top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

มองมุมจิตวิทยา เพราะเหตุใดหลายเพจดังจึงให้กำลังใจ "คนธรรมดา"



เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา คงได้เห็นว่าหลาย ๆ เพจ ใน Facebook ออกมาโพสต์ในรูปแบบการเขียนจดหมายส่งต่อกัน โดยมีใจความหลักว่า เป็นการ "ให้กำลังใจคนธรรมดา" และโพสต์เหล่านั้นมีคนถูกใจ กดหัวใจ และแชร์ต่อกันจนเป็นไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์ ซึ่งดิฉันเองก็เป็นอีกหนึ่งคนธรรมดาที่รู้สึกดีกับการอ่านโพสต์เหล่านั้น และรู้สึกได้กำลังใจจริง ๆ แม้จะรู้ว่านั่นคือการตลาดก็เถอะค่ะ แต่เป็นการตลาดที่แสดงถึงความใส่ใจกลุ่มลูกค้าใหญ่อย่าง "คนธรรมดา" นั่นเอง

แล้วเพราะอะไร "คนธรรมดา" ถึงต้องการกำลังใจละ จิตวิทยามีคำตอบค่ะ


เพราะคนเราต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคม ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เราใช้ชีวิตอยู่ ต้องการได้รับความรัก ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนตามขั้นพัฒนาการทางสังคมและจิตใจของทฤษฎีมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ขั้นความต้องการความรักและสังคม (Belonging and Love Needs) ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นความต้องการการได้รับการยกย่องนับถือในตนเอง (Esteem Needs) ที่เมื่อเราได้รับการยอมรับจากสังคมแล้ว เราจะยอมรับตนเอง ชื่นชมตนเอง เคารพตนเอง มีความภาคภูมิใจในตนเอง และนำไปสู่ขั้นสูงสุด ก็คือ ความต้องการพัฒนาศักยภาพของตน (Self-actualization) หรือการทำตนให้เป็นคนที่ดีกว่าไปอีกนั่นเองค่ะ


เมื่อพิจารณาตามทฤษฎีของมาสโลว์จะเห็นเลยค่ะว่า "คนธรรมดา" ต้องสู้ชีวิตมากเพื่อให้บรรลุความต้องการทางสังคมและจิตใจในขั้นความต้องการความรักและสังคม (Belonging and Love Needs) เพราะชีวิตสู้กลับแรงมากด้วยอิทธิพลของ pretty privilege ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมดันไปให้ความสำคัญกับคนหน้าตาดี นี่ยังไม่นับคนที่มีต้นทุนทางการเงินดี หรือคนที่ครอบครัวมีอิทธิพลอีกนะคะ ทำให้คนธรรมดาที่แม้ว่าจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ก็ตกไปอยู่เป็นประชากรชั้นสอง ชั้นสามในสังคม ดังนั้นการที่เพจต่าง ๆ ออกมาให้กำลังใจคนธรรมดาจนเป็นไวรัล ทำให้คนธรรมดารู้สึกว่า "เรามีตัวตน" มีคนมองเห็นและให้ความสำคัญกับเรา นั่นก็ทำให้คนธรรมดามีความสุขใจเพิ่มขึ้นมาค่ะ


และเพื่อเป็นกำลังใจให้คนธรรมดา เราจึงขอแนะนำเทคนิคทางจิตวิทยาในการเสริมกำลังใจให้ตัวเอง และคนรอบข้างมาฝากกัน 5 วิธี ดังนี้ค่ะ


1. อยู่ในที่ที่เป็นของเรา


สมมุติว่าคุณเลี้ยงแมงมุม แล้วคนรอบข้างของคุณก็เลี้ยงแมงมุม คุณก็จะสบายใจที่ได้เลี้ยงแมงมุม แต่ถ้าเกิดเราดันไปเลี้ยงแมงมุมในกลุ่มคนที่เขาเลี้ยงแมว เราก็จะรู้สึกอึดอัด และกังวลว่าเราแปลก แตกต่างจากเขา ก็เหมือนกับการใช้ชีวิตเลยค่ะคุณผู้อ่าน หากเราไปอยู่ในสังคมที่ไม่ถูกกับจริตเรา ไม่เห็นถึงคุณค่าในความสามารถเรา เราก็อยู่ยาก ดังนั้นขอให้พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เป็นของเรานะคะ แล้วเราจะมีความสุขในการใช้ชีวิตค่ะ


2. หากเหนื่อยล้า หมดกำลังใจ ขอให้กลับไปหา Safe zone


Safe Zone ในที่นี้ หมายความถึงสถานที่ที่เราอยู่แล้วปลอดภัย สบายใจ และหมายความรวมไปถึงบุคคลที่เราพูดคุยด้วยแล้วสบายใจ คลายความทุกข์ ซึ่งทั้งสถานที่และบุคคลที่เป็น Safe zone ของเราจะช่วยเติมกำลังใจ เติมพลังใจ และลดความทุกข์ในใจของเราลงได้อย่างมากเลยค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วในวันที่เหนื่อยล้า ท้อแท้ หรือถูกทำร้ายมา ขอให้กลับไปหา Safe zone ของเราเพื่อพักร่างกายและจิตใจให้กลับมามีแรงสู้ต่อนะคะ


3. ชื่นชมข้อดีของตนเอง


เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งค่ะว่า คนเราทุกคนมีของดีอยู่ในตัว ถึงเราจะเป็นคนธรรมดาที่หน้าตาไม่โดดเด่น ฐานะพออยู่รอด หน้าที่การงานแสนจะหาได้ทั่วไป แต่เราก็มีดีของเราค่ะ เช่น เราใจดี เรามีน้ำใจ เราเก่งด้านการคำนวณ เราเก่งภาษา เรามีความรู้ในเรื่องที่เราสนใจ แบบนี้เป็นต้น เมื่อเรามองเห็นข้อดีของเรา เราจะมีความภาคภูมิใจในตนเองมากยิ่งขึ้นค่ะ แล้วยิ่งถ้าเราแสดงข้อดีให้คนอื่นได้เห็นด้วย เราจะยิ่งรักตัวเองมากยิ่งขึ้นเลยละค่ะ


4. พัฒนาข้อเสีย


เมื่อเราได้มองเห็นข้อดี และกล้าที่จะแสดงข้อดีของเราแล้ว เราก็ต้องกล้าที่จะยอมรับข้อเสียของเรา เพื่อไปพัฒนาตัวเราเองต่อไปด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากเรารู้ตัวว่าเราขี้หงุดหงิด ขี้โมโห หัวร้อนง่าย จุดเดือดต่ำ ก็ลองไปฝึกควบคุมอารมณ์ เพื่อให้ใจเย็นลง ควบคุมอารมณ์ได้มากขึ้น หรือถ้าหากเราไม่เก่งภาษาต่างประเทศ แล้วเราไปเรียนเพิ่มเติม เราก็สามารถพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศของเรา และใช้ประโยชน์ในการทำงาน การดูภาพยนตร์ การดูซีรี่ย์ การไปเที่ยวต่างประเทศ ทำให้เรามีความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้นไปด้วย เป็นต้นค่ะ


5. อย่าพยายามเปรียบเทียบเรากับคนที่เหนือกว่า


และมาถึงเทคนิคจิตวิทยาข้อสุดท้ายที่มาแนะนำกันในความนี้ ก็คือ การไม่นำตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นคนที่หน้าตาดีกว่า รูปร่างดีกว่า หรือรวยกว่าเรา เพราะเราไม่มีทางสู้เขาได้อยู่แล้ว และยิ่งจะทำให้เราเป็นเหนื่อย เป็นเศร้า เป็นท้อในการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นเรามาใช้ชีวิตให้เต็มที่ในแบบของเรา ไปให้สุดในทางของเรา เราน่าจะมีความสุขในการใช้ชีวิตในแบบของเราที่สุดแล้วค่ะ


การเป็นคนธรรมดาไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องน่าเหนื่อยที่ต้องสู้กับหลายอย่างในชีวิต ขอฝากเทคนิคจิตวิทยาข้างต้นเพื่อเป็นกำลังใจให้กับการใช้ชีวิตธรรมดาของทุกคนที่มีความธรรมดาที่ไม่ธรรมดานะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 4 เทคนิคจากนักจิตวิทยาในการคลายเครียดในสถานการณ์วิกฤต COVID-19 (https://www.istrong.co/single-post/4-coping-skills-during-covid-19)


อ้างอิง :

[1] Matichon Online. ( 8 พฤษภาคม 2565). เปิดที่มาไวรัล ‘คุณคนธรรมดา’ ที่ฮอตจนหลายเพจ – แบรนด์ผุดทำตาม. .[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2565 จาก https://liff.line.me/1454988218-NjbXbq18/v2/article/Vxo7O1y?utm_source=lineshare

[2.] he Wisdom Academy . (มปป.) . ทฤษฎีมาสโลว์ ลำดับขั้นความต้องการ Maslow’s hierarchy of needs ลูกค้าต้องการอะไร.[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2565 จาก https://thewisdom.co/content/maslows-hierarchy-of-needs/

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 7 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page