top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ชอบเก็บของจนรกบ้าน อาจเข้าข่ายเป็นโรคสะสมของ (Hoarding Disorder)



หากใครได้ติดตามข่าวก็คงจะเห็นข่าวหนึ่งที่รายงานว่ามีหญิงสาวหน้าตาดีไปเช่าคอนโดแห่งหนึ่ง เมื่อเธอย้ายออกไปเจ้าของคอนโดถึงกับตะลึงเพราะว่าเธอได้ทิ้งขยะเอาไว้มากมายจนแทบนึกไม่ออกว่าเธอนอนตรงไหนของห้อง แถมห้องยังดูสกปรกจนเหมือนเธอไม่เคยทำความสะอาดห้องเลย

นอกจากข่าวนี้ อาจจะมีผู้อ่านบางท่านที่เคยเห็นข่าวลักษณะคล้ายกันนี้ แต่ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ หรือหลายคนก็อาจจะมีประสบการณ์ตรงกับผู้ใหญ่ในบ้านที่สะสมของเอาไว้มากมายทั้งที่มันดูไม่น่าสะสมเลย เช่น ขวดน้ำ ลังกระดาษ แก้วพลาสติก


ซึ่งคนที่สะสมของเหล่านี้มักจะให้เหตุผลว่า “บางทีมันอาจจะมีประโยชน์ในวันข้างหน้า” จึงรู้สึกเสียดายไม่อยากทิ้ง จนกระทั่งวันหนึ่งของที่สะสมเอาไว้ก็ล้นบ้าน บางคนสะสมของไว้มากจนกลายเป็นแหล่งเชื้อโรคหรือมีสัตว์ร้ายมาอยู่อาศัย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกันและเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก


พฤติกรรมเหล่านี้มีความเข้าข่ายการเป็น “โรคสะสมของ (Hoarding Disorder)” ซึ่งโรคนี้เป็นอาการทางจิตเวชจริง ๆ และมันปรากฏอยู่ในตำราจิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4 ซึ่งได้นำเอา DSM-5 มาเรียบเรียงไว้ในตำรา โดยอาการของโรคสะสมของนั้น มีรายละเอียด ดังนี้


ผู้ป่วยที่เป็นโรคสะสมของ (Hoarding Disorder) จะมีความยากลำบากในการทิ้งสิ่งของเนื่องจากคำนึงถึงประโยชน์ของมัน รวมถึงคุณค่าทางจิตใจที่อยู่ในสิ่งของนั้น ทำให้สะสมของเอาไว้จนรกรุงรังเต็มพื้นที่อยู่อาศัย รบกวนการใช้ชีวิตและเกิดความทุกข์ ซึ่งเพียงแค่สะสมของนั้นไม่สามารถตัดสินได้ว่าผู้ใดป่วยเป็นโรคสะสมของ แต่จะต้องมีอาการที่เข้าเกณฑ์ดังต่อไปนี้ครบทุกข้อ

  1. ยากลำบากในการทิ้งหรือแยกสิ่งของ โดยไม่ขึ้นอยู่กับมูลค่าตามจริงของสิ่งนั้น

  2. ต้องการเก็บสิ่งของ และรู้สึกเป็นทุกข์หากต้องทิ้งสิ่งของไป

  3. มีการสะสมของจนที่พักอาศัยแน่น รกรุงรัง ใช้พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เต็มที่

  4. การสะสมของทำให้เกิดความทุกข์ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

โรคสะสมสมของเป็นอาการที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) โดยพบได้ประมาณ 1.5 – 6% ของประชากร โดยพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงพอ ๆ กัน ในบางกรณีพบว่าอาการได้เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 11 – 15 ปี และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตในช่วงอายุ 30 ปี นั่นหมายถึงว่า โรคสะสมของนั้นถ้าไม่รักษาก็จะเป็นอาการที่เรื้อรัง


หลายครั้งเรามักจะพบว่าผู้สูงอายุหลายท่านมีอาการของโรคสะสมของ ทำให้อาจจะคิดไปว่าเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะมีอาการนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ววัยรุ่นก็มีอาการของโรคนี้ได้เช่นกัน เหตุผลที่เราไม่ค่อยเห็นว่าวัยรุ่นมีอาการของโรคสะสมของก็อาจเป็นเพราะว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่จะอยู่อาศัยกับคุณพ่อคุณแม่


ทำให้เมื่อไหร่ก็ตามที่ห้องหรือบ้านดูสกปรกรกรุงรัง เช่น วัยรุ่นมีการเอาอาหารขึ้นไปรับประทานในห้องนอนแล้วสะสมชามที่ไม่ได้ล้างเอาไว้จนส่งกลิ่นเหม็นเน่า เมื่อผู้ปกครองมาเห็นและได้บอกกล่าวให้ทำความสะอาดแล้ว แต่ไม่เป็นผล ผู้ปกครองที่สิ้นหวังก็มักจะลงมือทำความสะอาดเก็บกวาดให้เอง


และอาจเป็นเพราะโรคสะสมของยังไม่ใช่โรคที่ถูกกล่าวถึงมากเท่าโรคซึมเศร้า หลายคนที่ไม่ทราบว่าโรคสะสมของเป็นอาการป่วยทางจิตเวชจึงมักจะปล่อยผ่านไป โดยอาจจะคิดว่า “เขาคงจะขี้เกียจล่ะมั้ง” และคิดว่าเมื่อทำความสะอาดให้แล้วมันก็สะอาดเหมือนเดิม


โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ค่อนข้างปล่อยลูกเป็นอิสระ (ตามใจ) ก็จะไม่คิดว่าการทำความสะอาดห้องรกรุงรังของลูกจะเป็นเรื่องที่หนักหนาเกินแรงจึงไม่ได้พาไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการประเมินอาการ


โรคสะสมของเกิดขึ้นได้อย่างไร?


ตำราจิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี ระบุว่า โรคสะสมของมีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยพบว่า 50% ของผู้ป่วยมีญาติที่มีการสะสมของเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบลักษณะตัดสินใจไม่ได้ (indecisiveness) ในผู้ป่วยและญาติสายตรงของผู้ป่วย


หากจะให้ขยายความด้วยการยกตัวอย่างก็คือ ผู้ป่วยมักจะเกิดความลังเลว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้งดี รวมถึงไม่รู้ว่าจะจัดของที่มีอยู่อย่างเยอะแยะมากมายนี้ให้เป็นหมวดหมู่ยังไง ผลคือผู้ป่วยก็วางทิ้งเอาไว้แบบนั้น เมื่อของมีจำนวนเยอะขึ้นก็รกเต็มบ้านไปหมด ตามมาด้วยความสกปรกเพราะของบางชิ้น เช่น ขวดน้ำอัดลม ผู้ป่วยก็วางเอาไว้โดยไม่ได้ทำความสะอาดมัน


นอกจากสาเหตุด้านพันธุกรรมแล้ว จากรายการ “ปลดล็อกกับหมอประเวช” ก็ได้กล่าวถึงอีกสาเหตุหนึ่งของโรคสะสมของว่าอาจเป็นผลมาจากปมค้างใจ ผู้ป่วยหลายคนมีประวัติที่สะท้อนถึงการมีบาดแผลทางใจ (trauma) และบางกรณีก็มีอาการของโรคซึมเศร้ามาก่อนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการเป็นโรคสะสมของ


ผู้เขียนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับบุคคลหนึ่งที่เคยมีพฤติกรรมสะสมของ (ขยะ) เอาไว้เป็นเวลาแรมเดือนและพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่สภาพจิตใจของเขาย่ำแย่เป็นอย่างมาก โดยเขากล่าวว่าการมีขยะอยู่รายรอบทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว และหากใครเคยรับชมซีรีส์เกาหลีเรื่อง My Liberation Notes ก็จะบางฉากที่เห็นว่าพระเอกมีการสะสมขวดเหล้าไว้ในห้องนอนของตนเองในช่วงที่มีสภาพจิตใจแย่เช่นกัน


การรักษา


จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่าการรักษาโรคสะสมของมีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด หรืออย่างน้อยก็ต้องพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยยา ดังนั้น หากพบว่าคนใกล้ชิดของคุณมีพฤติกรรมเข้าข่ายโรคสะสมของก็ควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

อ้างอิง:

[1] จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4

[2] ปลดล็อกกับหมอประเวช https://www.youtube.com/watch?v=6vdb_kpcG2U


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยา

Σχόλια


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page