คุณกำลัง Gaslighting คนอื่นอยู่หรือไม่? และต้องทำอย่างไรให้พ้นจากการถูก Gaslighting
- Chanthama Changsalak
- Jan 21, 2024
- 2 min read
Updated: 5 days ago

กระแสสังคมไทยในช่วงนี้ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการ Gaslighting เนื่องมาจากพฤติกรรมคุกคาม กลั่นแกล้งผู้อื่น ที่ถูกแฉขึ้นมาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายของผู้มีชื่อเสียงจาก 3 วงการ ทั้ง วงการเพลง วงการวิทยาศาสตร์ และวงการการ์ตูน ซึ่งทั้ง 3 คน ได้แสดงความสำนึกผิดต่อสาธารณชนแล้ว และกล่าวคล้ายกัน ว่า “ไม่คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำในตอนนั้น จะทำให้ผู้อื่นรู้สึกแย่ขนาดนี้”
โดย Gaslighting มีที่มาจากภาพยนตร์อังกฤษ แนวจิตวิทยาเขย่าขวัญ ในปี ค.ศ. 1944 เรื่อง Gaslight ซึ่งเป็นเรื่องของสามี ที่ต้องการสมบัติของภรรยา จนกดดันเธอ คุกคามเธอด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เธอคิดว่าตัวเองวิกลจริต โดยวิธีหนึ่งที่สามีใช้ ก็คือ การหรี่แสงตะเกียงแก๊สให้มืดลง โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ภรรยาอยู่คนเดียว เมื่อภรรยาถามเรื่องตะเกียงแก๊ส สามีก็จะโน้มน้าวว่าเธอคิดไปเอง ทุกอย่างปกติดี สามีทำเช่นนี้กับภรรยาติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนเธอหลงเชื่อว่าตนเองวิกลจริตจริง
ด้วยเหตุนี้จึงมีสำนวนอังกฤษเกิดขึ้นมาจากภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นก็คือ “Gaslighting” ซึ่งมีความหมายว่า การปั่นหัวให้สับ ในทางจิตวิทยา “Gaslighting” หมายถึง การควบคุมจิตใจผู้อื่นรูปแบบหนึ่ง โดยการโน้มน้าวใจให้เชื่อในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ถ้าผู้ถูกกระทำเริ่มรู้ตัว และเริ่มตีตัวออกห่าง ก็อาจได้พบกับรูปแบบ Gaslighting อื่น ๆ ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนี้
ถูกทำให้รู้สึกว่า “ไม่สำคัญ” (Trivializing)
หากมีใครสักคนจะแฉพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของผู้ Gaslighting คนเหล่านี้ก็จะมีวิธีเอาตัวรอดโดยการกล่าวว่า สิ่งที่เหยื่อ หรือผู้ถูกกระทำพูดนั้น “ไม่ใช่เรื่องสำคัญ” เช่น หากมีรุ่นน้องผู้หญิงพยายามบอกกับผู้จัดการว่า ถูกหัวหน้าแผนกลวนลาม หัวหน้าแผนกก็จะตอบกลับสั้น ๆ ว่า “แค่หยอกเล่น” หรือการที่วัยรุ่น LGBTQ+ คนหนึ่งถูกเพื่อนนักเรียนด้วยกันล้อเลียน แต่เมื่อครูสอบถาม ผู้กระทำกลับตอบว่า “ล้อกันเล่นเฉย ๆ” ซึ่งคำตอบที่ไม่ใส่ใจ ไม่รู้สึกผิดของผู้กระทำเช่นนี้ ยิ่งตีตราว่าผู้ถูกกระทำไม่มีค่าใด ๆ ในสายตาของคนเหล่านี้เลย
ถูกทำให้เป็นคนผิด (Blame-shifting)
การ Gaslighting ในลักษณะนี้ มักพบได้มากในกรณีของคู่รัก ที่ถูกอีกฝ่ายทำร้าย หรือคุกคาม แต่เมื่อฝ่ายที่ถูกกระทำขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ฝ่ายผู้กระทำก็จะโยนบาปให้อีกฝ่ายว่า ที่เขาทำร้ายอีกฝ่าย เพราะอีกฝ่ายไม่ดี อีกฝ่ายเอาเปรียบ อีกฝ่ายนอกใจ และมักจะเล่นใหญ่เกินเบอร์ สร้างหลักฐานเท็จบ้าง หาพยานปลอมมายืนยันคำพูดตัวเองบ้าง ทำให้ผู้ถูกกระทำที่เจ็บช้ำอยู่แล้ว เจ็บหนักและอับอายมากขึ้นไปอีก
ปฏิเสธความจริง (Denying)
ผู้ที่ Gaslighting คนอื่นโดยส่วนใหญ่ มักจะกลัวความจริง เพราะในใจลึก ๆ เขาอยู่รู้แล้วว่าสิ่งที่เขาทำ มันเป็นเรื่อง “ผิด” คนพวกนี้จึงรับความจริงได้ยาก ปฏิเสธความจริงอยู่เสมอ มักพูดกลับไปกลับมา โกหกเก่ง โกหกไฟลุก และถ้าหากถูกแฉความจริงก็จะเสียงดัง โมโห โวยวายกลบเกลื่อน หรือไม่ก็ตีหน้าเศร้าเรียกคะแนนสงสาร และเบี่ยงเบนประเด็นให้คนไปสนใจเรื่องอื่นเสีย
แปรเปลี่ยนความจริง (Twisting)
นอกจากผู้ที่ Gaslighting จะปฏิเสธความจริงเก่งแล้ว ยังเปลี่ยนความจริงเก่งอีกด้วย หากมีคนแฉเขา หรือนำหลักฐานของการ Gaslighting ของเขาออกมาแฉ สิ่งที่คนเหล่านี้จะทำ ก็คือ เล่าความจริง แต่เล่าไม่หมด และแต่งเติมเรื่องให้เข้าข้างตนเอง เช่น เมื่อชายคนหนึ่งถูกแฉว่าคุกคามทางเพศผู้หญิงในที่ทำงาน เขาก็จะเล่าว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการดูแลเพื่อนร่วมงาน เช่น การขับรถไปดักรอหน้าคอนโด หรือบังคับให้ขึ้นรถกลับพร้อมเขา นั่นคือการขับไปรับ – ไปส่ง เพื่อที่เพื่อนร่วมงานจะได้ไม่ลำบาก เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่ถูก Gaslighting มักได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนี้
รู้สึกผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ผู้ที่ถูกกระทำโดยส่วนใหญ่มักจะรู้สึกผิดต่อผู้กระทำ ทั้ง ๆ ที่ตนเองถูกทำร้ายจิตใจ หรือบางคนถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เพราะถูกปั่นหัว ถูกพูดให้รู้สึกผิด ผู้ถูกกระทำจึงเกิดความรู้สึกว่าเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นก็เพราะตน จึงไม่กล้าขอความช่วยเหลือ ไม่กล้าแฉ เพราะคิดว่าเป็นความผิดของตนเอง
คิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า
ผู้ถูกกระทำมักจะถูกคุกคามจากหลากหลายรูแบบ เช่น บั่นทอนจิตใจ ด่าทอ ดูถูก ด้อยค่า จนผู้ถูกกระทำเชื่อจริง ๆ ว่า ตนเองไม่มีคุณค่า และสมควรแล้วที่จะถูกทำร้ายเช่นนี้
เครียด และวิตกกังวล จนถึงขั้นหวาดระแวง
การอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เช่นการถูก Gaslighting ย่อมทำให้ถูกกระทำมีความเครียดสูง เพราะทำอะไรก็ผิด ทำอะไรก็ถูกด่า ถูกลงโทษ ถูกคุกคามจนหวาดระแวง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวจะถูกทำร้าย
ไม่มั่นใจในตนเอง
ผู้ถูก Gaslighting มักจะขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะถูกทำให้เชื่อว่าตนเองไม่มีความสามารถ ต้องพึ่งพาผู้ Gaslighting อยู่เรื่อย ๆ กลายเป็นว่าผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำอย่างอยากที่จะหลุดพ้น
สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง
จุดประสงค์ของการปั่นหัว หรือการ Gaslighting โดยส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมผู้ถูกกระทำ ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกกระทำจึงถูกทำให้เสียความเป็นตัวของตัวเอง ถูกทำให้รู้สึกว่าไร้ที่พึ่ง ไร้ที่พึ่งพา ไร้ทางหนี ไม่มีทางออก
หากคุณกำลังถูก Gaslighting อยู่ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้ให้ข้อแนะนำในการพาตัวเองออกจากการถูกทำร้าย ดังนี้ค่ะ
เว้นระยะห่างในความสัมพันธ์ ในกรณีที่คุณและผู้กระทำไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากความสัมพันธ์ได้ค่ะ โดยการเว้นระยะในความสัมพันธ์ เช่น ย้ายบ้านหนี เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ เปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง หากเป็นคนในที่ทำงาน ขอให้ลองย้ายกลุ่มงาน ย้ายแผนก ย้ายที่ทำงาน ถึงแม้จะยุ่งยากแต่สามารถรักษาจิตใจเราได้ในระยะยาวค่ะ
เก็บหลักฐานให้แน่นหนา หากคุณคิดว่าไม่มีใครสามารถช่วยเราให้ออกจากวังวนการถูก Gaslighting ได้ ลองพึ่งพากระบวนการยุติธรรมดูนะคะ เพราะกระบวนการทางศาลจะมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาคอยดูแลเรา มีระบบคุ้มครองผู้ถูกกระทำ และเยียวยาจิตใจ หากเรามีหลักฐานการถูกทำร้าย หรือคุกคามที่แน่นหนา เราสามารถใช้หลักฐานนั้นผลักไสให้คน ๆ นั้นออกจากชีวิตของเราได้ในระยะยาวเลยละค่ะ
หาบุคคลเป็น Buffer หากคุณไม่โอเคกับความสัมพันธ์ อย่าพยายามเผชิญหน้ากับคนที่ทำร้ายเราตามลำพังค่ะ เพราะมีแนวโน้มว่าเขาจะปั่นหัวเรา ทำร้ายเราหนักกว่าเดิม ดังนั้นควรหาใครสักคนมาเป็นกันชน หรือ Buffer เพื่อลดแรงกระแทก และป้องกันความรุนแรงที่คนนั้นอาจทำต่อเราได้ค่ะ
ขอความช่วยเหลือ เมื่อคุณถูกทำร้าย อย่าคิดว่าคุณสมควรที่จะถูกกระทำเช่นนั้น หรือเป็นความผิดของคุณ คุณมีสิทธิที่จะขอความช่วยเหลือ และปกป้องตนเอง โดยการบอกเล่าเรื่องจริง และใช้สิทธิในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของคุณให้คุ้มค่า ทั้งป้องกันตนด้วยกฎหมาย และการขอความคุ้มของทางหน่วยงานรัฐ
เชื่อว่าคนทุกคนมีคุณค่า ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิที่จะใช้ชีวิตภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่สมควรที่จะมีใครถูกทำร้ายเพียงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของใครอีกคน ดิฉันหวังอย่างยิ่งค่ะว่าบทความนี้จะมีส่วนช่วยในการลดการทำร้ายกันของคนในสังคมลง และเพิ่มความอบอุ่นในสังคมให้มากขึ้นค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
Tanyaporn Thasak. (2565, 2 กุมภาพันธ์).
4 รูปแบบของ Gaslighting ที่ต้องระวังในความสัมพันธ์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566 จาก https://missiontothemoon.co/psychology-gaslighting-2/
THE STANDARD. (2566, 5 ธันวาคม). KEY MESSAGES:
Gaslighting ปั่นหัวด้อยค่าเพื่อบงการ ไทยยังไม่มีกฎหมายเอาผิด. [ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566 จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=687290933530253&set=a.586524703606877
บุณยาพร อนะมาน. (2565, 23 มีนาคม).
Gaslighting…ผิดจริงหรือแค่ทริคทางจิตใจ?. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566 จาก https://www.psy.chula.ac.th/en/feature-articles/gaslighting
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้