top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

พัฒนาทักษะการตัดสินใจ (Decision-making Skill) เพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น


คุณเคยมีห้วงความคิดที่นึกเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไปแล้วบ้างไหมคะ จากนั้นก็จะกลับมาคิดวนอยู่ซ้ำ ๆ แล้วก็พูดกับตัวเองว่า “ไม่น่าเลย” หรือในบางครั้งก็เกิดความรู้สึกสับสนว่าควรจะเอายังไงกับชีวิตดี จะไปทางไหนดี ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดทักษะการตัดสินใจ (Decision-making Skill) ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดซึ่งบางครั้งก็เป็นความเป็นพลาดเล็ก ๆ แต่ในบางครั้งก็เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ และกลายเป็นประสบการณ์เรียนรู้ความผิดพลาดที่อาจจะฝังใจจนกระทบต่อการตัดสินใจครั้งต่อไป ไม่กล้าตัดสินใจ หรืออาจจะกลัวการตัดสินใจไปเลย ซึ่งสามารถส่งผลกระทบทางอ้อมมาถึงสุขภาพจิตได้ เช่น เกิดอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ รู้สึกซึมเศร้าหดหู่

ทักษะการตัดสินใจ (Decision-making Skill) เป็นทักษะที่คนเรามีไว้เพื่อใช้ในการตัดสินใจเมื่อมีอะไรเช้ามาในชีวิตมากกว่าสองอย่างแต่เราจำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยมากเรามีทักษะการตัดสินใจกันทุกคนโดยเฉพาะการตัดสินใจในเรื่องทั่วไป เช่น เที่ยงนี้จะกินอะไรดี? วันหยุดนี้จะไปเที่ยวที่ไหนดี? วันนี้จะใส่ชุดอะไรไปทำงานดี? บางครั้งก็เป็นการตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ บางครั้งก็ตัดสินใจผ่านการใช้เหตุผล และบางครั้งก็ใช้ทั้งสองอย่างผสมผสานกันไป

วิธีเพิ่มทักษะการตัดสินใจให้กับตัวเองทำได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น

1. บอกตัวเองให้ได้ว่าทำไมคุณถึงต้องตัดสินใจ

ในการตัดสินใจครั้งหนึ่งคุณจำเป็นต้องใช้เวลาไปกันมันอาจจะหลายนาที หลายชั่วโมง หลายวัน หรือเป็นอาทิตย์ ซึ่งคุณอาจจะเสียเวลาไปเปล่าหากคุณไม่รู้ว่าทำไมคุณถึงต้องตัดสินใจ มันสำคัญยังไงกับชีวิตคุณ เพราะในบางครั้งคนเราก็ทุ่มเทพลังงานและเวลาของตัวเองไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจก็ได้ เช่น จะตัดสินใจเชื่อว่าดาราที่ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของดาราคนนั้นดีหรือไม่? หรือ จะเลือกฟังใครดีระหว่างบุคคลในข่าวคนนี้กับอีกคนหนึ่ง? ดังนั้น หากการตัดสินใจหนึ่งครั้งจำเป็นต้องใช้พลังงานสมองและเวลาในชีวิต คุณควรจะตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าคุณจำเป็นต้องตัดสินใจในเรื่องนั้น ๆ จริง ๆ หรือเปล่า จะได้คุ้มค่ากับพลังสมองและเวลาในชีวิตที่เสียไป

2. ตรวจสอบอคติทางความคิด (Cognitive Bias) ก่อนตัดสินใจ

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นถูกออกแบบมาให้ด่วนตัดสินใจเพื่อจะได้หลบหนีภัยอันตรายได้ทันเวลา ซึ่งมนุษย์มีลักษณะแบบนี้มาแต่โบราณ เช่น เมื่อเจอกับสิงโตก็จะต้องรีบตัดสินใจว่าจะหนีหรือสู้กับสิงโต แต่ในการที่จะเลือกตัดสินใจเกี่ยวกับบางอย่างเราไม่สามารถด่วนตัดสินใจเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม เวลาที่มนุษย์คิดช้าลงก็มักจะพบว่าการคิดนั้นมักมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อส่วนตัว ซึ่งความเชื่อส่วนตัวบางครั้งก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หากไม่ตรวจสอบอคติหรือทบทวนความคิดความเชื่อของตัวเองให้ดีเสียก่อน ก็อาจจะนำมาซึ่งความผิดพลาดในการตัดสินใจได้ ดังนั้น คุณควรจะตรวจสอบอคติทางความคิดของตัวเองให้ดี หาข้อมูลและข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจให้มาก รวมถึงฝึกใช้เหตุผลในการตัดสินใจและพยายามลดการใช้อารมณ์นำทางเวลาที่ต้องตัดสินใจอะไรโดยเฉพาะในเรื่องใหญ่ ๆ

3. หาข้อมูลที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการตัดสินใจ

การตัดสินใจโดยที่ไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลน้อยเกินไปก็อาจจะทำให้คุณตัดสินใจพลาดได้ เพราะคุณยังไม่ทันจะทราบว่ามันมีทางเลือกอื่น ๆ อยู่บนโลกนี้เพียงแต่คุณยังไม่ทันได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับมันมาก่อนเลย ดังนั้น ก่อนที่จะทำการตัดสินใจ คุณควรให้เวลาตัวเองได้มีโอกาสค้นคว้าข้อมูลให้รอบด้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้และอยู่ภายในเวลาที่ตัวเองมี โดยเฉพาะในกรณีที่คุณยังพอมีเวลาในการตัดสินใจเหลืออยู่ คุณยิ่งไม่ควรรีบตัดสินใจลงไป แต่ควรจะใช้เวลาไปกับการค้นคว้าข้อมูลก่อน

4. พิจารณาผลกระทบจากการตัดสินใจและการไม่ตัดสินใจ

ทุกการตัดสินใจและการปล่อยผ่านไปโดยไม่เลือกตัดสินใจ ล้วนมีผลกระทบที่ตามมา ดังนั้น คุณควรจะพิจารณาด้วยว่าหากคุณตัดสินใจลงไป มันจะเกิดอะไรขึ้นตามมา และหากคุณไม่ตัดสินใจแต่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรมมันจะทำให้คุณเป็นยังไงในอนาคต ซึ่งการพิจารณาถึงผลกระทบดังกล่าวจะช่วยให้คุณตอบตัวเองได้ว่าคุณควรจะต้องตัดสินใจในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ เพื่อลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งมันอาจจะกลายเป็นเรื่องฝังใจของคุณไปเลยก็ได้ เช่น คุณอาจจะนึกย้อนกลับไปแล้วโกรธหรือโทษตัวเองว่าทำไมถึงตัดสินใจทำแบบนั้น หรืออาจจะตำหนิตัวเองว่าทำไมวันนั้นคุณถึงไม่ยอมทำอะไรสักอย่างจนทำให้ชีวิตของคุณกลายมาเป็นแบบนี้ อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนที่เคยผิดพลาดเพราะการตัดสินใจหรือไม่ยอมตัดสินใจ อยากชวนให้คุณก้าวข้ามความรู้สึกเสียใจของตัวเองไปให้ได้ เพราะมันมีแต่จะบั่นทอนสภาพจิตใจของตัวเองเปล่า ๆ หากคุณเอาแต่จมอยู่กับความผิดพลาดในอดีตของตัวเอง ทั้งนี้ การตัดสินใจที่จะก้าวข้ามอดีตก็เป็นการตัดสินใจอย่างหนึ่งที่คุณควรฝึกเอาไว้ด้วยเช่นกัน

5. พยายามอย่าตัดสินใจเลือกเพียงเพราะใจสั่งมา

เราทุกคนล้วนมีสิ่งที่อยากจะเลือกเอาไว้อยู่แล้วในใจโดยคิดว่าถึงยังไงก็จะตัดสินใจแบบนี้ โดยไม่หาข้อมูลหรือคิดทบทวนให้ดีเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น คุณเจอคน ๆ หนึ่งที่คุณคิดว่าเขาคือคนที่ใช่ และใจก็สั่งคุณไปให้เลือกเขาเข้ามาในชีวิต โดยที่คุณไม่เคยศึกษาดูใจหรือได้มีโอกาสเห็นเขาในหลาย ๆ มุมเลย หากโชคเข้าข้างคุณก็อาจจะไม่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริงมักพบว่าการเลือกตัดสินใจเพียงเพราะใจสั่งมาส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากกว่า

6. หาข้อมูลที่ทัดทานการตัดสินใจเลือกของตัวเอง

ทุกทางเลือกในการตัดสินใจล้วนมีข้อมูลที่สนับสนุนให้เลือกและข้อมูลที่มาทัดทานว่าไม่ควรเลือกทางนั้น ดังนั้น คุณควรเปรียบเทียบแต่ละทางเลือกให้ดีว่าทางไหนที่มีข้อมูลสนับสนุนมากกว่ากัน หากทางเลือกไหนมีข้อมูลทัดทานมากกว่าคุณก็ไม่ควรที่จะเลือกทางนั้น เว้นแต่ว่าคุณเป็นคนที่รักความท้าทายและพร้อมรับราคาที่ต้องจ่ายหากมันเป็นทางเลือกที่ผิดพลาด

7. ปรึกษาคนอื่นก่อนตัดสินใจ

อีกตัวช่วยที่ดีในการตัดสินใจก็คือ ‘ความคิดเห็นของคนอื่น ๆ’ ลองปรึกษาหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคนที่มีทักษะในการตัดสินใจอยู่ในระดับดี เป็นคนที่คิดเป็นระบบมีเหตุมีผล ความคิดเห็นของพวกเขาจะช่วยคุณได้มาก อย่างน้อยก็ดีกว่ามีแค่ความคิดเห็นของคุณเพียงอย่างเดียว และยิ่งหากคุณเป็นคนที่มีปัญหาในการตัดสินใจแล้วด้วย คุณยิ่งต้องควรปรึกษาคนอื่นก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องใหญ่ ๆ ในชีวิต

เมื่อคุณมีทักษะการตัดสินใจดีขึ้น คุณก็จะมีปัญหาที่ติดตามมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดน้อยลง รวมไปถึงคุณจะเกิดทักษะในการตัดสินใจเลือกสิ่งดี ๆ ให้กับชีวิต เช่น ตัดสินใจให้อภัยคนที่เคยทำร้ายจิตใจคุณ ตัดสินใจมูฟออนจากความรู้สึกแย่ ๆ ของตัวเอง ซึ่งการตัดสินใจเหล่านี้จะช่วยให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] Decision-Making and Problem-Solving. Retrieved from. https://www.skillsyouneed.com/ips/decision-making-problem-solving.html


[2] How to Improve Decision Making Skills – 7 Fearless Steps. Retrieved from. https://productiveclub.com/improve-decision-making-skills/

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

และเป็นนักเขียนของ istrong


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page