใช้ชีวิตต่อ แต่ถ้าหากว่าไม่รู้จะไปหาใครจริง ๆ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา Istrong ทุกคนยินดีรับฟัง พูดคุย ให้คำปรึกษากับคุณเสมอค่ะ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

1. Verywellmind. (2566, 10 กุมภาพันธ์). “Dead Inside” ภาวะใจพังตายจากข้างใน ปล่อยเรื้อรังอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า. ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.pptvhd36.com/health/how-to/2816

2. ศุภัชญา ชูทอง. (มปป.). Dead Inside รับมืออย่างไรกับ “ภาวะสิ้นยินดี”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.manarom.com/blog/dead_inside.html

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page